‘หก-หนึ่ง’ | หลังเลนส์ในดงลึก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565

พื้นผิวดินของเส้นทางที่ขนาบด้วยป่าไผ่ ยังไม่แห้งดีนัก ร่องลึกที่ปรากฏทำให้รู้ว่า ช่วงที่ผ่านมาฝนตกหนักเพียงไร ไผ่หลายกอล้มตลอดทางที่ผ่านมา ฝูงช้างที่ใช้เส้นทางก่อนหน้า ดึงต้นไผ่หลายลำล้มขวางทาง ไผ่หนามแหลมนั่นไม่เป็นมิตรกับยางรถเท่าไหร่ ระยะทางไม่ถึง 5 กิโลเมตร เราใช้เวลาไปแล้วกว่าสองชั่วโมง

ไม่แปลกหรอกสำหรับการเดินทางในป่า

เส้นทางโค้งลงหุบ เบื้องหน้ามีลำห้วยเล็กๆ สะพานทำด้วยต้นไม้สองต้นวาง ระยะพอดีล้อ จากห้วยทางไต่ขึ้นสูง ชันราวกับจะไม่มีที่สิ้นสุด แสงไฟหน้ารถสาดส่อง ด้านซ้ายเป็นแนวผาชัน ด้านขวาแม้จะเป็นแนวไม้หนาทึบ แต่ผมรู้ว่า ต่ำลงไปลิบๆ นั่นคือลำห้วยสายหลัก

รถไต่ถึงจุดสูงสุด แสงจันทร์คืนขึ้น 13 ค่ำ ส่องให้เห็นลำห้วยคดโค้ง

ผมหยุดรถ มองลำห้วยที่เห็นรางๆ จุดนี้เมื่อหลายปีก่อน เป็นเวลาที่ “ข่าวร้าย” เดินทางมาถึง ผมตอบรับเสียงเรียกจากวิทยุสื่อสาร ที่แจ้งจากสถานีแม่ข่าย ว่าพ่อจากไปแล้ว

ผมตอบข้อความที่ได้รับว่า “หก-หนึ่ง”

 

หก-หนึ่ง หรือ วอ.61 คือรหัสซึ่งถูกใช้บ่อยในการติดต่อรับส่งข้อความด้วยวิทยุสื่อสาร วอ.61 หมายถึง ขอบคุณ

เป็นรหัสสากลที่ใช้กันทั่วๆ ไป ถึงแม้ว่า วันนี้การทำงานในป่าจะไม่ได้อยู่หลังเขา หลายจุดมีสัญญาณโทรศัพท์ ในหน่วยพิทักษ์ป่า สำนักงานเขต มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือการติดต่อสื่อสารบนโลกนี้จะไร้พรมแดน คนติดต่อพูดคุย เห็นหน้าตากันได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

แต่ในป่า ระบบสื่อสารแบบเดิมๆ ยังจำเป็น

โทรศัพท์นั่นเอาไว้ใช้ตอนปีนขึ้นสันเขาสูง เพื่อติดต่อ ส่งความคิดถึงมายังคนในเมือง

ขณะทำงาน วิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์สำคัญ พอๆ กับเครื่องมือบอกตำแหน่งบนผืนโลกอย่างจีพีเอส

 

วอสอง-วอแปด อันหมายถึงรับทราบ หรือที่จะใช้สั้นๆ ว่า สอง-แปด เป็นอีกประโยคที่ใช้บ่อย

ระบบการสื่อสารในป่า พัฒนาและปรับปรุงมาโดยตลอดจึงค่อนข้างครอบคลุมทุกพื้นที่

สถานีแม่ข่ายที่ตั้งอยู่บนสันเขาสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนนั้นนอกจากมีเสาวิทยุสูง มีห้องก่อด้วยปูนกว้างราว 5 ตารางเมตร ผนังทึบสี่ด้าน เป็นห้องที่ป้องกันความหนาวเย็น ช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสได้ดี

ห้องนี้เป็นที่อยู่ของพนักงานวิทยุ ประจำครั้งละหนึ่งคน พวกเขาอยู่บนนั้นคนละนานนับเดือน

เราได้ยินเสียงเขาตลอด ถ่ายทอดข้อความจากหน่วยถึงหน่วย จากสำนักงานเขต รับพิกัดจากชุดลาดตระเวน

ได้ยินเพียงเสียง บางคนไม่เคยพบหน้า ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

