ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (99) ปลูกป่าคือทางออก

Ratargul swamp forest, a new travel destination of Bangladesh, situated in Sylhet district by the river of Goain. This evergreen forest is getting submerged under 20 to 30 feet water in some part during rainy season. Bangladesh.

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

การปลูกป่าและกิจกรรมอื่นๆ เช่น การปกป้องดูแลป่าพรุ การจัดการบริหารดินให้อุดมสมบูรณ์คือหนึ่งในทางออกที่สำคัญของการลดปัญหาภาวะโลกร้อน นี่คือข้อสรุปของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ

คณะนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวระบุ การฟื้นฟูโลกด้วยการปลูกป่า จะช่วยดูดซับควันพิษที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเป็นการต่อสู้กับปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าที่คิดไว้มาก

ในรายงานชี้ว่า ถ้าช่วยกันปลูกป่าให้เขียวชอุ่มไปทั่วจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างน้อยๆ 30 เปอร์เซ็นต์

ต้นไม้ยิ่งปลูกมากเท่าไหร่ ยิ่งดูดความร้อน แต่เมื่อไหร่ชาวโลกเผาต้นไม้ จะเกิดก๊าซพิษขึ้นมา เพราะฉะนั้น ถ้ากลับมาตั้งต้นปลูกต้นไม้ให้งดงามจากผืนป่าอเมซอนไปจนถึงไซบีเรีย เหนือสุดขอบโลก เท่ากับเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่มีขนาดใหญ่มหึมา

ผลจากการศึกษาประเมินตัวเลขพบว่า การจัดการบริหารผืนป่าสีเขียว การดูแลสภาพดินดีกว่าที่เป็นอยู่ จนถึงปี 2573 จะช่วยซับก๊าซเรือนกระจกได้ราวๆ 11,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จีนปล่อยออกมาในปัจจุบัน

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐที่สั่งถอนตัวออกจากข้อตกลงลดภาวะโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้การแก้ปัญหาชะงักงัน

มีแนวโน้มว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมากขึ้นและอุณหภูมิผิวโลกสูงกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีความเป็นไปได้มาก

นั่นหมายความว่า โอกาสที่ชาวโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยแล้ง พายุที่มีพลังแรง ฝนตกหนักรวมทั้งคลื่นความร้อนจะมีมากขึ้น

แนวทางการทำให้โลกกลับมาเขียวบริบูรณ์ด้วยการปลูกป่าและดูแลปกป้องป่าพรุนั้น เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นฟูระบบการใช้ที่ดินและการเพาะปลูกพืช

ถ้าโลกยังเผชิญกับวิกฤตภัยทางธรรมชาติอย่างเช่นในปัจจุบัน ผลิตผลทางการเกษตร ทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวหอมมะลิ หรือถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชหลักที่จำเป็นของคนทั้งโลก จะมีปริมาณลดต่ำลง ขณะที่ความต้องการอาหารจากพืชเหล่านี้มีมากขึ้นเนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น

 

คณะนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่งที่ศึกษาป่าพรุทางตอนเหนือของรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา พบว่า การขุดดินลึกลงไปเพียง 2 เมตร มีซากเศษอินทรีย์วัตถุอยู่มาก ช่วยดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาลและเก็บกักเอาไว้นานเป็นเวลานับพันๆ ปี

ป่าพรุเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า เป็นแหล่งน้ำสะอาด ทั้งช่วยดูดซับก๊าซพิษและยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักถือว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของระบบนิเวศน์

ในโลกใบนี้มีป่าพรุปกคลุมอยู่ราว 3 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับป่าไม้ทั้งโลก

นอกจากนี้ ชั้นใต้ดินของป่าพรุยังทำหน้าที่ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วทำปฏิกิริยาทางเคมีจนกลายเป็นถ่านพีต ถือเป็นวงจรควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ที่สมบูรณ์แบบ

เมื่อต้นปีนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแหล่งป่าพรุที่ประเทศคองโกมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก เนื้อที่กว่า 800 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่ของทั้งจังหวัดสมุทรสาคร

แหล่งป่าพรุดังกล่าวเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในปริมาณมหาศาล ประเมินว่า พอๆ กับปริมาณก๊าซพิษที่ชาวโลกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นเวลา 3 ปี หรือราว 30,000 ล้านเมตริกตัน

 

หลายๆ ประเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับป่าพรุ แถมยังปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุกเข้าไปแผ้วถางทำลายอย่างย่อยยับ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีป่าพรุราว 60 เปอร์เซ็นต์ของป่าพรุที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ถูกทำลายจนเหลือไม่มากแล้ว โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ป่าพรุส่วนใหญ่กลายเป็นสวนปาล์ม สวนยางพารา หรือไม่ก็ไร่ข้าวโพด

เมื่อปี 2558 ชาวไร่อินโดนีเซียเผาป่าพรุอย่างมโหฬาร จนเกิดไฟป่าลุกลามไปทั่ว ควันไฟลุกโขมงเขม่าดำปลิวปกคลุมท้องฟ้า สร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย

ความเสียหายที่เกิดจากไฟป่าอินโดนีเซีย ราว 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พ่นขึ้นสู่ท้องฟ้าเนื่องจากการเผาป่ามีมากถึง 800 ล้านเมตริกตัน

ผู้เสียชีวิตเพราะควันพิษ โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ ราวๆ 1 แสนคน ทั้งชาวอินโดฯ และเพื่อนบ้าน

รัฐบาลอินโดนีเซียตระหนักถึงวิกฤตการณ์ไฟป่าในครั้งนั้น จึงมีความพยายามฟื้นฟูป่าพรุขึ้นบนเกาะบอร์เนียว ด้วยการจัดตั้งโครงการชื่อ KATINGAN มีเป้าหมายดูแลปกป้องป่าพรุพื้นที่ราว 1 ล้านไร่ ให้เป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ รวมถึงเป็นแหล่งทำกินของประชาชนอย่างยั่งยืน

ในโครงการดังกล่าว จัดสรรให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในบริเวณพื้นที่กันชนรอบๆ ป่าพรุ มีการขุดคลองป้องกันแหล่งน้ำ และไฟป่า

ชุมชนช่วยกันดูแลป่าพรุพร้อมๆ กับทำการเกษตร อนุญาตให้เข้าไปหาของกินในป่า แต่ต้องไม่โค่นต้นไม้ เผาป่า ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงทำลายสภาพดิน

เมื่อชาวบ้านมีแหล่งทำกิน มีอาหารอิ่มท้อง ก็เลิกทำลายป่า

 

ในภาคใต้ของบ้านเรา มีป่าพรุใหญ่ๆ เช่น ป่าพรุควนเคร็ง ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส

เวลานี้ ทั้งป่าพรุควนเคร็งและป่าพรุโต๊ะแดง กำลังเผชิญกับการบุกรุกแย่งชิงพื้นที่เพื่อทำลายสภาพป่า เปลี่ยนเป็นสวนยาง สวนปาล์ม ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในอินโดนีเซีย

จึงมีคำถามทิ้งท้ายว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสนใจกับ “ป่าพรุ” บ้างหรือไม่?