‘รักทะเล’ สมุนไพรและไม้ประดับ

ฤดูหนาวคนทั่วไปนึกถึงขึ้นภูหรือดอยรับลมหนาว แต่คนที่ชอบเที่ยวทะเลก็ยังชอบไปชายหาดเช่นเดิม

ใครที่นิยมเดินชมและฟังเสียงคลื่นซัดฝั่งแล้ว หากสังเกตให้ดีตามชายหาดจะพบต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีใบเขียวสด ดอกสีขาว น่ารัก มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม หรืออาจพบเห็นเป็นไม้ประดับตามโรงแรมต่างๆ ด้วย

ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “รักทะเล” ชื่อเหมาะกับสถานที่ที่เจริญงอกงามมาก

รักทะเล เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยด้วย จึงมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ หลายชื่อ เช่น โหรา (ตราด) บ่งบง (ภาคใต้) บงบ๊ง (มลายู-ภูเก็ต) รักทะเล (ชุมพร)

ชื่อสามัญในภาษาอังกฤว่า Sea Lettuce, Half Flower, Beach Cabbage, Beach Naupaka และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaevola taccada (Gaertn.) Roxb.

ลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร อาจสูงได้ถึง 7 เมตร แตกกิ่งหนาแน่น กิ่งอ่อนมีขนสีขาวคล้ายไหมเป็นกระจุกตามซอกใบ

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบเรียงเวียนชิดกันตอนปลายกิ่ง รูปใบพายแกมรูปไข่กลับ ปลายกลม โคนสอบเรียวจรดลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบ เกลี้ยงหรือมีขนกำมะหยี่

ดอกสีขาวมีแต้มสีม่วงจาง ออกเป็นช่อ จำนวน 2-3 ดอกต่อช่อ กลีบดอก 5 กลีบ เรียง แบบครึ่งวงกลม กลีบดอกจักฟันเลื่อยห่างๆ หรือจักมนช่วงปลายกลีบ

ผลเป็นผลสด สีขาวขุ่น ทรงกลม เมื่อสุกสี เหลืองอ่อน มี 1-2 เมล็ด รักทะเลเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายตั้งแต่อาฟริกาตะวันออกไปจนถึงเอเชียตอนใต้ ออสเตรเลียและหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิก

ในประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์กว้าง ตามชายทะเลทั่วไป ตามที่โล่งชายทะเล และป่าชายหาด

 

ประโยชน์ทางยาสมุนไพรในประเทศไทย กล่าวถึงว่า ใบใช้แก้ธาตุพิการ หรือนำใบไปต้มน้ำกินช่วยย่อย ใบและดอกใช้ผสมปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ

เปลือกเป็นยาช่วยให้ประจำเดือนเป็นปกติ

รากใช้เป็นยาแก้บิด

และที่น่าสนใจเหมาะกับเที่ยวทะเลที่นิยมกินอาหารซีฟู้ด ที่บางครั้งอาจแพ้อาหารทะเลก็ให้นำรากต้มกินได้ และยังใช้เป็นยาภายนอก

ใบตำพอกแก้ปวดบวมและแก้ปวดศีรษะ หรือนำใบมาปิ้งไฟพอให้ใบสลดนำมาประคบแก้ปวดบวมก็ได้

ในต่างประเทศก็มีรายงานการใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ในฮาวายมีการนำผลมากินเป็นอาหาร ในเกาะกวมนำใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหารสุขภาพ

สำหรับประโยชน์เกี่ยวกับยาสมุนไพร ในหลายประเทศที่รู้จักต้นรักทะเลมักมีภูมิปัญญานำเอามาใช้เกี่ยวกับโรคผิวหนัง ชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียใช้น้ำคั้นจากใบหรือผลสุกของรักทะเลใส่ตาเพื่อรักษาการมองเห็นไม่ชัดหรือในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ตา

ในมาเลเซียใช้ใบที่มีรสขมกินเพื่อรักษาอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารและใช้ใบนำมาตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ ซึ่งคล้ายๆ กับที่คนไทยใช้

เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียใช้รากเป็นยาถอนพิษที่เกิดจากพิษของการกินปลาหรือปู

ในฟิลิปปินส์ ใช้รากเป็นยาต้มดื่มรักษาโรคเหน็บชาและอาการข้างเคียงที่เกิดจากซิฟิลิส รวมทั้งโรคบิดด้วย

ในปาปัวนิวกินีใช้ใบอ่อนเคี้ยวและต้มดื่มเป็นชาแก้อาการไอ ในเกาะฮันโนเวอร์ใหม่ (ปาปัวนิวกินี) ใช้น้ำคั้นจากใบรักษาแผล และใช้ใบอ่อนเคี้ยวบรรเทาอาการไอ

คนพื้นเมืองในเกาะการ์การ์ (Karkar Island) ของปาปัวนิวกินีใช้ใบอ่อนรักษาวัณโรคและอาการหอบหืด และใช้วิธีลอกเอาผิวใบออกจากนั้นค่อยนำใบนำมาเคี้ยวรักษาไข้มาลาเรีย

หลายเกาะในนิวกินีใช้ใบรักษาอาการไอและไข้หวัด

ในนิวไอร์แลนด์และมิลน์เบย์ซึ่งอยู่ละแวกปาปัวนิวกินี ใช้สารสกัดจากใบใช้เป็นยาคุมกำเนิดในผู้หญิง

ในเกาะมานัส (Manus Island) ใช้น้ำคั้นจากใบรักษาอาการปวดในหู ชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลียตอนเหนือใช้น้ำคั้นจากลำต้นอ่อนและผลสุกใส่แผลที่ถูกสัตว์กัด ต่อย ในซามัว ใช้ใบแก้โรคผิวหนัง ลดอาการบวม รักษาโรคเท้าช้าง อาการบวมของอัณฑะ อาการบวมน้ำ หนาวสั่นและอาหารไม่ย่อย เปลือกใช้รักษาฝี แก้ปวดประจำเดือนและกระดูกหัก ลำต้นใช้สำหรับอาการผิดปกติในช่องท้อง

ในฮาวายใช้เปลือกรากผสมกับเกลือทาบริเวณที่เป็นแผลทำให้ลดอาการปวดบวมได้

 

จากงานวิจัยพบว่าในใบมีสารแซปโปนิน (saponins) ที่สามารถต้านจุลินทรีย์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้เล็ก หรือช่วยการดูดซึมกรดน้ำดี และมีสารที่เรียกว่า คูมาริน (coumarins) ซึ่งสารกลุ่มนี้เป็นสารที่ให้กลิ่นหอมจึงมักนํามาใช้แต่งกลิ่น

นอกจากนี้ ยังพบว่าสารสกัดจากรักทะเล สามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดเริมชนิด simplex virus 1 and 2 และเริมที่ก่อให้เกิดปากเปื่อยเท้าเปื่อยได้

ในมาเลเซียใช้ไม้จากโคนลำต้นที่แก่จัดเป็นตะปู (ไม้) ในการสร้างเรือ ในกวมนำเนื้อไม้มาทำให้เป็นแผ่นบางๆ ใช้ทำดอกไม้หรืองานประดิษฐ์ต่างๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิกนิยมใช้ใบรักทะเลมาต้มกับหญ้าชนิดหนึ่งทำเป็นสีย้อมผ้าให้สีน้ำตาลที่คงทน เนื้อไม้ที่หยาบนำมาใช้ทำหลังคา พื้นระเบียง ใบพาย ขอบสวิง เครื่องมือใช้จับปลาไหล

ในฟลอริดาตอนใต้มีการปลูกรักทะเลเป็นแนวป้องกันและเพื่อรักษาสภาพของเนินทราย

และที่สำคัญมากๆ ของรักทะเล คือ ต้นไม้ที่รักษาทะเล ใช้เป็นต้นไม้ป้องกันการกัดเซาะของดิน ป้องกันลมและการกระจายตัวของความเค็มตามแนวชายฝั่ง

รักทะเล สวยงามมีประโยชน์ ชวนกันหันมาเข้าใจและรัก “รักทะเล” •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org