“กรุงเทพฯ”กำลังจะเปลี่ยนไป? สัญญาณ”สองนคราประชาธิปไตย”กำลังจะจบลง?

ไม่ใช่เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยหรอก ที่ทำให้กรุงเทพมหานครถือเป็นแหล่งรวมการพัฒนาที่สุดของประเทศ แต่เพราะความเจริญรุ่งเรืองเหนือจังหวัดอื่นๆ เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ในเมืองหลวงด้วย

สิ่งที่เหนือกว่า ดีกว่า และที่ต้องดูแลคุ้มครองมากกว่าอยู่ที่นี่

กรุงเทพมหานครเป็นทั้งศูนย์กลางอำนาจ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางวัฒนธรรม ศูนย์กลางการเรียนรู้ และศูนย์กลางทุกสิ่งอย่างที่เรียกว่าพัฒนา

ประชาชนในกรุงเทพมหานครจึงถือว่ามีพัฒนาการสูงสุด

ในมุมของอำนาจ คนกรุงเทพฯ เป็นผู้กำหนดกระแสการเมือง

ด้วยเหตุนี้เองผลสำรวจเรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.” ซึ่ง “นิด้าโพล” จัดทำขึ้นมาจึงน่าสนใจยิ่ง

บุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้
ร้อยละ 20.40 ตอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ร้อยละ 15.20 ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ร้อยละ 14.10 ตอบว่า น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร
ร้อยละ 12.20 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
ร้อยละ 12.20 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ร้อยละ 6.85 นายกรณ์ จาติกวณิช
ร้อยละ 6.35 พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส
ร้อยละ 3.15 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ร้อยละ 3.00 ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ร้อยละ 2.15 นายอนุทิน ชาญวีรกูล
ร้อยละ 1.80 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
ร้อยละ 1.50 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ร้อยละ 1.15 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ที่เหลือร้อยละ 4.45 เป็นคนอื่นๆ รวมกัน

พรรคการเมืองที่คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตในวันนี้
ร้อยละ 28.50 เพื่อไทย
ร้อยละ 26.45 ก้าวไกล
ร้อยละ 9.50 พลังประชารัฐ
ร้อยละ 9.50 ยังไม่ตัดสินใจ
ร้อยละ 9.45 ประชาธิปัตย์
ร้อยละ 3.05 ชาติพัฒนากล้า
ร้อยละ 2.90 ไทยสร้างไทย
ร้อยละ 2.75 เสรีรวมไทย
ร้อยละ 2.05 ภูมิใจไทย
ร้อยละ 2.05 กล้า
ร้อยละ 1.15 สร้างอนาคตไทย
ที่เหลือร้อยละ 2.60 เป็นพรรคอื่นๆ

พรรคการเมืองที่คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ร้อยละ 28.60 เพื่อไทย
ร้อยละ 26.10 ก้าวไกล
ร้อยละ 10.15 ยังไม่ตัดสินใจ
ร้อยละ 9.15 พลังประชารัฐ
ร้อยละ 9.00 ประชาธิปัตย์
ร้อยละ 3.25 ชาติพัฒนากล้า
ร้อยละ 2.95 เสรีรวมไทย
ร้อยละ 2.85 ไทยสร้างไทย
ร้อยละ 2.05 กล้า เท่ากับภูมิใจไทย
ร้อยละ 1.45 สร้างอนาคตไทย
ที่เหลือร้อยละ 2.40 เป็นพรรคอื่นๆ รวมกัน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ที่บอกว่าผลสำรวจนี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยเราทุกวันนี้ เพราะช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครกับต่างจังหวัด

คุณภาพของ ส.ส.ที่คนต่างจังหวัดเลือกมา มักได้รับการหมิ่นแคลนจากคนกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า อันเป็นผลิตของความเหลื่อมล้ำของประเทศ

แต่หากย้อนไปดูผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ในคำถามเดียวกันนี้ในจากคนภาคอื่น จะพบคำตอบไปในทางเดียวกัน และหากนั่นหมายถึงเอกภาพทางความคิดการเมืองของคนในประเทศเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นผลดีต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ

ความเหลื่อมล้ำที่สร้างความวิปริตให้การเมืองการปกครองของประเทศ คนเมืองหลวงหมิ่นแคลนคนต่างจังหวัด ก่อเกิดการเมืองแบบที่เรียกกว่า “สองนคราประชาธิปไตย” จะจบลง

การเมืองไทยจะก้าวสู่พัฒนาการที่เหมาะสมเสียที

ความน่าสนใจอยู่ที่หากการเมืองก้าวสู่พัฒนาการระดับ “เสถียรภาพประชาธิปไตย”

จะนำประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้มากกว่านี้

และอาจบางทีคนไทยจะหยุดจมอยู่กับ “ประเทศกำลังพัฒนา” ที่ถอยหลังสู่ “ประเทศด้อยพัฒนา” ลงเรื่อยๆ แบบนี้เสียที