จิตต์สุภา ฉิน : ปลอดภัยแค่ไหนเมื่ออยู่ในรถยนต์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วก่อนการมาถึงของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ การขับรถเคยเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ ทุกคนอยู่ในรถของตัวเอง เมื่อขับออกไปจากบ้านแล้วก็ไม่สามารถติดต่อได้จนกระทั่งไปถึงจุดหมายปลายทาง ในเมื่อไม่มีแอพพลิเคชั่นให้ตรวจสอบสภาพการจราจรได้ตามเวลาจริงบนสมาร์ตโฟน รถจะติดหรือไม่ติดอย่างไรก็จะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ทำได้ก็เพียงแค่ขับไปเจอหน้างาน หรือไม่ก็ฟังจากรายการวิทยุควบคู่ไปด้วยเท่านั้น

แต่ในตอนนี้เมื่อทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ทั้งนั้น รถยนต์จึงมีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ไร้ขอบเขตมากขึ้น

รถยนต์ที่เรากำลังจะได้เห็นกันหนาตาขึ้นในอนาคตจะฉลาดขึ้น ทั้งไร้คนขับ ทั้งอัตโนมัติ และทั้งเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อพูดคุยสื่อสารกันเอง

อย่างรถเมอร์เซเดส อี คลาส ที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายเพื่อสื่อสารกับรถยนต์อีคลาสคันอื่นๆ เพื่อเตือนให้ผู้ขับแต่ละคนทราบถึงสภาพการจราจรและสภาพอากาศในเส้นทางเบื้องหน้าได้

ทางค่ายวอลโวเองก็มีเช่นเดียวกัน โดยได้มีการนำการเชื่อมต่อแบบสามจีส่งข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รู้ว่าบริเวณไหนของเมืองที่มีหิมะตกทับถมหนาและต้องตักกวาดหิมะออกเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถบนท้องถนน

ฟอร์ดมีแผนในการทำให้รถยนต์ใหม่ทุกคันที่ออกขายในตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ภายในปี 2020 ส่วนในต่างประเทศก็วางแผนแบบเดียวกันนี้เอาไว้ด้วยตัวเลขที่ร้อยละเก้าสิบ

ฟีเจอร์การมี Wi-Fi ฮอตสปอต 4G/LTE ติดตั้งมาพร้อมกับรถจะค่อยๆ กลายเป็นออปชั่นที่ขาดไม่ได้ที่ลูกค้าจะมองหาในการซื้อรถยนต์คันใหม่ และจะต้องรองรับการเชื่อมต่อระบบ Apple CarPlay และ Android Auto ด้วย

ซึ่งสองระบบที่ว่านี้จะทำให้ผู้ใช้สมาร์ตดีไวซ์ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอสสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนอุปกรณ์ของตัวเองได้แบบไร้รอยต่อบนหน้าจอรถยนต์ สามารถโทร.ออก รับสาย ส่งข้อความ ฟังเพลง เปิดแอพพ์ ได้เหมือนกับกำลังใช้มือถือของตัวเองโดยที่ไม่ต้องก้มมองหน้าจอมือถือ

ซึ่งนอกจากจะทำให้สะดวกสบายมากขึ้นแล้ว ก็ยังลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอันเกิดจากการละสายตาออกจากถนนตรงหน้าเพื่อก้มมองโทรศัพท์ด้วย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ภายในอีกสิบปีข้างหน้า รถยนต์คันใหม่ที่ถูกผลิตจะต้องมาพร้อมระบบการเชื่อมต่อต่างๆ ที่เจ้าของรถยนต์จะใช้งานได้ง่ายๆ เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว หรือแค่ป้อนรหัสผ่านที่จะถูกส่งเข้ามายังโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

ฟังดูเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มเป็นยิ่งนักที่รถยนต์จะมีฟีเจอร์ต่างๆ ที่ทำให้เราระหว่างการขับไปยังจุดหมายปลายทางของเรานั้นปลอดภัยและน่าอภิรมย์มากขึ้น

แต่ความเป็นอัตโนมัติและเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ก็มาพร้อมกับการเปิดช่องโหว่ให้กับความปลอดภัยของผู้ขับด้วย

ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ทันได้มองเห็นถึงภัยที่จะเกิดขึ้น แต่เราจะเริ่มมองเห็นมันชัดขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี่แหละค่ะ

 

ภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมีรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ก็อาจจะมีตั้งแต่การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว ไปจนถึงการถูกแฮ็ก หรือการถูกเข้ามาแย่งการควบคุมรถยนต์จากระยะไกล ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงทั้งกับทรัพย์สินและชีวิตได้

ก่อนหน้านี้ไม่นาน นักวิจัยจากบริษัทความปลอดภัยในจีนเคยได้ออกมาทำโลกตะลึงมาแล้ว ด้วยการสาธิตให้ดูว่าพวกเขาสามารถเข้าควบคุมรถยนต์เทสลา โมเดล เอ็กซ์ ได้ผ่านการเชื่อมต่อเว็บและเซลลูลาร์ นักวิจัยกลุ่มนี้ใช้เพียงเว็บเบราเซอร์เท่านั้นก็สามารถเข้าไปควบคุมเบรก ไฟ และประตูของรถยนต์ได้แล้ว

ล่าสุดจึงมีความพยายามในการควบคุมจัดการเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป หรือ ACEA ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าแม้เทคโนโลยีภายในรถยนต์จะก้าวหน้าไป แต่ทางสมาคมก็จะให้ความสำคัญกับการปกปักษ์รักษาข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ของผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่นพร้อมๆ กันไปด้วย

 

เพื่อให้หลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นรูปธรรมขึ้น ทาง ACEA จึงได้ออกหลักการทั้งหมด 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์

2. ใช้วัฏจักรความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ในการพัฒนายานพาหนะ

3. ประเมินความปลอดภัยผ่านการทดสอบขั้นตอนต่างๆ

4. จัดการนโยบายอัพเดตความปลอดภัย

5. จัดเตรียมการโต้ตอบและการกู้คืน

6. ปรับปรุงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้เล่นในอุตสาหกรรม

ทั้งหกข้อนี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สมาชิกในสมาคมทุกคนจะปฏิบัติร่วมกัน โดยได้มีการตกลงกันว่าจะแบ่งปันข้อมูลความรู้ที่ได้จากการพัฒนาให้กันและกัน และจะร่วมมือกับทั้งท้องถิ่นและภาครัฐอย่างเคร่งครัด

ซึ่งหกข้อนี้ก็อาจจะพอทำให้อุ่นใจได้สักหน่อยว่าเมื่อทุกคนมีแนวทางปฏิบัติร่วมกันอย่างชัดเจนแล้ว จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างบ้าคลั่งจนลืมคำนึงถึงภัยที่อาจจะตามมา

 

ความเป็นจริงที่โหดร้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ยิ่งเราใส่เทคโนโลยีเข้าไปในรถยนต์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งดูจะขัดกันกับความตั้งใจที่จะใส่เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยตั้งแต่แรกใช่ไหมคะ

แต่หากนำเอาสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถโดยประมาทและอันตรายของผู้ขับที่เป็นมนุษย์มาคิดคำนวณร่วมแล้วจะพบว่าเทคโนโลยีจะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ไปได้เยอะมาก…ถ้าหากค่อยๆ ทำกันไปอย่างระมัดระวัง

ซู่ชิงมองว่าสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อให้ไปถึงฝั่งฝันนั้นมีอยู่ 2 ด้าน

ด้านแรก คือด้านผู้ผลิต ที่จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับในทุกด้านอย่างรอบคอบก่อนที่จะออกเทคโนโลยีอะไรมาให้ผู้บริโภคใช้

อีกด้านหนึ่ง คือด้านผู้บริโภค หรือผู้ขับ ที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการคิดและการมองรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ในอนาคตผู้ขับจะต้องทำความเข้าใจว่าการซื้อรถยนต์มาสักคัน ไม่ได้มีเพียงแค่การจ่ายเงิน ขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัยและขับออกไปเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาและเข้าใจประโยชน์และภัยของการใช้งานเทคโนโลยีรถอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย

เมื่อถึงวันนั้นเราก็อาจจะเข้าใกล้ “อุบัติเหตุท้องถนนเป็นศูนย์” มากกว่าที่ผ่านๆ มาก็ได้นะคะ