Secondhand Stress ‘พลังลบ’ ส่งต่อกันได้! | จักรกฤษณ์ สิริริน

The American Institute of Stress เป็นผู้กำหนดนิยามของคำ Secondhand Stress ว่าหมายถึง “ความเครียดมือสอง”

อธิบายสั้นๆ ก็คือ “ความเครียด” นั้นเป็น “พลังลบ” ที่สามารถ “ส่งต่อกันได้” มากถึง 40% ส่วนอีก 60% เป็น “ความเครียด” ที่เกิดขึ้นจากตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากตอนเช้าเรานั่ง Taxi ไปทำงาน แล้วเจอคนขับที่อารมณ์ฉุนเฉียว ขับรถสะวี้ดสะว้าด ขับไป บีบแตรไป ด่าไป ปลดปล่อย “ความเครียด” ออกมาเต็มห้องโดยสาร

เมื่อเราถึงที่ทำงาน “ความเครียด” ที่เราดูดซับมาจากรถ Taxi ก็จะปรากฏในรูปของความบึ้งตึง ไม่ยิ้มแย้ม ไม่อยากทักทายเพื่อนร่วมงาน

จากนั้น หากเราต้องเข้าประชุม แล้วพบกับเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายที่อารมณ์ไม่ดีมาจากบ้าน หรือจากการเดินทางเช่นกัน บรรยากาศในห้องประชุมก็จะเต็มไปด้วย “ความเครียด” ที่ห้องประชุมแพร่กระจายให้แก่กัน

นี่คือตัวอย่างของ Secondhand Stress หรือ “ความเครียดมือสอง” ที่ The American Institute of Stress ได้ระบุไว้

ศาสตราจารย์ ดร. Ronald Riggio นักวิชาการด้านจิตวิทยาองค์กร ชี้ว่า แน่นอน เราทราบกันมานานว่า “อารมณ์ดี” ที่เป็น “พลังบวก” นั้นสามารถ “ส่งต่อกันได้” เช่นเดียวกัน “ความเครียด” ก็สามารถ “ส่งต่อกันได้”

“รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความรัก ความปรารถนาดีนั้น สามารถส่งต่อกันได้ ความเครียดก็เช่นกัน” ศาสตราจารย์ ดร. Ronald Riggio กระชุ่น

ศาสตราจารย์ ดร. Ronald Riggio บอกต่อว่า “ความเครียด” นั้นมี “กลิ่น”

“ความเครียดมีกลิ่นที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด ที่นอกจากจะแสดงความเครียดออกทางสีหน้าแล้ว จมูกคนเราสามารถรับรู้กลิ่นความเครียดได้” ศาสตราจารย์ ดร. Ronald Riggio กล่าว และว่า

“ความรู้สึกเชิงลบ” หรือ Negative สามารถส่งต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกดดัน ความเศร้าต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ

“รวมเรียกว่าพลังงานลบ ที่ค่อยๆ แผ่ขยายเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของเรา เราจะได้รับความเครียด ที่ทำให้เราเครียดตามไปด้วย”

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Secondhand Stress หรือ “ความเครียดมือสอง” นั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. Ronald Riggio ทิ้งท้าย

คําหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับ “ความเครียดมือสอง” ที่เราคุ้นเคยก็คือ “ควันบุหรี่มือสอง” หรือ Secondhand Smoke

ที่มีงานวิจัยระบุว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่เป็นมะเร็งจากการรับควันบุหรี่มือสอง

เช่นเดียวกับ Secondhand Stress หรือ “ความเครียดมือสอง” ที่เกิดอาการ “เครียด” จากการรับ “พลังลบ” หรือ “ความเครียด” จากคนรอบข้าง

ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff จิตแพทย์ชื่อดัง เจ้าของหนังสือ The Empath’s Survival Guide กล่าวว่า เวลาที่ฝ่ายหนึ่งเกิด “ความเครียด” จะกระจาย “ความหนักใจ” ไว้ให้อีกฝ่าย

“โดยมาก ฝ่ายที่ระบายความในใจออกมามักรู้สึกดี ในทางกลับกัน ฝ่ายที่รับฟังจะรู้สึกแย่แทน เพราะต้องรับฟังเรื่องราวหนักใจเหล่านั้น” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff กล่าว และว่า

ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ การที่เราเข้าไปรับรู้ปัญหาของคนอื่น หนักๆ เข้าจนกลายเป็นว่า ปัญหาต่างๆ ได้กลายเป็นปัญหาของตัวเองไปด้วย

“ความรู้สึกอิน เมื่อได้สัมผัสกับความเครียดของคนอื่น ทำให้เราเครียดไปกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง นี่คือปัญหาหลักของ Secondhand Stress” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff กล่าว และว่า

เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการรับฟัง “ความเครียด” ของคนอื่น เพราะเรายังต้องอยู่ในสังคม ทว่า ปัญหานี้สามารถป้องกันได้

“การป้องกันไม่ให้พลังลบเหล่านั้นเข้ามาในใจเรา ต้องระมัดระวังการฟังเรื่องร้ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟังแล้วให้รีบตอบ หรือช่วยให้คำปรึกษาทันที”

