ธนาคารใหญ่เครือข่ายระดับโลก | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารใหญ่เครือข่ายระดับโลก

 

ที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง มาจากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ของไทย อยู่ในเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

ภาพใหญ่ใหม่ๆ ว่าด้วยพัฒนาการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ปรับตัวมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษ โครงสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีธนาคารระดับโลกเข้ามามีบทบาท จากปรากฏการณ์เกี่ยวกับธนาคารขนาดเล็กในระยะแรกๆ ไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่

โครงสร้างระบบธนาคารไทยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยปรากฏการณ์ที่แตกต่าง เกือบจะสิบปีมาแล้ว (ปลายปี 2556) เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นดีลธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา MUFG กลุ่มธนาคารอันดับหนึ่งแห่งญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในสัดส่วนข้างมากที่สุด (เกือบ 77%) ที่น่าสนใจ แม้ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แต่เติมข้อสำคัญไว้ในโลโก้ว่า “A member of MUFG, a global financial group” ที่สำคัญผู้บริหารคนสำคัญๆ ล้วนเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวแทน MUFG ทั้งสิ้น

เครือข่ายธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย มากับแผนการใหญ่พอสมควร นอกจากควบรวมกิจการกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ (2558) มีแต่เดิมนานมากแล้ว ยังเป็นฐานขยายเครือข่ายไปในภูมิภาคไกล้เคียงอีกด้วย โดยเปิดสำนักงานตัวแทนที่ประเทศเมียนมา (2558) และเข้าซื้อกิจการไมโครไฟแนนซ์ในประเทศกัมพูชา (2559)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีตำนานก่อตั้งในเมืองหลวงเก่า ช่างบังเอิญปัจจุบันที่นั่นเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ในนั้นมีเครือข่ายการผลิตธุรกิจญี่ปุ่นคลาคล่ำนับร้อยๆ แห่ง ปัจจุบันได้กลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับต้นๆ

ที่สำคัญมาตรฐานการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา พิจารณาอย่างคร่าวๆ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขสำคัญที่นำเสนอ มีสัดส่วนที่น่าสนใจ เชื่อว่าสร้างแรงกดดันธนาคารใหญ่ไทยดั้งเดิมบ้างไม่มากก็น้อย

 

อีกธนาคารที่มีที่มาด้วยเรื่องราวอันซับซ้อน ว่าด้วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตามแบบฉบับธุรกิจยุคสมัยที่เรียกว่า M&A (Merger and Acquisition) หลายต่อหลายครั้ง

หากจะว่าจุดตั้งต้น ซึ่งสะท้อนทีมบริหารที่มาจากที่นั่น และยังคงมีบทบาทนำในการบริหารกิจการปัจจุบัน คงพิจารณาได้จากข้อมูลธนาคารเอง แม้ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยความหลากหลาย อย่างที่นำเสนอไว้ (ข้อมูล ณ 6 กันยายน 2565)

ประกอบด้วยบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 24.33% ING Bank N.V 22.96% กระทรวงการคลัง 11.76% และกองทุนวายุภักษ์หนึ่ง 10.52% แต่เมื่อพิจารณาอย่างรวมๆ บทบาท ING Bank N คงมีนัยยะสำคัญ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว “ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) หรือธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า การรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตได้เสร็จสมบูรณ์เป็นธนาคารเดียวกันเรียบร้อยแล้ว” (ตามหนังสือลงนามโดยผู้บริหาร ลง วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หลังผ่านกระบวนการควบรวม โดยใช้เวลานานถึง 2 ปีเต็ม

ทั้งนี้ ธนาคารทั้งสองได้เคยผ่านกระบวนการทำนองข้างต้น มาก่อนหน้าหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ช่างผลพวงสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540

ธนาคารทหารไทย ก่อตั้งเป็นธนาคารของทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2499) การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ผ่านมาแล้วก่อนหน้านั้นถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก (ปี 2547) ควบรวมกับธนาคารไทยทนุ (ธนาคารซึ่งมีการเปลี่ยนโครงสร้างผุ้ถือหุ้นมาแล้ว 2 ครั้งเช่นกัน) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมของรัฐ (ไอเอฟซีที) การควบรวมครั้งนั้น ปรากฏภาพกระทรวงการคลังเข้ามามีอิทธิพลแทนกองทัพ แม้การเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น TMB (ปี 2548) ทว่า ภาษาไทยยังคง “ทหารไทย”

ครั้งที่สอง (ปี 2550) มาจากแรงกระเพื่อมและแรงกดดันต่อเนื่อง จึงได้เพิ่มทุนหลายครั้ง ในที่สุดธนาคารต่างชาติได้เข้ามา-ING Bank N V ธนาคารแห่งเนเธอร์แลนด์ ถือหุ้นในธนาคารทหารไทย สัดส่วนรวม 30% โดยมีบทบาทบริหารธนาคารด้วย

อีกฝ่าย ธนาคารธนชาต หนึ่งในธนาคารเกิดใหม่ หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2547) ต่อมา The Bank of Nova Scotia แห่งแคนาดา เข้าถือหุ้น (ปี 2550) ถึง 49% จากนั้นจังหวะก้าวเชิงรุกดำเนินไปอย่างเข้มข้นอีกขั้นโดยซื้อ ธนาคารนครหลวงไทย (ปี 2553) ธนาคารอีกแห่งหนึ่งกับตำนานว่าด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อน จึงได้ปิดฉากลง

ภาพล่าสุดธนาคารใหม่ ถือว่าเป็นธนาคารมีสินทรัพย์เป็นอันดับ 6 ของระบบในระดับมากกว่า 1 ล้านล้านบาท สะท้อนความหลากหลายพันธมิตรทางธุรกิจ ขณะบทบาทของ ING Bank ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว เนื่องจากเป็นธนาคารใหญ่ใหม่รายล่าสุด คงใช้เวลาติดตามความเป็นไปและทิศทางใหม่ๆ อีกสักระยะ ที่น่าสนใจเป็นธนาคารใหญ่อีกแห่งซึ่งให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทางเศรฐกิจและธุรกิจ ด้วยมีหน่วยงาน เรียกว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ที่ระบุว่า “เจาะลึกความเคลื่อนไหวธุรกิจไทย และเศรษฐกิจโลก” มีมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ให้ติดตามอยู่เสมอ

บทบาทธนาคารใหญ่ใหม่ทั้งสองแห่ง ย่อมน่าติดตาม เมื่อเทียบเคียงกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในขณะที่ธนาคารไทยใหญ่ดั้งเดิม คงบทบาทนำ ที่มากับแผนการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com