คนไทย “หลายล้าน” ใจจดจ่อ ชม “นิทรรศการ-พระเมรุมาศ” รอร่วมรัฐบาลถวาย “มหาราช” ในหลวง ร.9

ในประเทศ

สิ่งที่คนไทยใจจดจ่อรอคอยหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสร็จสิ้นลง

นั่นคือ การจะได้ชมพระเมรุมาศ และนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง ระหว่าง 2-30 พฤศจิกายน 2560

แม้ว่าคนไทยจำนวนมากมหาศาลจะได้มีโอกาสร่วมพระราชพิธีสำคัญดังกล่าวมาแล้ว

โดยตามคำเปิดเผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ระบุว่ามีประชาชนเข้าร่วมทั่วประเทศร่วม 21 ล้านคน

แต่กระนั้น ทุกคนก็ยังอยากจะได้มีโอกาสชมพระเมรุมาศ ที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ ด้วยสายตาตนเองอย่างใกล้ชิดอีกสักครั้ง

นี่เองจึงนำไปสู่การคาดหมายว่าประชาชนจะเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 อีกหลายล้านคนแน่นอน

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน สำนักพระราชวัง แจ้งว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยพระองค์เอง

โดยนิทรรศการดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายบริหารจัดการนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธาน

นิทรรศการ นอกจากจะมุ่งน้อมให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว

ยังมุ่งให้ประชาชนได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทย ที่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านพระเมรุมาศ และอาคารประกอบที่จัดสร้างขึ้นอย่างสมพระเกียรติ

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

1. นิทรรศการ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” บริเวณพระที่นั่งทรงธรรม มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แบ่งเป็น 5 ตอน ได้แก่ 1.เมื่อเสด็จอวตาร 2.รัชกาลที่ร่มเย็น 3.เพ็ญพระราชธรรม 4.นำพระราชไมตรี 5.พระจักรีนิวัตฟ้า รวมทั้งสามารถชมจิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 ด้าน

2. นิทรรศการการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จัดแสดงภายในศาลาลูกขุน เนื้อหาแสดงถึงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรม และจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ด และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ

และ 3. นิทรรศการสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา จัดแสดงบริเวณอาคารทับเกษตร โดยจำลองพระเมรุมาศ ประติมากรรมประดับพระเมรุ อาทิ เทวดา สัตว์หิมพานต์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสได้ โดยมีอาสาสมัครนำชม และจัดทำซีดีเสียงบรรยายนิทรรศการสำหรับผู้พิการทางสายตา ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน มีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ

การนำชมนิทรรศการ จะให้จิตอาสาที่สมัครใจทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ในส่วนต่างๆ

ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับผิดชอบทำแผ่นพับแจกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี เยอรมัน สเปน และญี่ปุ่น

นิทรรศการจะเปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน เวลา 07.00-22.00 น.

โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมรอบละ 3,000-5,000 คน ใช้เวลารอบละ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้เข้าชมประมาณ 1 แสนคน ซึ่งหากถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ยอดผู้ชมน่าจะถึง 3 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเตรียมของแจกสำหรับประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการ ที่จะได้รับแจกแผ่นพับพระเมรุมาศที่จัดพิมพ์ไว้ 3 ล้านแผ่น และโปสการ์ดที่ระลึกภาพพระเมรุมาศ 9 แบบ 3 ล้านแผ่น

นอกจากนี้ ประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการยังมีโอกาสได้ชมการแสดงมหรสพ จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

การแสดงมหรสพจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เริ่มจากการบรรเลงวงประโคมรอบพระเมรุมาศ ส่วนเวทีมหรสพทิศเหนือ 3 เวที จะมีการแสดงที่หลากหลาย ทั้งการแสดงในแต่ละภาค การแสดงละครในเรื่อง “อิเหนา” ละครนอก “พระมหาชนก” การแสดงเรื่อง “พระสุธน มโนราห์” และการแสดงลิเกพื้นบ้าน

ที่สำคัญ จะมีการแสดง “โขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม” หรือ “โขนหน้าพระเมรุมาศ” ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 19.00-19.30 น.

