บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (4)

ย้อนอ่าน บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (3) (2) (1)

ยืนยันความสำคัญของนักการเมือง

ตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” แสดงทัศนะเกี่ยวกับนักการเมืองว่าเป็นปกติธรรมดาที่นักการเมืองจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เช่นเดียวกับผู้คนในสาขาอาชีพอื่นๆ

แต่ไม่ว่าอย่างไรนักการเมืองคือตัวแทนของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย

ซึ่งแม้ไม่ใช่ระบอบที่ดีงามบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ ทว่า ก็เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมี

ทุกอาชีพทุกไพรพงทุกดงด้วย ประกอบด้วยหลากหลายแฝงทุกแห่งหน

นักการเมืองคือตัวแทนประชาชน ย่อมปะปนคนเลวดีมีรักชัง

เบื่อพวกคิดประดิษฐ์คำ “ทุนสามานย์ กลวิธีล้มกระดานการเลือกตั้ง

เราเลือกมาถูกคร่าสิ้นจนภินท์พัง เสียงปืนปังดั่งหนังไทยใช้อาวุธ

แม้ระบอบประชาธิปไตย อาจไม่ใช่สิ่งสูงส่งบริสุทธิ์

แต่วันวานถึงวันนี้ที่มีมนุษย์ ก็นับว่าดีที่สุดที่เรามี (น.50)

ตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” มีน้ำเสียงยืนยันความสำคัญของนักการเมือง ยืนยันว่านักการเมืองคือตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แม้ไม่ดีทั้งหมด แต่จำเป็นต้องมี

และหากนักการเมืองไม่ดีก็ต้องแก้ไขปัญหาในกระบวนการประชาธิปไตย

ไม่ใช่วิธี “ล้มกระดานการเลือกตั้ง”

ขณะที่บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 นำเสนอภาพนักการเมืองว่าคือมนุษย์ฉ้อฉล เจ้าเล่ห์ ไว้ใจไม่ได้ บกพร่องทางศีลธรรมจริยธรรม มีนิสัยคดโกง ทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นผู้ร้าย เป็นคนพาล เป็นนายทุนสามานย์ เป็นแบบฉบับของความเลว

ตัวบทพานแว่นฟ้า 2546-2555 จึงเต็มไปด้วยการอุปมานักการเมืองกับผีห่าซาตานสารพัดชนิด เช่นที่ปรากฏในตัวบท “ปล่อยผีไปทีเถิด” (ไพบูลย์ พันธ์เมือง. วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 2 : 236-237)

เพราะพระต้องเลือกพระธรรมะปก ผีนรกเลือกนรกเพื่อปกผี

มารเลือกมารเพื่อผยองครองปฐพี โจรไม่มีเลือกตำรวจมากวดโจร

คุณอยากรู้ดูวิสัยไทยทุกที่ จากสอสอกาลีที่ห้อยโหน

ถ้าคนดีเลือกคนดีไม่มีโคลน ไม่หยิบโยนยกคนเหม็นเห็นแก่เงิน

ที่เลือกตั้งแต่ละทีผีเต็มบ้าน เพราะยักษ์มารพาตัวห้อยหัวเหิน

หน้าตาดีแต่ผีสิงยิ่งเผชิญ มันน่าแค้นเหลือเกินเพลินเลือกโจร

ความเป็นคนเหนือความเป็นไทย

ตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” ประกอบสร้างภาพเสนอประชาธิปไตยที่เชิดชู “ความเป็นคน” (Humanity) เหนือ “ความเป็นไทย” (Thainess)

เพียงแค่จางความคลั่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความเป็นคนคงโชนชัดระบัดไสว

อย่าให้อิสรภาพอธิปไตย อยู่ต่ำใต้ความเป็นไทยจนสุดทน (น.49)

“ความเป็นไทย” ในนิยามของตัวบทนี้คือความเป็นไทยที่อิงอยู่กับชาติ ศาสน์ และสถาบันกษัตริย์

เป็นความเป็นไทยที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและจรรโลงโครงสร้างสังคมที่มีลำดับชั้น เป็นการเน้นที่ต่ำที่สูง และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรุนแรงในสังคมไทย (สายชล สัตยานุรักษ์. 2558 : ออนไลน์)

จึงกล่าวได้ว่า ความเป็นไทยในความหมายกระแสหลักดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์กับหลักการประชาธิปไตยที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค รวมถึงความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของคนทุกคน

ตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” จึงเสนอให้จางความคลั่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ลง แล้วชูความเป็นคนขึ้น

เพราะความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่เน้นลำดับชั้นสูง-ต่ำนั้นมีส่วน “กด” ความเป็นคนของประชาชนในประเทศลง สิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนก็ถูกกดให้อยู่ต่ำกว่าความเป็นไทย

