โอลด์ โปลิศ เนเวอร์ดาย อดีต รอง ผบ.ตร. ‘วินัย ทองสอง’ ถอดบทเรียนกราดยิงหนองบัวลำภู ชูโมเดลทำสงครามยาบ้า

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร

 

โอลด์ โปลิศ เนเวอร์ดาย

อดีต รอง ผบ.ตร. ‘วินัย ทองสอง’

ถอดบทเรียนกราดยิงหนองบัวลำภู

ชูโมเดลทำสงครามยาบ้า

 

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ (อดีตรอง ผบ.ตร.) ระบุว่า ต้องนำกรณี “กราดยิงหนองบัวลำภู” มาถอดบทเรียนทำการศึกษา เพื่อไม่ให้เหตุการณ์สุดสลดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่พวกเขาจะต้องโตมาเป็นพลเมืองของประเทศ

โดยมองเรื่องนี้ใน 3 ประเด็น คือ 1.ตัวบุคคล 2.ยาเสพติด 3.อาวุธปืน

ประเด็นแรก อยากฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทำการศึกษา หาสาเหตุให้ได้ว่าสาเหตุจริงของการก่อเหตุสลดนี้มาจากอะไร อย่างคดีทั่วไปต้องมีสาเหตุ เช่น ความแค้น การทะเลาะวิวาท การขุ่นเคือง การถูกหักหลัง เรายังหาเหตุไม่เจอว่าทำไมถึงทำกับเด็กจำนวนมาก

ตร.ต้องตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ ผู้มีความรู้จิตวิทยาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำการศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง แล้วถอดบทเรียนนำเรื่องนี้มาย้ำเตือนสังคม เช่น ถ้าเป็นโรค เราควรป้องกันอย่างไร?

อยากให้ ตร.ให้ความสำคัญกับการศึกษาหาเหตุ แล้วนำผลมาแจ้งให้กับสังคม สาธารณชนได้รับทราบ

ต่อมาปัญหายาเสพติด ผมถือว่าขณะนี้เป็นภัยอันตรายร้ายแรง เป็นมูลฐานของการก่ออาชญากรรมรุนแรงเกือบทุกประเภท

การปราบปรามยาเสพติดต้องฝากถึงรัฐบาลว่า ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้ทำแค่เฉพาะวันนี้หรือพรุ่งนี้ หรือมีเรื่องทีแล้วค่อยทำ ต้องดำเนินการกันต่อเนื่องตลอดไปทั้งปี เพราะยาเสพติดไม่มีวันหมด แต่สามารถทำให้ลดน้อยลงได้

แต่ทางรัฐบาลหรือผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญเลย การจับกุมในระดับล่างปล่อยปละละเลยทำให้ระบาดไปทั่ว ในอดีตจากที่ราคาเม็ดละ 300-400 บาท ยุคนี้เม็ดละไม่ถึง 10 บาท สามารถหาซื้อได้ง่าย วาระการปราบปรามผมถือว่า ตร.ต้องให้ความสำคัญจริงจังต่อเนื่องตลอดไป

ถามว่าการปราบปรามตอนนี้ควรทำอย่างไร หัวใจอยู่ที่ระดับสูงให้ความสำคัญ ระดับล่างก็ต้องทำเต็มที่ ต้องดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กระทรวงมหาดไทย-สาธารณสุข ต้องเอ็กซเรย์พื้นที่เล็กๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไล่มาถึงจังหวัด แล้วต้องเข้มงวด

ขณะนี้กฎหมายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ผมเองก็เห็นด้วย แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานแต่ละส่วนก็มีงบประมาณไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง บุคลากรทางการแพทย์ พอตำรวจจับไปส่งโรงพยาบาล ภารกิจแพทย์พยาบาลหนักอยู่แล้ว เลยทำได้เพียงแค่จ่ายยากลับบ้าน จึงต้องทบทวนมาตรการระดับล่างให้มาก

การปราบปรามที่ได้ผลที่เคยทำกันมาคือการจับกุมผู้เสพแล้วขยายผลไปจับกุมผู้ค้าย่อย ไล่ไปสิบกว่าทอด ทำให้หมดไปในเขตก่อน หมดในตำบลในหมู่บ้าน ทำให้หาได้ยากขึ้น

ด้วยความที่ปล่อยปละละเลยทำให้ยาเสพติดขณะนี้หาง่ายยิ่งกว่าร้านสะดวกซื้อ ทั้งถูก ทั้งหาง่าย เมื่อประชาชนหาง่ายจึงมักเจอข่าวลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่ อาละวาด เมายา คลั่งทุบรถ ขอย้ำว่าต้องฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจังต่อเนื่อง

 

ส่วนบุคลากรที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่ติดยา อดีตเราเคยมีการตรวจปัสสาวะเจ้าหน้าที่ มีการลงโทษ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่เสียเองถือว่าใช้ไม่ได้ แล้วก็มีบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ไปรู้เห็น กับขบวนการ หลิ่วตา ไม่จับกุม มีผลประโยชน์

