‘ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง’ : มองน้ำท่วม 2485 ผ่านสายตาจอมพล ป.พิบูลสงคราม (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง’

: มองน้ำท่วม 2485 ผ่านสายตาจอมพล ป.พิบูลสงคราม (1)

 

“พอเข้าถึงทุ่ง (รังสิต)…น้ำเต็มทุ่งไปหมด และเห็นแต่น้ำกับฟ้า…”

(สามัคคีไทย, 2486, 72)

 

นายกรัฐมนตรีออกตรวจน้ำท่วม

ปลายเดือนกันยายน 2485 ไม่กี่วันหลังจากน้ำเหนือไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดรอบๆ พระนคร ปทุมธานี ทุ่งรังสิต อยุธยา และพื้นที่พระนครตอนเหนือ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีออกตรวจราชการน้ำท่วมทันที

บทความของจอมพล ป. เรื่อง “ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง” เขาใช้นามปากกาว่า “สามัคคีชัย” ในปลายเดือนกันยายน เขาขับรถออกไปดูน้ำที่ทุ่งรังสิต โดยขับรถไปตามถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธิน) เขาบันทึกถึงสิ่งที่เขาพบเห็นว่า

“เวลานี้น้ำท่วมหลายจังหวัด ฉันจึงถือโอกาสออกไปดูน้ำที่ทุ่งรังสิต โดยรถยนต์ตามถนนประชาธิปัตย์ เมื่อเริ่มออกเดินทาง ฉันคิดจะไปให้ถึงสระบุรี หรือไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ แต่ต้องไปหยุดและกลับบ้านเมื่อถึงเลยสะพานข้ามคลองรังสิตประมาณ 100 เมตร ตรงนั้นน้ำท่วมถนน…” (สามัคคีไทย, 29)

เขาบันทึกต่อไปว่า “ตาม 2 ข้างถนนประชาธิปัตย์ที่ฉันผ่านไปเห็นแต่น้ำกับฟ้า มีต้นไผ่ต้นไม้เป็นเกาะห่างๆ กัน บางแห่งเป็นบุญของเจ้าของนา ยังแลเห็นต้นข้าวพ้นน้ำเขียวเป็นหย่อมๆ บ้านเรือนชาวนาบางแห่งท่วมถึงครึ่งหลัง ควายแรงงานสำคัญช่วยชาวนา ยืนในน้ำเป็นกลุ่ม บางฝูงควายเหล่านั้นยืนกลางทะเล บางแห่งก็พากันมาอาศัยบนถนน โดยเฉพาะทุ่งรังสิต แลไม่เห็นต้นข้าวเลยจนจดขอบฟ้า ดูเหมือนทะเลเวลามีคลื่นน้อยๆ” (28) ทั้งนี้ ระดับน้ำบริเวณดอนเมืองตามที่เขาสังเกตในปลายเดือนกันยายนอยู่ถึงระดับไหล่

ศรีกรุง 5 ตุลาคม 2485 ลงข่าวนายกรัฐมนตรีซื้อข้าวสารแจกประชาชน

ผู้พิพากษาคนหนึ่งแต่งนิราศน้ำท่วมไว้ว่า “แสนสงสาร ชาวนา และชาวสวน ต่างคนครวญ เพราะเสียหาย ไปหายหมื่น ต้องน้ำท่วม ซ้ำข้าวปลา ยากหากลืน แต่ยังชื่น เพราะทางรัฐ จัดช่วยไว้ หาที่แห้ง ให้วัวควาย อาศัยอยู่ ทั้งคอยดู ช่วยบรรเทา เท่าทำได้ แจกเสื้อผ้า อาหาร เจือจานไป ประทังไว้ เพื่อรอด ปลอดภัยปวง” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 37)

