บางอย่างในความรักของเรา (30) | ท่าอากาศยานต่างความคิด

บางอย่างในความรักของเรา (30)

 

แสงแดดยามเที่ยงร้อนแรงอย่างยิ่ง ผมเงยหน้าขึ้นจากท่อระบายน้ำที่ถูกวางลงในคูขนาดใหญ่ตั้งแต่เช้า ท่อน้ำสีเทาแท่งนั้นดูจะไม่แยแสกับอากาศภายนอก มันนอนนิ่งสงบอย่างเย็นใจ ในขณะที่เพื่อนร่วมงานชาวบังกลาเทศของผมกำลังขุดดินขยายแนวท่อต่อไปจนถึงตัวอาคารระฟ้าขนาดใหญ่ แม้ประเทศสิงคโปร์จะมีต้นไม้จำนวนมาก แต่ดูเหมือนสำหรับพวกเราที่มีฐานะไม่ต่างจากแรงงานไร่ฝ้ายในอเมริกาเมื่อร้อยปีก่อน ต้นไม้เหล่านั้นหาได้มีส่วนบรรเทาความร้อนรุ่มของพวกเราเลย

พวกเราทำงานวันละสิบสองชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเพื่อเร่งมือที่จะจัดการเรื่องระบบประปาของอาคารเบื้องหน้า แต่บนถนนสายนี้มีคนงานอย่างเราไม่ต่ำกว่าห้าหรือหกจุด ช่วงเวลานั้นสิงคโปร์ดูจะเต็มไปด้วยงานก่อสร้าง ตั้งแต่บริเวณอ่าว กลางเมือง ไปจนถึงทุกตรอกซอกซอย แถบทิออง บารู ที่ผมทำงานอยู่นี้เป็นแถบที่ไม่ใช่เขตการค้าใหญ่นักแต่มีการก่อสร้างการเคหะเพื่อให้ประชาชนชาวสิงคโปร์ที่ดูจะมีปัญหาเรื่องที่ดินมากขึ้นทุกขณะจับจองพื้นที่อันน้อยนิดนี้เพื่อเรียกมันว่า “บ้าน”

ผมเงยหน้าขึ้นมองดูเครนและปั้นจั่นขนาดใหญ่ที่กำลังทำงานของมันอย่างหนักไม่ต่างจากพวกผมและอดสงสัยไม่ได้ว่า “บ้าน” ที่มีเพียงพื้นที่ไม่กี่สิบตารางเมตรและอยู่บนอาคารที่เท้าแทบไม่สัมผัสพื้นดินจะเรียกว่า “บ้าน” ได้อย่างไร

ชีวิตของคนที่เติบโตมาริมคลองพระโขนงภายใต้บ้านของตาและยายที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางทำให้ผมหวนคิดว่าพื้นที่ขนาดเล็กนั้นมีไว้เพียงเพื่อการซุกหัวนอนเท่านั้นเอง มันหาได้มีความหมายใกล้เคียงกับบ้านที่ควรจะเป็น

แต่นั่นเป็นความคิดของเด็กหนุ่มที่พบว่าอีกไม่กี่สิบปีต่อมาพื้นที่ขนาดเล็กเช่นนี้เองคือความหมายของ “บ้าน” ในเวลาถัดมา

 

การขยายตัวของประเทศสิงคโปร์ในด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นนี้ทั้งในแง่ที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์รวมถึงการจัดการเรื่องผังเมืองทำให้สิงคโปร์มีการนำเข้า “สถาปนิกและวิศวกร” จากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก

บ่อยครั้งที่ระหว่างการตรวจงานของฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง ผมได้ยินเสียงสบถเป็นภาษาไทย ไม่นับเสียงพูดคุยกันเองของพวกเขา ถ้อยคำเหล่านั้นจะดึงผมขึ้นจากงานตรงหน้าแทบทุกครั้ง จากงานขุดดิน ดัดลวด ไปจนถึงงานแบกหาม

มีบางสิ่งที่แตกต่างกันมากมายเหลือเกินระหว่างพวกเขากับผม พวกเขาไม่ต้องตากแดดตลอดวัน ไม่ต้องหาที่หลบฝนเมื่อพายุมา ไม่ต้องนั่งรถบรรทุกแออัดไปและกลับระหว่างเวลางาน ไม่ต้องคอยหวั่นใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจว่าการอยู่ในประเทศนี้ของเราถูกกฎหมายหรือไม่ ไม่ต้องห่วงว่าหากพรุ่งนี้ไม่มีแรงทำงานจะมีรายได้จากทางไหน

และสิ่งที่แตกต่างอย่างที่สุดระหว่างพวกเขากับผมคือพวกเขามีอนาคตในขณะที่ผมไม่มีมัน

สภาวะเช่นนั้นอาจนำเราไปสู่การเหยียดหยามตนเอง แต่ผมกลับใช้มันเป็นดังช่วงหนึ่งของชีวิตที่การขบคิดถึงอนาคตเป็นเรื่องไร้ความหมาย ผมกลายเป็นคนไร้รากอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะโทรศัพท์กลับบ้านเดือนละครั้งแต่ผมไม่เคยบอกที่บ้านว่าผมลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว ผมไม่เคยบอกที่บ้านว่าผมกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีทำร้ายร่างกาย

ผมไม่เคยบอกที่บ้านว่าผมได้เดินทางออกนอกประเทศ ครอบครัวของผมยังเป็นครอบครัวของผมแต่ก็เพียงในแง่ของความสัมพันธ์ ในโลกของความเป็นจริงผมสัมผัสพวกเขาได้น้อยลง ได้เบาบางลง และแทบไม่รู้สึกถึงเยื่อใยใดเลย

 

สิ่งเดียวที่ยังยึดเหนี่ยวผมอยู่กับประเทศเกิดคือการทำงานแปลและบรรณาธิการของผม ในชั่วเวลาหลายเดือนที่สิงคโปร์ เขาเป็นบุคคลเดียวที่ผมติดต่ออย่างจริงจัง งานแปลนวนิยายเรื่อง Poland คืบหน้าจนใกล้ลุล่วง และเขาเริ่มมองหาหนังสือเล่มใหม่ให้ผม ซึ่งผมก็ทำหน้าที่นั้นเช่นกัน ผมขอให้บรรณาธิการโอนค่าตอบแทนเข้าสู่บัญชีของผมที่ประเทศไทย และผมทำงานแปลอย่างบ้าคลั่ง

ผมเริ่มต้นแปลนวนิยายของนักเขียนละตินอเมริกาอย่าง คอร์ตาซ่าร์ หรือ บอร์เจส มีร้านหนังสือภาษาต่างประเทศร้านหนึ่งตั้งอยู่แถววงเวียนใกล้อาคาร YWCA ที่นั่นผมจะใช้เวลาค้นพบหนังสือใหม่ๆ ที่มีมาแทบทุกสัปดาห์

คนสิงคโปร์อ่านหนังสือกันอย่างจริงจัง การสร้างให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองทำให้การสื่อสารในประเทศนี้เต็มไปด้วยความสะดวก

คุณอาจนั่งกินข้าวมันไก่ในไชน่าทาวน์ นั่งกินแกงถั่วหรือดาลในลิตเติลอินเดีย แต่ไม่ว่าที่ใดคุณสามารถใช้ภาษาอังกฤษที่คุณมีสื่อสารกับพวกเขาได้ไม่ว่าพวกเขาจะมีดวงตาเล็กตี่หรือไว้หนวดเครายาวแตกต่างจากคุณ

แต่สถานที่เหล่านั้นไม่ว่าไชน่าทาวน์หรือลิตเติลอินเดียหาใช่สถานที่สำหรับผม ผมอาจไปเยือนมันเป็นครั้งคราวแต่สถานที่ที่ผมไปทุกสัปดาห์และกลายเป็นดังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของผมกลับเป็นอาคาร Golden Miles

ทุกวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดงานของพวกเรา ผู้คนที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดในการแลกเงินตราคือแรงงานจะพบตนเองที่นั่น หลังจากผมทราบข่าวการแต่งงานของปิ่นจากหนังสือพิมพ์ที่วางขายในร้านค้าที่นั่น ผมก็มาที่นี่ราวกับการมาโบสถ์เช่นชาวคริสต์ที่ดี ผมจะตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวในชุดที่เตรียมไว้ตลอดสัปดาห์ ผมจะเริ่มอาหารเช้าด้วยโจ๊กหรือกาแฟร้อนใส่นมข้น ไข่ลวก หรือข้าวต้ม พร้อมกับซื้อหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่มาจากประเทศไทยจากร้านของชำที่มีอยู่หลายร้านด้วยกัน

นิตยสารที่ขายดีมากที่สุดในที่นั้นคือ “คู่สร้างคู่สม” ซึ่งแทบทุกเล่มที่วางอยู่ล้วนมีคนจับจอง ผมจะขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของร้านพลิกหน้าพยากรณ์ดวงชะตาอันเป็นหน้าที่ทุกคนศรัทธาและเชื่อถือ อ่านเพื่อทราบแนวทางของชีวิตก่อนจะอุดหนุนทางร้านด้วยนิตยสาร “บางกอก” นวนิยายจำนวนมากในนิตยสารฉบับนั้นทำให้วันอาทิตย์ของผมรื่นรมย์และผ่านไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อเวลาบ่ายมาถึง ผมจะเคลื่อนตัวไปยังสวนสาธารณะในบริเวณใกล้เคียง เอนหลังเข้ากับต้นไม้ขนาดใหญ่และอ่านนวนิยายในนั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า พร้อมกับจ้องมองกลุ่มเพื่อนร่ววมชาติที่ปูเสื่อล้อมวงกันสนทนาและทานอาหารอย่างเพลิดเพลิน

วันอาทิตย์คือวันเดียวที่พวกเราปลอดจากเสียงออกคำสั่ง

วันอาทิตย์คือวันเดียวที่พวกเราปลอดจากการงานและแรงกดดัน

วันอาทิตย์คือวันเดียวที่พวกเราเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

และ Golden Miles คืออารามที่ปกป้องเราจากความกังวลทั้งปวง

 

พี่น้อยเจ้าของร้านขายของชำที่ผมอุดหนุนเป็นประจำเป็นหญิงสาววัยกลางคนที่เดินทางมาถึงที่นี่เมื่อสิบกว่าปีก่อน พี่น้อยแต่งงานกับชาวสิงคโปร์และเป็นร้านแรกๆ ที่เปิดการค้าที่นี่เป็นยุคแรกก่อนที่ Golden Miles จะเป็นดังศูนย์รวมคนไทยและแรงงานไทย

ผมได้งานใหม่จากที่นี่ บอร์ดที่ติดประกาศข้างฝาในร้านพี่น้อยคือหนังสือพิมพ์ภายในฉบับย่อม มีประกาศรับสมัครงานทั้งแรงงานชายและแรงงานหญิง ทั้งงานก่อสร้าง และงานแม่ครัว มีประกาศงานแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ (ซึ่งนั่นจะมีนานๆ ที) ประกาศสอนภาษาอังกฤษเบื้องต้น ขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง

นอกจากนี้ บนบอร์ดยังมีที่ให้เรานำเสนอว่าอยากได้อะไรให้พี่น้อยนำมาจำหน่ายบ้าง มีข้อนำเสนอตั้งแต่ไส้อั่วไปจนถึงไข่มดแดง ซึ่งอย่างหลังนั้นพี่น้อยมักเปรยเสมอว่าอยากกินก็ไปหาแยงเอาเอง สวนในสิงคโปร์ตั้งมากมาย ไม่มีใครแย่งหรอก ก่อนจะหัวเราะตามมา

ใช่ พี่น้อยเป็นคนอารมณ์ดีและนั่นทำให้พี่น้อยมีลูกค้าเดินเข้าร้านอยู่ตลอดเวลา

ช่วงเย็นหลังจากใช้เวลาในสวนผมจะเดินกลับมานั่งที่โต๊ะหน้าร้านพี่น้อย สั่งเบียร์ไทยหนี่งขวด จุดบุหรี่ฉุนของไทยขึ้นสูบ การเสพในสิ่งของเหล่านี้เป็นดังการยืนยันว่าผมเป็นคนอื่นในประเทศนี้ ผมเป็นคนอื่นที่มีรากเหง้า ผมเป็นคนอื่นที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง

ความรู้สึกอันแรงกล้านี้จะคุ้มครองเราไปได้อีกเป็นเวลาหกวันเมื่อเราต้องสลายตัวตนกลายเป็นคนอื่นไปในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ และผมคิดว่าใครต่อใครอีกหลายคนที่นั่งอยู่ในร้านอาหาร ในโต๊ะต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้ล้วนครอบครองความรู้สึกเช่นนี้ไม่ต่างกัน

 

หนึ่งในใครคนนั้นที่ผมได้รู้จักและเพิ่มความสนิทกันตามวันเวลาคือ “เคน” เขาเป็นชายหนุ่มวัยเดียวกันกับผมที่มีพื้นถิ่นเป็นคนร้อยเอ็ด