แรกๆ ผมไม่เชื่อ หลังๆ มาผมเริ่มเชื่อแล้ว เพราะว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนเข้าไปมีพฤติกรรมพัวพัน ต้องจัดการให้ออกจากราชการให้ไวที่สุด อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่าง

 

สําหรับมาตรการด้านอาวุธปืน การตรวจสอบการขออนุญาต ในความจำเป็นที่จะมีอาวุธ ผมว่าขณะนี้ของ่ายเกินไป กระบวนการตรวจไม่ค่อยเข้มงวดสมบูรณ์

เมื่อขอได้ง่าย จึงทำให้อาวุธอยู่ในมือประชาชน อยู่ในมือเจ้าหน้าที่ที่เกษียณไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าทาง มท. กับ ผบ.ตร. ต้องคุยเรื่องกระบวนการแล้วว่าต้องมีใบรับรองแพทย์ด้านจิตเวชด้วย ซึ่งกระบวนการตรวจสอบหากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสำหรับผู้ถือครองอาวุธปืนต้องมี เพื่อทำการยึดปืนจากผู้ที่มีแนวโน้มก่ออาชญากรรมได้ หลักใหญ่ๆ ของปัญหานี้คือการตรวจสอบ อดีตเราจะเห็นว่าทุกเดือน แต่ละกองบัญชาการมีการกวาดล้างอาวุธ เอาอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องออกจากสังคม

นี่ก็เท่ากับว่าเป็นการตัดเครื่องมือก่อการกระทำผิดได้แล้ว จึงต้องนำเรื่องนี้ดำเนินการต่อเนื่องจริงจัง

 

ส่วนที่กระแสสังคมมีการพูดถึงสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กับวาทกรรม “ฆ่าตัดตอน” ในช่วงนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดนั้น มองว่าวาทกรรมนั้นเป็นเรื่องแบ่งสี ใส่ร้ายโจมตีกัน การไปเอาคนที่ถูกยิงตายโดยที่ยังไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดคือใคร แล้วเหมารวมว่าในนโยบายปราบยาเสพติดและโจมตีเป็นการฆ่าตัดตอน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ซึ่งในพันกว่าคดีที่มีการพูดกันนี้ ถ้าใครมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำมาบอกผมเลย หรือไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการเลย

นี่คือขบวนการใส่ร้ายนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดที่มีการปราบปรามอย่างเข้มงวดสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ เพราะเดิมสมัยนั้นการปราบปรามผู้ค้ารายย่อย-รายใหญ่ ถูกจับกุมมากที่สุดในประเทศไทย แต่ตอนนี้หลังจากนั้นผ่านมา มีการใส่ร้ายสร้างวาทกรรม ซึ่งจริงๆ แล้วช่วงที่ผมรับราชการมา ผมไม่เคยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ไปอุ้มไปยิงเขาไม่มี

ดังนั้น โมเดลการแก้ไขปัญหายาเสพติดตอนนี้ต้องเริ่มจากรัฐบาล-ตร.ต้องประกาศเจตนารมณ์สงครามเอาจริงจัง ต้องไปบังคับถึงผู้ปฏิบัติระดับล่างไล่จากหมู่บ้านขึ้นมาเลย

การนำภาคประชาชน ข้าราชการส่วนต่างๆ มามีส่วนร่วมปรึกษาหารือกัน ก็จะโปร่งใส เพราะปัญหาในระดับหมู่บ้านไม่มีใครรู้ดีกว่าชาวบ้าน รายใหญ่ก็ให้กองบัญชาการไปขยายผล

ผมคิดว่าที่ผ่านมาระดับบนไม่เอาจริง ข้าราชการระดับล่างๆ บางส่วนที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับขบวนการ ต้องเข้าไปพิสูจน์ทราบ ดำเนินคดี ถ้ามีมลทินต้องไล่ออก ไม่ให้มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ยังคงดำรงอยู่ ต้องจัดการให้สิ้นซาก

อดีตรอง ผบ.ตร.มองว่า นโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณเป็นโมเดลต้นแบบปราบปรามที่ได้ผล แต่ในขณะนี้มีบางส่วนที่ต้องเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัย แต่หัวใจคือ “รัฐบาล” ที่ต้องประกาศสงคราม

 

ส่วนการปฏิรูปตำรวจ พล.ต.อ.วินัย บอกว่าไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่อยากปฏิรูปตำรวจ ข้าราชการตำรวจเองก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูป หลังจากรัฐประหารมา 8 ปีรัฐบาลนี้จัดตั้งคณะศึกษาหาวิธีการที่จะทำให้สำนักงานตำรวจชาติดีขึ้นถึง 6 คณะ ปรากฏว่ามีการเสนอแนะวิธีการแก้ไขรัฐบาลก็ไม่ได้นำมาใช้ สุดท้ายตั้ง อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีคำถามว่าปฏิรูปตำรวจอย่างไร? นอกจากนี้ กฎหมายกว่า 60% เอามาจาก พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 ผ่านสภาแล้วก็ยังไม่มีการประกาศใช้