ต่อมาเมื่อ 27 กันยายน เขาขับรถไปตรวจน้ำท่วมที่ปทุมธานีอีก แต่ครั้งนี้น้ำท่วมถึงถนนหน้าสถานีรถไฟดอนเมืองแล้ว เขาจึงต้องเลี้ยวรถกลับเข้าไปดูว่าหน่วยราชการให้ความช่วยเหลือประชาชนแทน เขาพบว่า กองทัพอากาศนับแต่ผู้บัญชาการทหารอากาศจนถึงเจ้าหน้าที่กำลังวุ่นเรื่องทำทำนบกันน้ำอย่างเต็มที่ พร้อมเปิดให้ประชาชนต้อนควายไปเลี้ยงในบริเวณกองทัพอากาศได้เพราะเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม และมีหญ้าเป็นอาหารด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังเตรียมปลูกบ้านให้ประชาชนหนีภัยจากน้ำท่วมอีกด้วย (30)

ต้นเดือนตุลาคม หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ลงข่าวว่า นายกฯ ออกตรวจพื้นที่น้ำท่วมเตรียมการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย (ศรีกรุง, 3 ต.ค. 2485)

คอลัมภ์ “สามัคคีชัย” ในหนังสือพิมพ์ของจอมพล ป. ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สามัคคีไทย”

“ฉันกับเมีย” แทบเอาชีวิตไม่รอด

หลังน้ำท่วม 2460

การพบเห็นน้ำท่วมในปี 2485 ทำให้จอมพล ป.หวนย้อนไปถึงน้ำท่วมครั้ง 2460 ครั้งที่เขาเพิ่งเป็นนายร้อยใหม่ สังกัดทหารปืนใหญ่ว่า

“เวลานั้นฉันมีอายุ 20 ปี ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ปีนั้นมีอุทกภัยอย่างคราวนี้ ฉันอยู่ที่ลพบุรี ทุ่งนาในจังหวัดนั้นกลายเป็นทะเล มีคลื่นน้อยๆ เหมือนกัน ทางรถไฟจมน้ำหมด ผู้คนต้องหนีน้ำกันไปอยู่ตามตีนเขาก็มี อยู่บนทางรถไฟก็มี สุดแต่มีดอนน้ำไม่ท่วมที่ไหน ที่นั่นเป็นสวรรค์ของชาวนา กินในน้ำ นอนแช่น้ำ เป็นของผจญภัยธรรมดา พอสิ้นภัยจากน้ำท่วม ก็พบภัยข้าวของแพง อดข้าวก็มี เพราะข้าวมีราคากระสอบละ 40-50 บาท”

เขาเล่าต่อว่า หลังจากผจญน้ำท่วมแล้ว ยังต้องพบไข้หวัดสเปนระบาดว่า

“ต้นฤดูหนาวไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดใหญ่ ผู้คนตายเป็นจำนวนไม่น้อย ฉันกับเมียก็เจ็บด้วยถึงเพ้อ นึกว่าไม่รอด แต่หัวยังแข็งอยู่ เลยทนมาได้พบอุทกภัยครั้งที่ 2 นี่อีก” (31)

น้ำท่วมทุ่งนา

ตามนายกฯ ไปตรวจน้ำท่วมทางเรือ

ต้นตุลาคม เขาออกตรวจราชการน้ำท่วมทางเรือ ล่องทวนลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปถึงปทุมธานี ในเวลาราวเกือบเที่ยงคืน เขาบันทึกว่า “ฉันมีโอกาสได้ดูน้ำท่วมจริงๆ แม่น้ำกระแสน้ำไหลแรงพอใช้…เรือที่ฉันโดยสารต้องแล่นฝ่ากระแสน้ำหย่างแรงตลอดทาง…ฉันผ่านสพานพระราม 6 น้ำไหลปะทะสพานแรงมาก…บ้านเรือนราศดรมากหลังจมน้ำลงมิดครึ่งหลังคาก็ดี ที่ไม่ท่วมถึงพื้นก็มีมาก” (64-65)

จังหวัดแรกที่เขาแวะตรวจ คือ “นนทบุรี ฝนกำลังตก ฉันได้รับเกียรติยสได้พบและสนทนากับผู้บันชาการเรือนจำบางขวาง คลังจังหวัดรักสาการแทนข้าหลวง นายอำเพอเมืองนนทบุรีและข้าราชการอื่นๆ ทุกท่านได้เล่าถึงการสู้กับน้ำหย่างสนุก ฉันฟังแล้วเหนื่อยแทน หน้าดำ ตัวดำ เปนรอยเสื้อ” (65)