อย่าเก็บกลับเอามาคิดต่อจนเรื่องเหล่านั้นกลายมาเป็นปัญหาของเราเอง ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff สรุป

การตั้งรับกับ “ความเครียดมือสอง” นอกจากการปรับระดับการฟังแยกเป็น 2 กระบวนการ คือฟังแล้วช่วยทันที กับนำกลับมาคิดตรึกตรองเพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกแล้ว

การรักษาระยะห่าง แต่ยังไม่ถึงกับการตั้งกำแพง ก็เป็นอีกวิธีในการรับมือกับ “ความเครียดมือสอง” ได้อีกกระบวนการหนึ่ง

“เราสามารถจัดการกับความเครียดมือสองได้ไม่ยาก หากมีการบริหารอารมณ์ และความรู้สึกของตนเองอย่างเหมาะสม” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff กล่าว และว่า

แม้จะปล่อยวาง แต่ต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี มีเจตจำนงช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ให้กำลังใจอย่างซื่อตรง แต่อย่าถลำลึก เอาเรื่องของคนอื่นมาเครียดเอง

“ต้องหมั่นเสริมพลังบวกให้ตัวเองเสมอ เพราะธรรมชาติคนเรามักมีความรู้สึกสงสาร และเห็นใจผู้อื่น ยิ่งได้รับรู้ ว่าคนรอบตัวกำลังประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็ยิ่งง่ายที่เราจะรับเอาพลังลบนั้นมาด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff กล่าว และว่า

การฝึกคิดบวก และหาข้อดีให้กับเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางในการป้องกัน “ความเครียดมือสอง” ได้

เมื่อใดที่เรารู้สึกว่า “เริ่มจะเครียดตามแล้วนะ” จาการได้รับฟังความเครียดของคนอื่น ให้ปลีกตัวออกไปโดยเร็วที่สุด เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และความรู้สึกอย่างด่วน

“วิธีนี้เป็นการสร้างสติ และสมาธิให้กับตนเอง นำไปสู่การแยกแยะว่าปัญหาใดควรฟังแล้วผ่าน ปัญหาใดควรให้ความใส่ใจ ปัญหาใดควรเก็บมาคิด และปัญหาใดควรปล่อยวาง”

วิธีนี้จะช่วยให้จิตใจของเราสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และจ่อมจมอยู่กับเรื่องเครียดของคนอื่น ศาสตราจารย์ ดร. Judith Orloff สรุป

ศาสตราจารย์ ดร. Susan David ผู้ก่อตั้ง Institute of Coaching at McLean Hospital เผยว่า “ความเครียด” มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลต่อเป้าหมาย และความสำเร็จขององค์กร

“ความเครียด” ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน สิ่งนี้เป็นเรื่องรูปธรรมที่สามารถวัดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุ หรืออัตราการเจ็บป่วยจากการทำงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณความถี่ของการขาด ลา มาสาย ของพนักงาน มีอัตรส่วนที่เพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ

บุคลากรในองค์กรขาดขวัญและกำลังใจ ส่งผลกระทบถึงคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการ ที่จะถดถอยลง จากการทำงานที่ก้าวก่ายกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ชัดเจนด้านการสื่อสาร หรือกระบวนการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมในการทำงาน และบรรยากาศในการทำงานที่ไม่ดี ศาสตราจารย์ ดร. Susan David กล่าว และว่า

ทางแก้คือ การเปลี่ยนวิธีปะทะกับ “ความเครียด” เสียใหม่ คือแทนที่จะมองว่า “ความเครียด” เป็น “ปัญหาระดับภัยคุกคาม”

ให้ปรับมุมคิดใหม่ ว่า “ความเครียด” หรือ “ปัญหา” เป็นโอกาสที่จะทำให้คนรอบข้างรับรู้ได้ถึง “จิตใจที่ดี” ที่เรามอบให้ ผ่าน “สายตาแห่งความเข้าใจ”

ว่า “ทุกความเครียด” หรือ “ทุกปัญหา” คือ “ความปกติของชีวิต”

นั่นคือ “เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป”

จากนั้น ให้สร้าง Mindset เชิงบวก ที่จะช่วย Boost พลังบวก เพื่อสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าด้วยความคิดเชิงบวก

สุดท้ายคือการสร้าง Antibodies เชิงบวก เพื่อลด Secondhand Stress ให้กับตัวของเราเอง ทันทีที่รู้ว่า เรามีแนวโน้มที่จะได้รับ “ความเครียดมือสอง”

ด้วยการแสดงออกแบบตรงกันข้าม กล่าวคือ แสดงกิริยา เช่น “การตอบกลับด้วยรอยยิ้ม” หรือ “การพยักหน้าแสดงความเข้าใจ” และ “เห็นอกเห็นใจ”

แทนคำถามยืดเยื้อ หรือการสะท้อนอารมณ์ร่วมด้วยท่าทางเชิงลบ เช่น หน้าตาบูดบึ้งกลับไป

เป็นการสร้าง Antibodies เพิ่ม “พลังบวก” ให้ตัวของเราเอง เพื่อป้องกัน Secondhand Stress หรือ “ความเครียดมือสอง” ศาสตราจารย์ ดร. Susan David ทิ้งท้าย