‘เจ้าสัวธนินท์’ ส่งสัญญาณ ‘นโยบายรัฐ’ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ 2566 จะดีขึ้นมากหรือน้อย ฝากไว้ในมือ ‘ผู้นำ’

เวทีการประชุมสัมมนา Forum for World Education 2022 ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ

นอกจากจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ยังเป็นครั้งแรกในรอบปี ที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในวัย 83 ให้สัมภาษณ์เปิดใจ ภายหลังขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์การสร้างผู้นำเครือซีพีและปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้ทันโลกยุค 5.0 ที่กลั่นมาจากประสบการณ์

เมื่อมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของเมืองไทย เปิดใจย่อมไม่ธรรมดาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!

 

“เจ้าสัวธนินท์” ผู้ผ่านมาทุกวิกฤต ส่งสัญญาณเศรษฐกิจปี 2566 ต้องดีกว่าปี 2565 แน่นอน แต่จะดีมาก ดีน้อย อยู่ที่การคว้าโอกาสและนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดเก่า รัฐบาลชุดใหม่ เพราะโอกาสแบบนี้อาจจะพันปีเจอครั้งหนึ่ง

“ถามผมปีหน้าดีกว่าปีนี้แน่นอน เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ติดง่ายก็หายง่าย ผมชอบมองในแง่ดี ผมเคยพูดถ้าโควิดหยุดเมื่อไร ทุกอย่างจะฟื้น แต่ไม่ใช่ มันนานเกินไป ปีหนึ่งน่าจะจบ กลายเป็น 2 ปีกว่า ยังเจอการเมืองที่คาดไม่ถึง เจอโลกร้อน น้ำท่วม ปัญหาร้อน ปัญหาหนาว สงครามรบกัน เลยมาทับถม แต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั่วโลกกลับมาสนใจอาเซียนและประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โอกาสมาแล้ว อยู่ที่รัฐบาลไทยจะฉวยโอกาสอย่างไร ออกเงื่อนไขต่างๆ เพื่อดึงดูดต่างประเทศเข้ามาลงทุน” เจ้าสัวซีพีแนะ

โดยเป็นมุมคิด มองต่างจาก “กูรูเศรษฐกิจ” หลายสำนักต่างประเมินเศรษฐกิจปีหน้า จะเป็นปี “เผาจริง” จากสารพัดปัจจัยรุมเร้ายังลากยาวข้ามปีจากปีนี้

“ผมคิดว่าเศรษฐกิจปีหน้าไม่ใช่เผาจริง เผาจริงคือปีนี้ เพราะเราเริ่มเปิดประเทศ แต่จะดีแค่ไหน ดีมาก ดีน้อยอยู่ที่นโยบายรัฐบาลเอื้อให้ทั่วโลกมาลงทุน ยกตัวอย่างถ้าวันนี้ผมเป็นรัฐบาล ผมจะกระตือรือร้นไปชักชวนทั้งยุโรป คนรัสเซีย ซึ่งคนรัสเซียก็อยากจะออกจากประเทศ เพราะกำลังรบกัน คนยุโรป ก็หนีหนาว เสียเงินมาเที่ยวเมืองไทย อย่างดูไบที่เขายังนิดเดียว พอรัสเซียกับยูเครนรบกัน ดูไบไปเชิญคนรัสเซียมาซื้อบ้าน มาอยู่ถาวรแต่เราก็ปล่อยโอกาสนี้ผ่านไป พอเจอคนโจมตีว่าขายชาติ ขายที่ดิน”

ประธานอาวุโสเครือซีพีเสนอแนะว่า หากมีนโยบายให้ต่างชาติที่มาลงทุน ซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ปักหลักอยู่ที่ประเทศไทย จะดีกว่าการท่องเที่ยวที่มาแล้วก็กลับ เพราะเขามาลงทุน สร้างประโยชน์ สร้างงาน สร้างเงิน ไม่ได้เป็นการขายชาติ เพราะไม่สามารถยกที่ 1 ไร่ หรือนำบ้านกลับประเทศเขาได้ เพื่อที่รัฐบาลจะได้เงินเหล่านี้ไปพัฒนาธุรกิจอีกมาก

“เพื่อให้ความรอบคอบ ถ้าเขามาซื้อ เราไม่จำเป็นบังคับให้เขาอยู่ตลอดไป ที่ผมสัมผัส เขาชอบอยู่เมืองไทย อยู่แล้ว 1-2 ปีก็ไม่อยากกลับประเทศเขา เพราะคนไทยอัธยาศัยดี ต้อนรับต่างชาติ ไม่กีดขวาง แต่กฎหมายก็อย่าเขียนจนไม่อยากให้คนมาซื้อบ้าน ซื้อที่ และเราอาจจะจำกัดที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีก่อน ยังมีที่เหลืออีกมาก ซื้อไม่หมดหรอก ผมคิดว่าโอกาสอยู่ที่นโยบายรัฐบาล กล้าทำอะไรที่ถูกต้องหรือไม่กล้าทำ” เจ้าสัวธนินท์ย้ำและสะท้อนภาพว่า