จากนนทบุรีแล้ว “ฉันมาถึงเมืองปทุมธานีดึกแล้ว ตลอดทางฉันอาสัยไฟฉายของเรือส่องดูบ้านพี่น้องของเราตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีสภาพน่าสงสาร บางบ้านจมน้ำถึงครึ่งหลังคาก็มี” (67) ที่ปทุมธานี ปลัดจังหวัดแจ้งว่า จังหวัดจัดแพซุงให้ประชาชนพักอาศัย และแจกข้าวสารไปแล้ว 650 กระสอบ สำหรับความช่วยเหลือประชาชนที่ทุ่งรังสิตนั้น กระทรวงมหาดไทยส่งเรือบรรทุกอาหารไปแจก ส่วนกลาโหมส่งเสื้อผ้าและอาหาร

เขาเล่าต่อว่า “ดูการช่วยเหลือคราวนี้เปนไปด้วยดียิ่ง พร้อมเพรียงกันดีมาก ข้าราชการที่นี่ตื่นแต่เช้ามืด จ่ายข้าวสารกันเรื่อย ฉันเห็นแล้วรู้สึกโล่งไจโล่งอก ที่สำคัญไม่มีใครจมน้ำตายเลย อดอาหารถึงเปนอันตรายก็ไม่มี” (68-69)

ต่อมากลางเดือนตุลาคม เขาไปตรวจราชการทางเรือยังปทุมธานีอีก เขาเล่าว่า “เมื่อ 2-3 วัน ฉันได้ไปอำเพอลาดหลุมแก้ว ห่างจากสาลากลางจังหวัดปทุมธานี ประมาน 13 กิโลเมตร โดยเรือยนต์เร็ว พอเข้าถึงทุ่ง ฉันนึกว่าฉันไปปากน้ำเจ้าพระยา เพราะน้ำเต็มทุ่งไปหมด และเห็นแต่น้ำกับฟ้า…ผลจากน้ำลึก 2 เมตรนี้จะนำความเดือดร้อนมาสู่พี่น้องชาวนาและอะไรๆ อีกมากมาย” (72)

เขาเล่าว่า ในช่วงนั้น รัฐมนตรีหลายท่านแยกย้ายกันไปตรวจราชการช่วยเหลือประชาชน ต่อมา เขาบันทึกว่า เขาพบ พล.ร.ต.สินธุ์ กมลนาวิน รมต.ยุติธรรม ได้มาพบในสภาพหน้าดำ ปากคอแตกเพราะถูกลม ตากแดดหลังไปดูน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทำทำนบกั้นน้ำและระบายน้ำ ข้าวในที่ลุ่มนครสวรรค์และอยุทธยาเสียหายมาก “สงสารจังหวัดทั้งสองนี้มาก ยิ่งชาวกรุงเก่าด้วยแล้วย้อนไปดูประวัติศาสตร์ยิ่งน่าสงสารมาก…ชาวกรุงเก่ารับเคราะห์จากน้ำท่วม” (48-49)

พลันที่น้ำเหนือไหลบ่าลงมาใกล้พระนคร จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยออกตรวจราชการด้วยตนเองทันทีเพื่อสำรวจความเสียหายของประชาชน และให้กำลังใจแก่เหล่าข้าราชการในการช่วยเหลือประชาชนน้ำท่วมครั้งนั้น เขาอาจเป็นผู้นำทางการเมืองระดับสูงคนแรกของไทยที่เยี่ยมเยือนประชาชนเพื่อปลอบขวัญและหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือให้กับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

น้ำท่วมอำเภอท่าเรือ อยุธยา เมื่อปี 2460

 

 

ศรีกรุง 4 ตุลาคม 2485 ลงข่าวนายกรัฐมนตรียังคงปฏิบัติงานแม้ทำเนียบน้ำท่วมแล้ว
ชีวิตชาวนาในชนบท