วันชัย สอนศิริ อ้อนเพื่อนส.ว. ยิ่งคัดค้านประวิงเวลาแก้รธน. เราจะยิ่งเสียไปกันใหญ่…


‘วันชัย’ ออกตัวแรง ขอทิ้งทวนใช้อำนาจส.ว.ชุดนี้ต่อรองแก้รธน. ตามประเด็นที่ต้องการ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้เสนอ

สำหรับในช่วงการอภิปรายแสดงความเห็น ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพื่อลดแรงกดดันและความขัดแย้งทางการเมือง แต่มีเหตุผล และรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ว่าจะทำประชามติในช่วงใด และการทำประชามติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง บางส่วนกังวลกับรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจกระทบกับประเด็นอ่อนไหว

นายมณเทียณ บญตัน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนโหวตผ่านญัตติดังกล่าวว่า ผู้เสนอญัตติดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะไม่ได้รับการพิจารณา โดยเหตุผลของการเสนอญัตติเป็นไปตามความเห็นทางการเมือง ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา โดยตนไม่ค่อยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมเพราะรัฐธรรมนูญที่เราเห็นว่าดีที่สุดหลายฉบับก็มีอันเป็นไป เพราะเป็นเงื่อนไขที่สังคมไทยร่วมกันสร้าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้กลุ่มอำนาจ หรือพลังทางสังคมเป็นผู้สูญเสีย ก็จะสวิงไปอีกทางหนึ่ง ถ้าสวิงโดยวิธีการปกติไม่ได้ ก็จะชอบสวิงโดยวิธีพิเศษ ในยามที่บ้านเมืองมีวุฒิภาวะสูง และแยกแยะกติกาสากลร่วมกันได้ปัญหานั้นจะไม่เกิด แต่ในยามใดที่มีความขัดแย้งสูงการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ประชาชนที่เห็นต่างหันมาเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าต้องให้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ต้องแก้โดยคำนึงถึงความพอดี เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ไม่เคยเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กล่าวว่า ก่อนอื่นขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับประเทศไทยนำโดยครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จัดการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นที่ชื่นชมของอารยะประเทศ ส่วนในเรื่องของทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวยังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่มีฉบับไหนดี 100 เปอร์เซนต์ แต่เพื่อลดความขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เห็นสมควรที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพราะพิจารณาแล้วผลเสียมากกว่าผลดี หากทำวันเดียวกันประชาชนอาจจะสับสนและเป็นข้ออ้างของบางพรรคใดพรรคหนึ่งที่จะใช้ในการหาเสียง ตนไม่อยากให้เป็นเรื่องการหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากหารือกันแล้วพร้อมที่จะแก้ตนมองว่ามีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง หรือทำมติหลังการเลือกตั้ง แต่ตนมองว่าน่าจะเกิดหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีและจัดการยุบสภา การเลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำมติก่อนการเลือกตั้งคิดว่าเวลาที่เหลือไม่น่าพอ และเหตุผลที่ว่าประหยัดงบประมาณตนคิดว่ามไ่น่าใช่ เพราะในการจัดทำประชามติเป็นการลงทุนในระบอบประธิปไตย จะเสียเงินเท่าไหร่ก็ถือว่าคุ้มค่า ถ้าหากว่าประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

ส่วน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายว่า ตนมีข้อกังวลในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้เสนอควรจะแจงรายละเอียดว่า ใครเป็นผู้แก้ไข แก้อย่างไร และมีขอบเขตอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ต้องคิดคำถามว่าจะถามประชาชนอย่างไร ไม่ให้เป็นการชี้นำ และเป็นไปตามกระแสเท่านั้น

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ถ้าครม.ทำตามที่รัฐสภาเสนอ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาไม่น้อย 5-6 เดือน กว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระเดือนมีนาคม 2566 แม้เราจะมีมติเห็นชอบวันนี้ ก็ไม่ทันต่อการตัดสินใจของ ครม.ชุดนี้ ต่อให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ก็คงไม่มีใครเอาเรื่องใหญ่มาตัดสินใจและดำเนินการ การที่เราคัดค้านหรือประวิงให้ล่าช้าจะเสียโอกาส และเราจะยิ่งเสียไปกันใหญ่ เพราะตอนที่แก้รัฐธรรมนูญ เราก็บอกว่าแก้ไม่ได้ต้องไปทำประชามติ พอศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ แล้วเขาเสนอให้ทำประชามติ หากเราคัดค้านจะยิ่งเสียกันไปใหญ่ และส.ว.จะกลายเป็นจำเลยทางสังคม

“ทั้งนี้ ส.ว.ชุดเราจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 เหลือเวลาปีครึ่ง แต่ถ้านับหลังเลือกตั้ง ส.ส.เดือนพฤษภาคม ปี 2566 เราจะเหลือเพียง 1 ปี ถ้าไม่ร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่มีทางแก้เสร็จทันสมัย ส.ว.ชุดนี้ อย่างไรก็ตามส.ว.ชุดนี้ ยังมีสิทธิโหวตนายกฯ ภายใน 1 ปี เมื่อเรามีสิทธิ มีโอกาสร่วมในการแก้ไข และผลักดัน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่มือของพวกเรา เราจะมีอำนาจต่อรองและมีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในที่สุดต้องถูกแก้แน่นอนเพราะ ดูจากเสียงของส.ส.ทั้งหมดแล้ว เขาตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน เพียงแต่จะแก้ในยุคส.ว.ชุดเรา หรือส.ว.ชุดหน้า หากปี 2567 หมดยุคเรา เราก็จะได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจะด้วยเหตุผลกลใด หรือการดึงเกม เราจึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไข และควรเร่งให้เกิดการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว