แก๊งอาชญากรรมจีน กับกลโกงออนไลน์

เทศมองไทย

 

แก๊งอาชญากรรมจีน

กับกลโกงออนไลน์

 

รายงานที่ดิ อีโคโนมิสต์ ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมาแม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง ตรงที่ให้รายละเอียดทั้งของคนที่ “ถูกหลอก” เป็นเหยื่อ เพื่อทำหน้าที่ “หลอกเหยื่อ” ที่เป็นเป้าหมายต่อไป ทำรายได้ให้กับแก๊งอาชญากรจากประเทศจีนในแต่ละปีเป็นเงินมหาศาลอย่างที่คาดคิดกันไม่ถึง

กลโกงเก่าใหม่ผสมผสานกันดังกล่าว ในเมืองไทยรู้จักกันในชื่อ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” แต่เรียกกันเป็นสากลว่าเป็นการ “สแคม” (Scam) ซึ่งอีโคโนมิสต์ระบุว่า ได้ยกระดับจากโลกออฟไลน์ทั่วๆ ไป ขึ้นสู่โลกออนไลน์ แสวงหาเหยื่อครอบคลุมได้กว้างขวางกว่า ทำเงินได้มากขึ้นกว่าที่เคย

จนเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แม้กระทั่งสหประชาชาติต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว

อีโคโนมิสต์หยิบยกเรื่องของ “มิสเตอร์ ตัน” ชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปีที่ถูกหลอกด้วยเงินเดือนเดือนละ 2,588 ดอลลาร์ หรือเกือบแสนบาท แต่แล้วก็กลายเป็นเหยื่อถูกกักขังให้ทำหน้าที่หลอกเหยื่ออื่นๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนร่วมชาติหรือเหยื่อในประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ได้รับทั้งเงินและอิสระ เพราะถูกกักขังอยู่ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา

ตันเล่าว่า รีสอร์ตหลายหลังเหล่านี้คือสำนักงานของแก๊ง มียามอาวุธครบมือลาดตระเวนโดยรอบตลอดเวลา กำแพงมีรั้วลวดหนามขึงป้องกันการหลบหนี จำต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำใจ ฝึกฝนกลโกงฉ้อฉลต่างๆ เป็นเครื่องมือทำเงินให้กับแก๊งไป

แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ตันเล่าว่า เมื่อเริ่มรับการฝึกเขาได้รับชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียปลอม, โทรศัพท์มือถือ 10 เครื่อง พร้อมกับรายชื่อของเหยื่อที่เป็นเป้าหมาย มีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน, คู่สมรส ญาติพี่น้องและการศึกษาพร้อมสรรพ

นอกจากนั้น ยังมี “บทพูด” ให้ต้องจดจำ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับเหยื่อแต่ละราย, ข้อมูลที่เป็นทั้งภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อให้จดจำเป็นข้อมูลปลอมของตัวเอง เป็นต้น

ดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า กรรมวิธีที่ใช้หลอกลวงในเวลานี้ปรับเปลี่ยนไป ไม่ใช่การหลอกให้โอนเงินให้โดยตรงอีกต่อไป แต่ใช้วิธีหลอกให้ลงทุนในรูปของคริปโตเคอร์เรนซีแทน ครั้งแรกๆ อาจถอนเงินคืนได้บางส่วน แต่ยิ่งลงทุนต่อเนื่องไปก็จะยิ่งสูญเสียเงินมากขึ้นตามลำดับ เพราะตัวตนปลอมของคนที่หลอกให้ลงทุนนั้น หายวับไปกับตาแล้ว

อีโคโนมิสต์อ้างข้อมูลจาก “โกลบอล แอนตี้-สแคม ออร์แกไนเซชั่น” (Global Anti-Scam Organisation) ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือเหยื่อเหล่านี้ระบุว่า เหยื่อที่เป็นเป้าหมายถูกหลอก 1,200 คน สามารถทำเงินให้แก๊งได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์

ข้อมูลของไซเฟอร์เบลด บริษัทสืบสวนสอบสวนระบุว่า แก๊งเช่นนี้เคยสร้างความสูญเสียรวมแล้วเป็นเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2021 แต่การสูญเสียจริงๆ อาจถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ เพราะมีเหยื่อจำนวนมากเหลือเกินที่ไม่ได้เข้าแจ้งความ

องค์กรเอกชนอย่างอินเตอร์เนชั่นแนล จัสทิส มิสชั่น หรือไอเจเอ็ม คำนวณว่า แต่ละปีแก๊งเช่นนี้ในกัมพูชาสามารถทำเงินจากการหลอกเหยื่อได้มากถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ข้อมูลของเจเรมี ดักลาส ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียของสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime) ระบุว่า แก๊งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบางครั้งปฏิบัติการร่วมกับแก๊งในแต่ละประเทศ เดิมทีเคยลงทุนก่อตั้งกาสิโนเพื่อการฟอกเงินผิดกฎหมาย ต่อมาถูกทางการจีนกวาดล้างอย่างจริงจังเมื่อ 10 ปีก่อน ก็เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ เข้าไปในพื้นที่แถบตะวันออกของเมียนมา, ตอนเหนือของลาว และในพนมเปญและสีหนุวิลล์ ในกัมพูชาในที่สุด เปลี่ยนกิจกรรมหลักจากกาสิโนมาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อการหลอกลวงเหยื่ออนไลน์ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในที่สุด

ดักลาสระบุว่า เป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อเริ่มจากบรรดาชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่อยๆ ขยายออกไปจนในเวลานี้ ครอบคลุมไปถึงคนอเมริกัน, ออสเตรเลีย และยุโรปแล้ว

ต้นปี 2001 ที่ผ่านมา เป็นปีที่หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงอันตรายของแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ ทั้งจีนและนานาประเทศเริ่มกดดันกัมพูชามากขึ้นเป็นที่มาของการให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขังให้ทำหน้าที่หลอกลวงเหยื่อเป้าหมายสัญชาติต่างๆ มากมายจากหลายพื้นที่

และมีประเทศในเอเชียอย่างน้อย 8 ประเทศรวมทั้งไทยที่ออกประกาศเตือนประชาชนของตนเองว่าอย่าหลงเหลือคำหลอกลวงเรื่องงานง่ายๆ รายได้ดีเกินไปในกัมพูชา

แต่แก๊งเหล่านี้ก็ยังไม่จนแต้ม โยกย้ายเข้าไปปักหลักอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนเมียนมาและลาว

ทำหน้าที่หลอกลวงและทำเงินง่ายๆ มหาศาลของมันต่อไปอยู่ในเวลานี้