BREATHE “ปอดเหล็ก” | นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

BREATHE “ปอดเหล็ก”
กำกับการแสดง Andy Serkis
นำแสดง Andrew Garfield, Claire Foy, Hugh Bonneville, Tom Hollander

สร้างจากเรื่องจริง…อีกแล้ว เพราะเรื่องจริงนั้นเหลือเชื่อยิ่งกว่านิยายเสียอีก และหากว่านิยายนั้นเหลือเชื่อเกินไป ก็จะโดนยักไหล่ปัดทิ้งและลืมไปเลย แต่เมื่อมีความจริงอยู่เบื้องหลังเนื่องจากเป็นชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในโลก เรื่องราวก็ย่อมมีน้ำหนักของความน่าเชื่อถือขึ้นมาเยอะเลย

หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือการสร้างของลูกหลาน หรือจะว่าพูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือลูกชายคนเดียวของตัวนำเรื่องทั้งสองคน

โจนาธาน คาเวนดิช เติบโตขึ้นมาอยู่ในวงการภาพยนตร์ และอำนวยการสร้างหนังชีวิตรักชวนรันทดและการต่อสู้อย่างน่ายกย่องของพ่อแม่เขาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20

ทั้งนี้ โดยที่โจนาธานมอบหมายให้ แอนดี้ เซอร์คิส เพื่อนรักของเขา เป็นผู้กำกับฯ

เรามักรู้จัก แอนดี้ เซอร์คิส กันในรูปลักษณ์ของตัวประหลาดบนจอภาพยนตร์

ใช่ค่ะ แอนดี้ เซอร์คิส ซ่อนอยู่เบื้องหลังตัว “กอลลัม” ในหนังชุด Lord of the Rings และเบื้องหลัง วานร “ซีซาร์” ในหนังชุด Planet of the Apes เวอร์ชั่นปัจจุบัน

เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดของวงการไปแล้วในการแสดงบทบาทที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า motion capture หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “โม แคป” โดยสวมชุดรัดรูปที่ติดเครื่องจับความเคลื่อนไหว และใช้ภาพคอมพิวเตอร์สร้างความเคลื่อนไหวนั้นในรูปลักษณ์ใหม่

แต่ใน Breathe แอนดี้ เซอร์คิส ในฐานะผู้กำกับฯ ไม่ได้ทำอะไรที่ใช้เทคนิคที่เขาเชี่ยวชาญนี้เลย เขาเล่าเรื่องราวชีวิตของหนุ่มสาวสองคนอย่างตรงไปตรงมา

เริ่มตั้งแต่ โรบิน คาเวนดิช (แอนดรูว์ การ์ฟีลด์) หลงรักสาวสวย ไดอานา (แคลร์ ฟอย) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพี่ชายฝาแฝดของเธอ ที่มองเห็นว่าน้องสาวคนสวยมีโอกาสจะได้แต่งงานดีกว่านี้มาก

แต่ความรักไม่เข้าใครออกใครหรอกค่ะ ไดอานาตกลงแต่งงานกับโรบินในระยะเวลาอันสั้น ก่อนจะย้ายตามเขาไปอยู่ในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา ด้วยธุรกิจค้าขายใบชา

ชีวิตแต่งงานอันแสนสุขแทบจะพังครืนลงในชั่ววูบ เมื่อโรบินล้มป่วยกะทันหัน และถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโปลิโอ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเองไม่ได้ตั้งแต่คอลงมา แต่ยังทำให้กล้ามเนื้อปอดขยับเขยื้อนหายใจเองไม่ได้ด้วย

แพทย์ในแอฟริกาต้องใส่เครื่องช่วยหายใจให้เขา และให้เวลาเขาเพียงสามเดือนที่จะมีชีวิตอยู่

ขณะนั้นโรบินอายุเพิ่งจะยี่สิบแปด และลูกที่อยู่ในท้องของไดอานายังไม่ได้ลืมตาขึ้นดูโลกเลย

ลูกคนนั้นคือ โจนาธาน คาเวนดิช คนที่เป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้แหละค่ะ

ปฏิกิริยาแรกๆ ของโรบินคือความสิ้นหวังทดท้อ และอยากตายไปให้พ้นๆ แต่ไดอานาปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมรับฟังความปรารถนาแบบนั้นของเขา และบอกว่าเขาจะต้องอยู่ต่อไปเพื่อดูลูกเติบโตขึ้น

เธอพาเขากลับอังกฤษอย่างทุลักทุเลในสภาพที่นอนแบ่บใส่เครื่องช่วยหายใจ และพามาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่อังกฤษอยู่นานนับปี

