แกะรอย ‘บิ๊กตู่’ ดาวฤกษ์ จากผลสำรวจนิด้าโพล คะแนนอยู่เหนือพรรค จับตาปลดล็อก พปชร.

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายประเมินหลังเสร็จสิ้นประชุมเอเปค การเมืองไทยจะกลับมาเคลื่อนไหวร้อนแรง ไม่ว่าประเด็นเรื่องการยุบสภา การย้ายพรรค สลับขั้วเปลี่ยนข้างของนักการเมืองและ ส.ส. เตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566

และที่คนในสังคมให้ความสนใจมากสุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจอย่างไรกับอนาคตการเมือง อยู่ต่อกับพรรคพลังประชารัฐหรือย้ายไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ตามที่มีกระแสข่าวจริงจังต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าผลลัพธ์ออกทางใด ย่อมมีผลต่อโฉมหน้าการเมืองไทยในภาพรวม โดยเฉพาะต่อพรรคพลังประชารัฐของ “พี่ใหญ่ 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่ออนาคตทางการเมืองค่อนข้างชัดว่าจะแยกตัวออกจากพรรค “นั่งร้านเก่า” ไปยังพรรค “นั่งร้านใหม่” น่าจะมาจากสาเหตุปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

ไม่ว่าเรื่องความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มก๊วน ประเด็นเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์พี่น้อง 2 ป. “ประวิตร-ประยุทธ์” จนเสียรูป ไม่แน่นแฟ้นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความระแวง

อีกอย่างคือ 5+3 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มาถึงจุดที่คิดว่าตัวเองคือ “ดาวฤกษ์” ดวงหนึ่งในจักรวาลการเมืองไทย มีแสงสว่างในตัว ไม่ต้องอยู่ใต้ร่มเงาพรรคการเมืองใดพรรรคการเมืองหนึ่งอีกต่อไป

ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริง แต่อะไรคือสาเหตุทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ คิดเช่นนั้น เป็นไปได้ว่ามาจากการชี้นำจากคนแวดล้อมรอบข้าง และอีกทางหนึ่ง เป็นผลจากการสำรวจโพลของบางสำนัก

ในการสำรวจหัวข้อ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” ของนิด้าโพล จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 6 ภาค อีสาน เหนือ ใต้ กลาง กทม. และภาคตะวันออก พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีชื่อติด 1 ใน 3 “คนที่ใช่” เกือบทุกพื้นที่

โดยเฉพาะภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนนิยมอันดับ 1 เหนือกว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล แม้ว่าในภาคอื่นๆ จะตกเป็นรองอยู่มากบ้างน้อยบ้างก็ตาม

แต่ข้อสังเกตคือไม่ว่าภูมิภาคไหน อยู่ในอันดับใด พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมเหนือพรรคพลังประชารัฐทุกพื้นที่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือไม่มีพื้นที่ใดที่คะแนนพรรคพลังประชารัฐ เหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์

ภาค กทม. “พิธา” เป็นแชมป์ พล.อ.ประยุทธ์อยู่อันดับ 2 ร้อยละ 15.20 ปรากฏว่าคะแนนพลังประชารัฐ แบบเขต อยู่อันดับ 3 ร้อยละ 9.50 แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 4 ร้อยละ 9.15

ภาคอีสาน “อุ๊งอิ๊” แพทองธาร อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ หลุดไปอยู่อันดับ 4 คะแนนสนับสนุนร้อยละ 9.85 ก็ยังเหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้อันดับ 5 แบบเขต ร้อยละ 5.30 และแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 5.25

เช่นเดียวกับภาคเหนือ พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 4 ร้อยละ 12.50 มากกว่าคะแนนพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้แบบเขต อันดับ 4 ร้อยละ 8.05 และแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 7.20