รู้แค่ว่า เขาเป็นคนสำคัญ

นกยูงไทย – ช่วงฤดูหนาว นกยูงตัวผู้มีหางยาวสลวย การแข่งขันกับตัวผู้อื่นๆ เพื่อให้ตัวเมียเลือกนั้น เป็นงานที่หนักไม่น้อย

คนเดินทางในป่า รู้ดีว่า เอาเข้าจริงแล้ว ความยุ่งยากมากๆ นั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่ฝนตกหนักๆ หรอก ตอนที่สายฝนจากไปแล้ว สายลมหนาวเดินทางมาถึง นี่แหละเวลาที่เรารู้ดีว่า ดินกำลังหนืด ร่องลึกดินแข็ง รวมทั้งสภาพป่าอันรกทึบ ต้นไม้ล้ม

การเดินก็ใช่ว่าจะง่ายดาย ระดับน้ำในลำห้วยยังสูง หากต้องข้าม อาจต้องลุยน้ำที่สูงเกินระดับอก

อีกนั่นแหละ เดินทางบนเส้นทางป่าบางครั้ง เราก็ต้องหยุดรอสักสอง-สามวัน ให้ระดับน้ำลด หรือทางแห้งอีกสักนิด

ฝึกฝนการรอคอยอย่างไม่กระวนกระวาย

สิ่งนี้ สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ สอนให้ทำ

 

นํ้าหลากรุนแรง ลำห้วยเปลี่ยนทิศทาง หาดทรายขยายกว้าง เป็นภาพที่เห็นในเช้าตรู่ที่สายหมอกหนาทึบ

ผืนทรายอ่อนนุ่ม เหยียบจมลึก การเดินต้องใช้แรงเพิ่มขึ้น

สัตว์เลี่ยงมาเดินบนตลิ่ง พวกมันเดินเป็นด่านเรียบ และเลือกข้ามน้ำในบริเวณที่เป็นดอนทราย ระดับน้ำลึกเกินครึ่งเท้าช้าง ฝูงหมูป่าเดินเรียงเป็นแถว พวกมันเลือกข้ามในจุดเหนือขึ้นไปที่น้ำตื้นกว่า

เช้ามืด นกยูงตัวผู้หางยาวสลวย เดินอยู่ในสายหมอก ช่วงบ่าย ตัวผู้หลายตัวประชันความแข็งแรงด้วยการรำแพน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ซึ่งคล้ายจะไม่สนใจอะไรนัก

เลือกอย่างพิถีพิถัน คือหน้าที่ของตัวเมีย ตัวผู้ที่จะเป็นพ่อของลูกต้องเหมาะสม

นากว่ายน้ำมาเป็นขบวน ในบริเวณซึ่งลำห้วยสายเล็กไหลมาพบลำห้วยสายใหญ่ เป็นตำแหน่งดีๆ มีปลาจำนวนหนึ่งมาชุมนุม เหี้ยก็ว่ายน้ำช้าๆ เข้ามาสังเกตการณ์ใกล้ๆ เป็นเวลาที่สายลมหนาวเข้าครอบครองผืนป่าแล้ว กลางคืนอุณหภูมิลดต่ำ น้ำค้างแรงคล้ายฝนตก แต่ในช่วงกลางวันแสงแดดจัดจ้า อากาศร้อนอบอ้าว บ่ายๆ ควายป่าไถลตัวลงมาถึงลำห้วย แช่น้ำ โผล่มาแค่หัว ใช้เวลาอยู่นาน บางครั้งจะเงยหน้าขึ้นสูดกลิ่นและหันมองรอบๆ

หลายวัน ผมอยู่กับพวกมัน เฝ้าดูไกลๆ

“เห็น” พวกมันด้วยสายตา ซึ่งไม่ได้มองผ่านเลนส์

 

วันนั้น ผมตอบเจ้าหน้าที่วิทยุสถานีแม่ข่าย ซึ่งส่งข่าวว่า “หก-หนึ่ง” ขอบคุณที่เขาแจ้งข่าว

ผ่านมาแล้วหลายปี กลับมายืนตรงจุดที่ได้รับข่าว

ในคืนข้างขึ้น ไร้แสงดาวระยิบ ในความระยิบระยับนั่น สักแห่งอาจเป็นที่ที่คนจากไปอยู่ มองไม่เห็น แต่เรารู้ดีว่า หลังแสงจันทร์นวลนั่น ความระยิบระยับคงอยู่

ความคิดถึงที่มี ส่งไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือสื่อสาร

และเมื่อคิดถึง ก็ดูเหมือนว่า ไม่มีใครจากไปไหน… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