นายกสมาคมตำรวจมองว่า จริงๆ แล้วตำรวจไม่ได้มีปัญหาเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่กฎหมาย-โครงสร้าง ที่ผ่านมาต้องพูดกันตามจริงว่าตำรวจมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม / การบริการในสถานีในโรงพักที่มีไม่เหมาะสม การรีดไถ การรับประโยชน์ พนักงานสอบสวนไม่รับทำคดี หรือไปถึงที่เกิดเหตุช้า จราจรไม่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเน้นแต่จับกุม ปัญหาตำรวจมีอยู่แค่นี้ ไม่ต้องรอกฎหมาย

หากใจอยากปฏิรูปตำรวจพรุ่งนี้ทำได้ทันที

 

ถามว่าพฤติกรรมของตำรวจที่ตกต่ำลงในทุกวันนี้สาเหตุใหญ่มาจากผู้มีอำนาจปล่อยให้มีการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างมโหฬารใช่หรือไม่

ซึ่งการซื้อขายตำแหน่ง มันก่อให้เกิดผลเสียคนที่เขาตั้งใจทำงาน คนดีที่ตอบสนองเรื่องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนไม่ได้มีโอกาสเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน แต่พวกรีดไถชาวบ้านพอมีเงินเอาเงินไปซื้อตำแหน่ง ไอ้พวกที่ซื้อตำแหน่งเข้ามาทำงานไม่เป็น

ถามว่าในขณะนี้ 8 ปีที่มีการปล่อยให้มีการซื้อขายตำแหน่งกันมากมาย ทำให้ตำรวจที่ตั้งใจทำงานและไม่ได้รับการดูแลเขาเกิดความท้อแท้ไม่มีกำลังใจ ดังนั้น ถ้าถามว่ากระบวนการนี้หากจะปฏิรูปตำรวจจริงสิ่งแรกคือต้องยกเลิกการซื้อขายตำแหน่ง

ต้องให้คนทำงาน-ดีไปเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ ขณะนี้โรงพักก็มีกำลังพลเหลือแค่ 40% บางแห่งมีสายตรวจแค่ 3 สาย จากเดิม 6 สาย อดีตรับแจ้งเหตุไม่เกิน 5 นาทีถึง แต่ปัจจุบันด้วยกำลังพลที่น้อยลง บวกกับพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางขึ้น กว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุเกิน 20 นาทียังไม่ถึงที่เกิดเหตุเลย

ดังนั้น ถ้าถามว่าขณะนี้หัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจคือจัดหาคนดีมาเป็นหัวหน้าหน่วย แล้วต้องสนับสนุนโรงพักให้มีกำลังคนที่เพียงพอมีวัสดุอุปกรณ์มีงบประมาณให้

ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไรถ้าผู้มีอำนาจไม่จริงจังไม่จริงใจมันปฏิรูปไม่ได้หรอก ทำตามที่ผมกล่าวมาได้ ไม่เกิน 6 เดือนจะรู้ผลแล้ว ไม่ต้องออกกฎหมายหรอก ตำรวจไม่ได้มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ผมเชื่อว่าเรื่องพฤติกรรม คิดว่าตอนนี้ติดอย่างเดียวคือผู้มีอำนาจไม่สนใจ และที่เลวร้ายที่สุดคือการเอาตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปซื้อขายกันอย่างมโหฬาร แล้วเอาคนอาวุโสไม่ถึงไม่มีผลงาน ไม่มีความตั้งใจในการทำงาน ไม่มีความเสียสละ ไม่มีคุณธรรมมาเป็นหัวหน้าหน่วย

เมื่อคนพวกนี้เสียตังค์มาวันแรกที่เขาต้องทำคือต้องหาทุนคืน วงจรแบบนี้ตัดได้ง่ายๆ คือผู้มีอำนาจปัจจุบันนี้นายกรัฐมนตรี ผบ. ตร.ต้องจริงจัง ปากกับใจตรงกัน ผมเชื่อว่าตำรวจที่ดีมีมากกว่าตำรวจที่ไม่ดี 6 เดือนทำได้แน่นอน

ที่ผ่านมาพอองค์กรตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ผมก็รู้สึกหดหู่และสงสารน้องๆ ที่เขาตั้งหน้าตั้งตาทำงานแต่ถูกคนที่ใช้เงินและผู้บังคับบัญชาเอาตำแหน่งพวกนี้มาซื้อขาย ผมเคยถามว่าตำแหน่งพวกนี้มันตำแหน่งพ่อตำแหน่งแม่ใครของมึงหรือไง? จะเอามาขาย มันเป็นตำแหน่งของราชการเป็นส่วนรวมเอามาซื้อขายได้ อย่างไรตรงนี้ต่างหากต้องเลิก!

หาคนที่ดีที่เหมาะสมเข้ามาต้องปฏิรูปที่โรงพัก

ชมคลิป