ภาคกลาง พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 4 คะแนนที่ร้อยละ 13.54 มากกว่าคะแนนพรรคพลังประชารัฐที่ได้แบบเขต อันดับ 4 ร้อยละ 10.54 แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 4 ร้อยละ 10.49

ภาคใต้ยิ่งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนสนับสนุนมากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 23.94 ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แบบเขต อยู่อันดับ 3 ที่ร้อยละ 12.09 และบัญชีรายชื่ออันดับ 5 ร้อยละ 11.89

ล่าสุด ภาคตะวันออก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมาอันดับ 3 ร้อยละ 13.64 ส่วนพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 แบบเขต ร้อยละ 10.14 และแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 10.00

คะแนนส่วนต่าง “คนที่ใช่” กับ “พรรคที่ชอบ” จากการสำรวจโพล สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีตัวเลขคะแนนนิยมส่วนตัว สูงกว่าคะแนนนิยมพรรคพลังประชารัฐในขอบเขตทุกกลุ่มจังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

วิเคราะห์กันว่าผลสำรวจนิด้าโพล อาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมาถึง “จุดแยก” ทางการเมือง จะ “ไปต่อ” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ “พอแค่นี้” กับพรรคพลังประชารัฐ

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เชื่อว่าคะแนน “คนที่ใช่” ที่โดยรวมยังเป็นรอง “อุ๊งอิ๊ง-พิธา” แต่ถือว่ายังอยู่ในกระแส “ตัวตึง” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งครั้งหน้า คะแนนส่วนนี้จะเป็นฐานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าอยู่กับพรรคเดิม หรือย้ายไปอยู่พรรคใหม่

แน่นอนว่าการ “บอกลา” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมทำให้พรรคพลังประชารัฐอ่อนแอ เสียขวัญ ต่อให้ได้พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับคืนมา ก็ไม่เห็นแนวโน้มจะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนปี 2562 โอกาสเป็น “ดาวร่วง” มีสูง

อ่อนแอ เนื่องจากไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีแกนนำ ส.ส.จำนวนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ ย้ายตามไปด้วย เช่น กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ กลุ่ม ส.ส.กทม.บางส่วน กลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นต้น

และอีกบางส่วนที่คัดค้านการกลับมาของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งประเด็นนี้น่าจะสร้างความลำบากใจให้ พล.อ.ประวิตร ไม่น้อย ที่ต้องบริหารจัดการให้ดี

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความระส่ำระสายของพลังประชารัฐ มีประเด็นน่าสนใจตรงที่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายไปเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นการปลดล็อกดีลระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทย หรือไม่

จากที่มีกระแสข่าวลอยมาลอยไปในช่วงระยะหลัง พรรคเพื่อไทยพร้อมเป็นพันธมิตรกับพรรคพลังประชารัฐ ในเวอร์ชั่นที่ไม่มี “ประยุทธ์” อยู่ด้วย

แต่ทุกอย่างจะแน่นอนต้องรอหลังเลือกตั้ง

 

 

เหมือน โทนี่ วู้ดซัม กล่าวผ่านคลับเฮาส์

“มีหลายคนพูดอยู่นั่นว่าเพื่อไทยจะจับมือคนนั้นคนนี้ อันนี้ผมมองในฐานะคนนอกมองการเมือง ไม่เชื่อว่าเพื่อไทยจะคิดจับมือกับใครในวันนี้ เพื่อไทยเขาคงคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวเองได้ 280 ก่อน ถ้าถึง 280 แล้วเพื่อไทยเขาคงค่อยคิดว่าจะเอาใครมาเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล ซึ่งมีเยอะแยะ โดยเฉพาะพรรคที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ เสรีรวมไทย ก้าวไกล”

หากเอาเป้าหมาย 280 ของเพื่อไทยเป็นตัวตั้ง ความท้าทายจึงอยู่กับทุกพรรคการเมืองในสนาม โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ หากต้องการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับสู่อำนาจ

แม้จะมี ส.ว. 250 เสียงในมือพร้อมกดปุ่ม แต่ส่วนหนึ่งก็อยู่ในสายของ “ป.ป้อม” หาใช่อยู่ในสายของ “ป.ประยุทธ์” คนเดียวไม่

ตรงนี้จึงเป็นอีกข้อต่อรองของพลังประชารัฐ ไม่รวมกับตัวเลข ส.ส.ที่จะได้มาหลังเลือกตั้ง จะ 20 หรือ 30 ที่นั่งก็ยังใช้เป็นหมากต่อรองได้อยู่ดี ไม่ว่ากับ “พรรคสืบทอดอำนาจ ภาค 2” หรือกับ พรรคใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย

พรรคพลังประชารัฐที่ไม่มี “ประยุทธ์” จึงอยู่ในสถานการณ์ “เปิดกว้าง” อย่างยิ่ง

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพูดไว้เกี่ยวกับอนาคตการเมืองของตนเอง ทุกอย่างจะชัดเจนหลังจบเอเปค ที่กินช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 19 พฤศจิกายนปีนี้ ไปจนถึงต้นปีหน้าก่อนสภาครบวาระ 23 มีนาคม 2566

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเคยพูดกับ “พรรคเล็ก” ร่วมรัฐบาล ว่า หลังเอเปคเป็นช่วงเวลาเหมาะสุดที่จะยุบสภา “พอจบเอเปคแล้ว รัฐบาลก็ว่างแล้ว ถ้าจะยุบก็ยุบได้ตอนนั้น”

อย่างไรก็ตาม การยุบสภาเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี คำพูดของ พล.อ.ประวิตร พูดไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นความสัมพันธ์ 2 ป.ยังดี ไม่มีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จะตีจากไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ

สัมพันธ์พี่น้องอาจระหองระแหงอยู่บ้าง ตั้งแต่เกิดกรณี “กบฏพลังประชารัฐ” โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 แต่ 2 ป.ก็พยายามประคับประคองกระทั่งเกิดคดีวาระนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประวิตร รักษาการนายกฯ นาน 38 วัน

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ สัมพันธ์พี่น้อง 2 ป.ก็ไม่เหมือนเดิมตั้งแต่บัดนั้น และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ คิดตีจากพี่ใหญ่ ไปอยู่กับนั่งร้านใหม่ รวมไทยสร้างชาติ

ฉะนั้นที่เคยวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า จบเอเปคไม่นานจะยุบสภา อาจไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว

ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่ความชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะ “เปิดตัว” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อไหร่ ภายในปีนี้หรือเลื่อนไปต้นปีหน้า

จากนั้นต้องคิดคำนวณว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการเตรียมความพร้อมทำศึกเลือกตั้ง เพื่อนำ พล.อ.ประยุทธ์ กลับสู่อำนาจ

ถ้ายังไม่พร้อม นายกฯ ก็ยังไม่ยุบสภา บางคนคาดการณ์ไว้ภายใต้เงื่อนไขนี้ อาจลากยาวไปถึงใกล้ๆ วันที่ 23 มีนาคม แล้วค่อยประกาศยุบสภา อยู่รักษาการไปอีก 60 วัน ช่วงชิงความได้เปรียบจนถึงที่สุด ในการทำสงครามครั้งสุดท้าย

และลดเวลาเหลือ 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งในการสังกัดพรรคของผู้สมัคร ในทางกลับกันหมายถึงห้วงเวลาในการตัดสินใจย้ายพรรคจะยาวนานขึ้นด้วย

การใช้เทคนิคยุบสภา ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาใช้ในจังหวะได้เปรียบสูงสุด ยุบโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องการสังกัดพรรคการเมือง เพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งให้พร้อมมากที่สุด

แต่ที่แน่ๆ การยุบสภาจะเกิดขึ้น ต่อเมื่ออนาคตการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความชัดเจนเป็นทางการแล้วเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเช่นนั้น