ในบ่ายวันหนึ่งที่ผมนั่งอยู่กับเบียร์ขวดที่สอง เคนถือขวดเบียร์แบบเดียวกันกับผมมานั่งลงตรงหน้า “ผมก็กินคนเดียว คุณก็กินคนเดียว เรามานั่งด้วยกันไหมจะได้สั่งกับแกล้มอะไรมากินหน่อย กินกับแกล้มคนเดียวมันไม่อร่อยเลย” ผมยิ้มรับและตะโกนเรียกพี่น้อยให้หาแหนมและยำบางอย่างมาให้เรา ในขณะที่เคนยื่นซองบุหรี่ยับยู่ยี่ของเขาให้กับผม และหลังจากผมสูบบุหรี่มวนหนึ่งจากซองของเขาหมดตัว ผมกับเคนก็ทำความรู้จักกัน

ในตอนแรกผมเย้าเขาว่าชื่อของเขาช่างเป็นภาษาต่างประเทศเสียนี่กระไร แต่เคนสั่นศรีษะ “ไม่หรอกคุณ ฝรั่งจีนแขกไม่ใช่ทั้งนั้น ตอนผมเกิดดูจะงอแงเลี้ยงยาก พ่อแม่เลยเอาไปวัดทำพิธียกลูกให้เป็นลูกเลี้ยงของหลวงพ่อที่วัด ที่ชื่อเคนนั่นมาจากคำว่า ‘ประเคน’ น่ะคุณ ไม่ใช่ภาษาต่างชาติอะไรเลย”

บทสนทนาต่อมาทำให้ผมรู้ว่าเคนเข้าประเทศนี้ด้วยกรรมวิธีและกระบวนการของนายหน้าจัดหาแรงงาน มีนายหน้าไปรับสมัครหาคนงานก่อสร้างถึงหมู่บ้านของเคน พวกเขาได้ค่านายหน้า เคนได้งาน เป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พวกนายหน้าจะสอนการใช้ชีวิตคร่าวๆ ก่อนการเดินทาง โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือการส่งเงินกลับประเทศอันเป็นสิ่งที่แรงงานทุกคนกระทำ

เคนเล่าถึงช่วงชีวิตปีแรกที่ปรับตัวที่นี่ การที่ไม่กล้าเข้าร้านของชำของคนสิงคโปร์เพราะกลัวสื่อสารไม่ได้และต้องรอวันหยุดเพื่อมาซื้อของที่ Golden Miles มีสัปดาห์หนึ่งที่สบู่หมด และเคนต้องทนอาบน้ำโดยไม่ฟอกสบู่ จะขอหยิบยืมใครก็เกรงใจว่าสบู่ก้อนเดียวยังไม่ยอมซื้อ จะเข้าร้านก็กลัวไปหมด

เขาเล่าเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขันก่อนที่ผมจะรู้ว่าเคนมาอยู่ที่นี่เป็นปีที่สองแล้ว และตอนนี้เขาเข้าร้านชำได้อย่างมั่นใจขึ้น “อย่างน้อยก็รู้แล้วสบู่มันคือ Soap เรียกชื่อมันถูกแล้ว” เขาเล่าและออกเสียงคำนั้นก่อนจะหัวเราะอีกยกใหญ่

ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเคนคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่มีเส้นกีดขวางระหว่างเรา แม้เขาจะชอบพูดกันหลังสนิทสนมว่า “นายจะอ่านหนังสืออะไรเยอะแยะ เก็บเงินไว้ซื้อเบียร์ยังปวดหัวได้สุขุมกว่า”

ผมกับเคนใช้วันอาทิตย์ด้วยกันแทบทุกสัปดาห์ ไม่นอนเล่นในสวน ก็พากันนั่งรถไฟเล่น หรือไปนั่งเล่นริมทะเลอันเป็นบริเวณที่ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่เคนเป็นแรงงาน “ทะเลที่นี่มันไม่น่าว่ายน้ำเล่นเลย สมัยเด็กๆ ผมฝันว่าจะได้เห็นทะเล แถวบ้านมีแต่ท้องนา ปลาทะเลที่ได้กินก็มีแต่ปลาทู มาที่นี่ ทะเลก็เห็น ปลาทะเลแปลกอะไรอยากกินก็ได้กินแต่กลับไม่อยากเลย นี่สินะที่เขาเรียกว่าคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า”

ผมพยักหน้ารับในขณะที่เคนนอนเอนกับพื้นมองท้องฟ้าและหลับไป ผมคิดว่าในความฝันนั้นเขากำลังบินข้ามท้องฟ้ากลับไปยังบ้านที่ไม่มีท้องทะเล •

 

ท่าอากาศยานต่างความคิด | อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]