เมื่อทั่วโลกบอกว่าสตาร์ตอัพชอบอยู่เมืองไทย ถ้าเราได้ข่าวแบบนี้แล้ว ทำไมเราไม่เอื้อให้กฎหมายเอื้อคนสตาร์ตอัพมาทำงานในเมืองไทย ให้เข้ามาง่าย สะดวก เราบอกว่าขาดคนเก่ง คนเก่งทั่วโลกจะมา 5 ล้านคน มาทำงานในเมืองไทย มาสร้างงาน สัก 1 คน ก็ 5 ล้านคนที่เก่งๆ เขาอาจจะได้เงินจากอเมริกา ยุโรป แต่มาใช้ชีวิตในประเทศไทย ดีกว่าท่องเที่ยวอีก มาคนเดียว มาใช้จ่าย สร้างงาน สร้างกำไร สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย คนหนึ่งผมคิดแล้วมากกว่าเราเอาท่องเที่ยวมา 10 คน ทำไมเราไม่คิดบวก เขาไม่มาแย่งงานเราหรอก งานแบบนี้คนไทยไม่เป็น เมื่อเราขาดคน และเข้าสู่สังคมสูงวัย สร้างคนไม่ทัน ต้องดึงคนที่เขาสร้างมาให้เรียบร้อยแล้วมาใช้ชีวิตในเมืองไทย มาสร้างงาน สร้างกำไรให้กับคนไทย

อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว “เจ้าสัวธนินท์” มองว่า อย่าคิดเอาเอง อย่างการดึงสตาร์ตอัพเข้ามา ไม่ต้องไปคิดเอง ไปรีเสิร์ช ดูว่าสตาร์ตอัพชอบไปที่ไหน ทำไมชอบไป ประเทศนั้นมีกฎเกณฑ์อะไร ก๊อบปี้มาและเสริมให้ดีกว่า เพราะเขาอยากจะมาอยู่เมืองไทยอยู่แล้ว หรือไปถามว่าย้ายมาทำงานเมืองไทย มีเงื่อนไขยังไง อย่าคิดเอาเอง ถามคนที่อยากจะมา ไปเรียนรู้ ปัดฝุ่น ต่อยอดให้เงื่อนไขที่ดีกว่า ทำไมเขาจะไม่มาเมืองไทย

ในท่ามกลางวงล้อมความขัดแย้งและบริบทของการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ประธานอาวุโสเครือซีพี มองว่าประเทศไทยต้องบาลานซ์ ต้องคบทุกคนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด ไม่มีสิทธิจะไปเข้าข้างใคร คบใครแล้วได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจก็ต้องคบคนนั้น อเมริกาก็ต้องคบ จีนก็ต้องคบ อย่าไปเกี่ยวกับการเมือง ดูเฉพาะเศรษฐกิจ ถ้าเกี่ยวกับการเมือง ทุกประเทศก็ไม่ค่อยพอใจ ผมรู้ว่าเมืองไทยเราเก่ง ต้องบาลานซ์กัน

“ยังไงอเมริกายังเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลก แต่ตลาดใหญ่อยู่ที่จีน เทคโนโลยีที่เยี่ยมที่สุดในโลกอยู่อเมริกา การเงินก็อยู่อเมริกา จะทิ้งอเมริกาก็ไม่ได้ เพราะ ประเทศไทยเล็กนิดเดียว เป็นเด็กน้อยๆ คนหนึ่ง บางทีเลือกไม่ได้ก็ต้องยอม เรื่องนี้เมืองไทยเก่ง เก่งกว่าผมแน่นอน ผมมองภาพธุรกิจอย่างเดียว แต่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ผมเชื่อว่าเราจะไปรอด” เจ้าสัวธนินท์คาดหวัง

อีกความหวังของ “เจ้าสัวธนินท์” อยากจะเห็น นั่นก็คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 ก.ม. ที่กลุ่มซีพีได้สัมปทาน 50 ปี ก่อสร้างและบริหารโครงการด้วยวงเงิน 224,544 ล้านบาท

โดย “เจ้าสัวธนินท์” กล่าวย้ำว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่รถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว ต้องเชื่อมไปถึงประเทศลาว เขมร เวียดนาม จีน และเราจะเป็นจุดศูนย์กลางที่แท้จริง เพราะมีท่าเรือน้ำลึก 2 ท่า สนามบิน 3 สนามบิน และในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก มีอุตสาหกรรม รายได้จีดีพีร้อยละ 70 ของประเทศ

“แต่ทำแค่ตรงนี้ไม่พอ ต้องเชื่อมไปถึงประเทศลาวกับจีนที่สร้างถึงลาว เพราะเมืองคุนหมิง สิบสองปันนา มีทั้งคนจีน คนทั่วโลกมาเที่ยว 700 ล้านคน ถ้าเราเอารถไฟมาเที่ยวเมืองไทยสัก 20-30 ล้านคน เมืองไทยก็ไม่มีที่ให้เที่ยว มันมีความหมายมาก แต่อย่ามองสั้นๆ 220 ก.ม. สิ่งสำคัญ ต้องไปเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน เอาสินค้าจากท่าเรือไปขายให้กับลาว จีน ทะลุไปถึงยุโรป”

คือคำตอบล่าสุดเจ้าสัวซีพี

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ประเทศจะคว้าโอกาสต่างๆ ไว้ได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจ การค้า “เจ้าสัวธนินท์” เปิดมุมมองว่า ผู้นำต้องกล้า อะไรที่ถูกแล้ว ต้องกล้าตัดสินใจ กล้าทำ เพราะเราทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ถ้ามั่นใจว่าไม่ใช่เพื่อส่วนตัว ทำเพื่อประชาชน ก็ไม่เป็นไรถ้า 10 เรื่อง ผิด 2 เรื่อง ถูก 8 เรื่องก็พอแล้ว เพราะเราไม่ใช่เทวดา

วันหนึ่งคนก็ต้องรู้ แต่ผู้นำบางคนกลัวถูกโจมตี เสียชื่อ ถ้าเราไม่ได้มีประโยชน์ส่วนตัว เพื่อส่วนรวมต้องกล้าทำ นั่นแหละผู้นำที่ผมต้องการ

เป็นการส่งสัญญาณแรงๆ ส่งท้ายปี 2565 กำลังนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2566 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย บนบริบทใหม่ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองสนามใหญ่ที่อาจจะไม่เหมือนเดิม