บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (จบ)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

สรุป

1.ภาพเสนอประชาธิปไตยในบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า 2556 แตกต่างจากภาพเสนอประชาธิปไตยในบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า 2546-2555

อย่างสิ้นเชิง

2.เมื่อนำภาพเสนอประชาธิปไตยที่ปรากฏในบทกวีพานแว่นฟ้าทั้งสองช่วงเวลามาพิจารณาภายใต้บริบทสังคมไทยที่ความขัดแย้งของคนในสังคมแตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

สามารถกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 คือประชาธิปไตยในนิยามของฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มองว่านักการเมืองและการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายที่เน้นทุนนิยม-โลกาภิวัตน์ คือศัตรูอันน่ากลัวของความเป็นไทย อันบ่อนทำลายวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ทั้งยังนำไปสู่การทำลายชาติ

ประชาธิปไตยแบบนี้จึงเพ่งเล็งปัญหาไปที่นักการเมือง การเลือกตั้ง และประชาชนผู้เลือกตั้งที่ขาดการศึกษา และเพื่อผดุงความเป็นไทยและความเป็นชาติไว้

ประชาธิปไตยแบบนี้จึงเสนอให้ใช้คุณธรรมจริยธรรมจัดการกับนักการเมือง

ทว่า ก่อนที่จะให้นักการเมืองไปขัดเกลาตัวเองด้วยคุณธรรมจริยธรรม ต้องรีบกำจัดนักการเมืองออกไปจากอำนาจเสียก่อน

ประชาธิปไตยแบบนี้จึงไม่ขัดข้องกับการใช้รัฐประหารมากำจัดนักการเมืองออกไปจากอำนาจ

ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่พบการติติงรัฐประหารในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555

ตรงกันข้าม กลับมุ่งโจมตีนักการเมืองและสร้างภาพประชาชนให้เป็นผู้อ่อนแอเกินกว่าจะใช้อำนาจของตนเองได้

ขณะที่ประชาธิปไตยในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 คือประชาธิปไตยในนิยามของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

หรืออาจกล่าวได้ว่า (ส่วนหนึ่ง) เป็นฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ได้มองว่านักการเมืองเป็นศูนย์กลางของปัญหา

แต่มองว่านักการเมืองมีดีมีเลว มีผิดมีถูก และอาจสร้างปัญหาขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามครรลองประชาธิปไตย

3.ในสังคมไทยมีกลุ่มคนอย่างน้อยสองกลุ่มซึ่งมีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยสองแบบที่แตกต่างกัน

คนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งมีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยเช่นเดียวกับภาพเสนอประชาธิปไตยที่ปรากฏในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555

คือคิดว่าประชาธิปไตยควรเป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่เข้ากันได้กับวิถีวัฒนธรรมไทย ไม่ทำลายความเป็นชาติและความเป็นไทย

และมีคนอย่างน้อยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับภาพเสนอประชาธิปไตยที่ปรากฏในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556

คือคิดว่าประชาธิปไตยควรเป็นประชาธิปไตยแบบสากล ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

และเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นก็ต้องแก้ไขด้วยวิธีในระบอบประชาธิปไตย ปฏิเสธรัฐประหารหรือการล้มกระดานด้วยวิถีนอกระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ภาพเสนอประชาธิปไตยในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศการตอบโต้ หักล้าง รวมถึงแย่งชิงการนิยามความหมายของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

4.แม้สามารถกล่าวได้ว่าบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 และบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 นำเสนอภาพประชาธิปไตยที่แตกต่างกันแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition)

แต่เมื่อพิจารณาถึงประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่ปรากฏในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 แล้วพบว่า ระหว่างการตอบโต้ หักล้าง และแย่งชิงกันนิยามความหมายของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น ยังปรากฏสายใยเล็กๆ ที่พาดต่อภาพเสนอประชาธิปไตยทั้งสองช่วงเวลาให้ไม่แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คือ ในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 ยังพบบทกวีที่นำเสนอความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบไทยที่เพ่งเล็งการแสดงความรู้สึกโศกาอาดูรต่อวิถีวัฒนธรรมชุมชนและความเป็นไทยอันดีงามที่ถูกบ่อนทำลายลงโดยนักการเมือง ทุนนิยม และโลกาภิวัตน์

นอกจากนี้ ยังพบประเด็นการให้ความสำคัญแก่ความรักและความสมานฉันท์ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556

ประเด็นความสมานฉันท์นี้เคยปรากฏเป็นประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 ที่ชูประเด็นความสมานฉันท์เหนือกว่าหลักประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นไทยและความเป็นชาติเอาไว้

ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยมีคนอีกอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอยู่ระหว่างประชาธิปไตยแบบคู่ตรงข้าม (แบบไทย-แบบสากล)

กล่าวคือ มีคนอีกอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมและความเป็นไทย ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการยึดหลักการประชาธิปไตยด้วย

5.มิอาจสรุปได้แน่ชัดว่าบทกวีทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้านำเสนอความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบเดียวกันทั้งหมด เพราะผู้เขียนเลือกศึกษาเฉพาะตัวบทที่ได้รับรางวัลซึ่งถูกคัดเลือกคัดกรองจาก “กรรมการ” ผู้ตัดสินรางวัลมาแล้วอย่างน้อยชั้นหนึ่ง

มิอาจปฏิเสธได้ว่าความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของกรรมการนั้นมีผลโดยตรงต่อผลการตัดสิน

วรรณกรรมที่ได้รับเลือกให้ชนะการประกวดก็เป็นเสมือนกระบอกเสียงประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของกรรมการ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่

และทัศนคติของคณะกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้ามีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างความหมายของประชาธิปไตยในบทกวีการเมืองพานแว่นฟ้า