เริ่มแสดงครั้งแรกวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน ในตอน “พระนารายณ์ปราบนนทุก” วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน ตอน “อัญเชิญพระนารายณ์อวตาร” วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน ตอน “ศึกทูต ขร ตรีเศียร” วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน ตอน “พระรามได้พล” วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน ตอน “นางลอย” วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน ตอน “ศึกกุมภกรรณ” วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน ตอน “ทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร” และวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน ตอน “เฉลิมพระเกียรติรามราชจักรี”

สำหรับขั้นตอนการเข้าชมนิทรรศการ ประชาชนจะต้องผ่านจุดคัดกรอง 5 จุด ประกอบด้วย 1.บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ 2.บริเวณท่าช้าง 3.บริเวณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.) 4.บริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ 5.บริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม

โดยแต่งกายสุภาพ

ส่วนเส้นทางการนำชมนิทรรศการนั้น จะเริ่มจากพื้นที่ถนนสายกลางท้องสนามหลวง ก่อนเข้าชมด้านใน โดยกำหนดเวลา 15 นาที เพื่อให้ถ่ายภาพมุมกว้างพระเมรุมาศ พลับพลายก และโครงการพระราชดำริ นาข้าว ฝาย กังหันน้ำชัยพัฒนา ฯลฯ

จากนั้นนำสู่ระบบเข้าชม มีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องตอบคำถาม โดยให้เวลาชม 45 นาที

ก่อนหมดเวลาเข้าชมจะมีสัญญาณแจ้งเตือนผู้เข้าชมแต่ละชุด โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำทางออกด้านหลังพระเมรุมาศ ทิศใต้ บริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมสูงสุดต่อรอบรับได้ 5,500 คน

อนึ่ง นอกจากนิทรรศการดังกล่าวแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมโรงราชรถและพระยานมาศ ซึ่งจัดแสดงราชรถ ราชยาน และพระยานมาศด้วย

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พระราชปนัดดา (เหลน) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับพระราชพิธีครั้งนี้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความรักจากใจจริงของปวงชนชาวไทย และรวมถึงสื่อต่างประเทศบางส่วนตั้งคำถามว่านี่เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่

ซึ่ง ม.ร.ว.นริศรา ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และใช้ชีวิตทั้งในสังคมตะวันตกและในประเทศไทย ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซี ว่า

“ฉันได้เห็นถึงพลังและจิตใจที่มุ่งมั่นของผู้คนตามท้องถนน

บางคนบอกว่าฟุ่มเฟือย

แต่ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่สมพระเกียรติ

ความรักนี้มาจากใจจริง ตัวฉันเองซึ่งถูกเลี้ยงดูทั้งในอังกฤษและประเทศไทย และฉันค่อนข้างสนใจเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรืออะไรทำนองนั้น แต่ฉันก็รู้สึกเหมือนคนทั่วไป ฉันประหลาดใจมากที่เสียใจมากเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เห็นคนตามท้องถนน ฉันคิดว่าความรักที่ประชาชนมีต่อพระองค์นั้นออกมาจากใจจริง”

คำสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ข้างต้น ดูเหมือนจะขจัดความไม่เข้าใจของสื่อต่างประเทศไปได้หมด

และยังได้ตอกย้ำว่า ไฉนคนไทยจึงยังติดตามให้ความสนใจต่อพระราชพิธีครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ

แน่นอน มาจากพื้นฐานความต้องการที่จะเห็นการสืบทอดงานวัฒนธรรม งานช่างฝีมือชั้นยอดของชาติ

และที่สำคัญ ต้องการสะท้อนความรักที่ออกมาจากใจจริงของพสกนิกรที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

จึงไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด ที่ขณะนี้คนไทยเกือบทั้งหมด อยากร่วมถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” แด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

ซึ่งก็น่ายินดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การพิจารณาเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานาม “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ

โดยมีกระแสข่าวระบุว่า พระราชสมัญญาที่อยู่ในการพิจารณา คือ “สมเด็จพระภัทรมหาราช” หมายความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง”

เชื่อว่าอีกไม่นานจากนี้ คนไทยคงจะได้ร่วมถวายพระเกียรติอันยิ่งใหญ่แด่ “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง” พระองค์นี้