โรบินกลายเป็นคนพิการอย่างถาวร โดยไม่มีหวังจะกลับมาเดินได้ หรือขยับตัว หรือแม้แต่หายใจได้ด้วยตนเอง

เขาอยากออกไปใช้ชีวิตนอกโรงพยาบาลซึ่งรู้สึกเหมือนเป็นที่คุมขัง และไดอานาช่วยทำให้ความต้องการของเขาเป็นจริงขึ้นมา มิไยจะต้องขัดแย้งถึงขั้นงัดข้อกับแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งบอกว่าคนไข้แบบนี้ไม่มีทางมีชีวิตรอดได้เกินสองสัปดาห์ถ้าไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์พยาบาลมืออาชีพ

ในการนี้ โรบินและไดอานาตระหนักดีในเรื่องความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

แต่ชีวิตแบบไหนเล่าที่พวกเขาเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียไป

พวกเขาก็ยอมแลกชีวิตแบบนั้นเพื่ออิสรภาพในการใช้ชีวิตนอกโรงพยาบาลซึ่งเป็นเหมือนสถานที่กักกัน และได้ดูลูกชายเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมของบ้านและครอบครัว

ด้วยความช่วยเหลือของ เท็ดดี้ ฮอลล์ (ฮิวจ์ บอนน์วิลล์) พี่ชายของไดอานา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และเป็นนักประดิษฐ์ โรบินมีเก้าอี้รถเข็นที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยหายใจพร้อมแบตเตอรี่ ทำให้เขามีอิสรภาพมากยิ่งขึ้นในการไปไหนต่อไหน

และเก้าอี้ติดล้อพร้อมอุปกรณ์นี้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ไดอานาขับรถพาเขาไป ไม่เพียงแต่สถานที่ใกล้ๆ เท่านั้น แต่ยังเดินทางไปต่างแดนถึงสเปน เป็นต้น

“ความสำเร็จ” ในการต่อสู้ของ โรบิน คาเวนดิช ซึ่งเป็นคนพิการที่มีชีวิตอิสระเป็นของตัวเอง ทำให้เขานึกถึงผู้พิการที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา มีลมหายใจ แต่ไม่มี “ชีวิต”

เขากับครอบครัว รวมทั้ง เท็ดดี้ ฮอลล์ พี่ชายนักประดิษฐ์ จึงพยายามรณรงค์เพื่อให้โอกาสแก่เพื่อนร่วมชะตากรรมของเขาบ้าง

ในเวลานั้น ความคิดของผู้คนก็คือผู้ป่วยเป็นอัมพาตแบบถาวรทั้งหลายนั้นต้องอยู่ติดเตียง และไม่ออกมาปรากฏตัวในที่สาธารณะ โรงพยาบาลในเยอรมนีที่ถือว่าดูแลผู้ป่วยแบบนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ก็สร้างคอกสวยงามให้ผู้ป่วยโผล่ออกมาแต่ศีรษะในบรรยากาศที่ถูกสุขอนามัยเป็นที่ยิ่ง

แต่นั่นคือชีวิตแบบไหนกันเล่า

มีศัพท์เรียกคนที่มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจ หรือ “ปอดเหล็ก” ซึ่งเป็นคำที่คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก คือคำว่า responaut ปัจจัยลงท้ายของคำคงจะเหมือนอย่าง astronaut หรือ cosmonaut กระมัง …โรบิน คาเวนดิช เป็นเรสโปนอตที่มีชีวิตยืนยาวที่สุดคนหนึ่งตามสถิติ

เขาเสียชีวิตในวัยหกสิบสี่ปี…ซึ่งหมายความว่า เขามีอายุยืนยาวมาอีก 36 ปี หลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคและหมอให้เวลาอยู่อีกเพียงสามเดือน

โรบินได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูง ที่เรียกว่า M.B.E. (Most Excellent Order of the the British Empire) จากความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นอัมพาตด้วยอุปกรณ์ที่เขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นร่วมกับครอบครัว

การต่อสู้ของโรบินไม่เพียงแต่เป็นชัยชนะสำหรับตัวเขาเอง แต่เขายังป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าผู้พิการแบบเขาไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงจนเฉาตายไปเอง แต่สามารถมีชีวิต มีลมหายใจ (เทียม) และชื่นชมกับความสวยงามของโลก ได้เกือบเหมือนคนปรกติ

ทั้งนี้ทั้งนั้น โรบินโชคดีที่มีคู่ชีวิตที่ไม่ยอมทอดทิ้งเขาเลย

นี่เป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจเรื่องหนึ่งค่ะ