ขณะที่บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 มุ่งทำให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกับ “รัฐ” หรือ “ความเป็นชาติ” และเป็นเรื่องเดียวกับ “สถาบันกษัตริย์” รวมถึง “ความเป็นไทย” และสิ่งที่ตัวบทเชิดชูสูงสุดคือความเป็นไทยภายใต้ราชาชาตินิยม เช่นที่ปรากฏในตัวบท “สิทธิของปวงชนบนแผ่นดิน” ของ วศินี ศัลยคุปต์ (วรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 4 : 156-157)

ใต้ระบอบประชาธิปไตยใต้ร่มรัฐ ใต้ร่มฉัตรวงศ์จักรีที่สูงส่ง

ใต้เอกลักษณ์หลักไทยธงไตรรงค์ ชาติยืนยงธำรงมั่นนิรันดร์กาล

วาทกรรมเชิดชูความเป็นชาติและความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมนี้ทำงานร่วมกับวาทกรรมสังคมไทยคือสังคมอุดมคติ หรือ “สังคมต้นแบบ” ที่เปี่ยมไปด้วยวิถีวัฒนธรรมอันบริสุทธิ์งดงาม

ทว่า กลับถูกทำลายให้เสื่อมถอยด้วยโลกาภิวัตน์และความขัดแย้งอันเกิดจากนักการเมืองเลว

ตัวบทจำนวนไม่น้อยจึงแสดงความอาดูรต่อการสูญสลายของสังคมไทยแม่แบบที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขตจนกินความไปถึงความเป็นชาติและความเป็นไทย

ภาพเสนอประชาธิปไตยในตัวบทเหล่านี้จึงเป็นประชาธิปไตยที่มุ่งเทิดความเป็นชาติและความเป็นไทยมากกว่าจะยืนยันหลักประชาธิปไตย เช่นที่ปรากฏในตัวบท “นี่หรือคือประเทศชาติของข้าพเจ้า” (เจริญขวัญ. รางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 10 : 171-172)

นี่หรือคือประเทศของข้าพเจ้า ล่มสลายใต้เงื้อมเงาความร้าวฉาน

สลดแสงแหว่งวิ่นทุกวิญญาณ ไม่เหลือดอกไม้บานแล้ววันนี้

นี่หรือคือแผ่นดินของข้าพเจ้า ดื่มร่ำกรำความเศร้าไปทุกที่

เปลี่ยนผ่านสู่ทุรยุค-ทุกข์ทวี สิ้นไร้วิถีอันเคยงาม

นี่หรือคือบ้านเกิดของข้าพเจ้า ความรุนแรงแฝงเร้าเข้าหยาบหยาม

ความชิงชังคั่งคุปะทุลาม เข่นฆ่ากันในนามอธิปไตย

การปะทะกันของประชาธิปไตยแบบไทย

กับประชาธิปไตยแบบสากล

กล่าวได้ว่าภาพเสนอประชาธิปไตยที่ประกอบสร้างในบทกวีพานแว่นฟ้า 2556 นั้น เป็นประชาธิปไตยแบบสากลภายใต้การกำกับของอุดมการณ์เสรีนิยม ที่เชิดชูหลักการสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ความเป็นคน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงยืนยันในหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่าง “การเลือกตั้ง” และยอมรับนักการเมือง โดยหลักการเหล่านี้ต้องได้รับการเคารพ ไม่สามารถละเว้นหรือล้มเลิกได้

ขณะที่ภาพเสนอประชาธิปไตยที่ประกอบสร้างในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 นำเสนอภาพประชาธิปไตยแบบไทยภายใต้การกำกับของอุดมการณ์อนุรักษนิยม-ราชาชาตินิยม เป็นประชาธิปไตยที่ถูกจับใส่หีบมรดกแห่งความเป็นไทย

ถือเป็นหนึ่งในมรดกที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ให้คนรุ่นหลัง วางอยู่เคียงข้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และวิถีวัฒนธรรมความเป็นไทยอันดีงามสมบูรณ์แบบ

สิ่งสูงสุดที่ประชาธิปไตยแบบนี้เชิดชูคือความเป็นชาติและความเป็นไทย ภายใต้ความสมานฉันท์ปรองดอง ทว่า ศัตรูตัวสำคัญของความเป็นชาติและความเป็นไทยที่ว่านี้คือนักการเมืองและทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ดังนั้น การจะผดุงรักษาความเป็นชาติและความเป็นไทยเอาไว้คือการทำให้การเมืองขาวสะอาด ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

ส่วนหลักการประชาธิปไตยจะล้มเลิกไปเสียก็ได้หากขัดกับการรักษาความเป็นชาติและความเป็นไทย