ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (2) | พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (2)

 

เมืองเก่าอยุธยาในสมัยกรุงธนบุรีและยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีสถานะเป็นเมืองในระดับหัวเมืองจัตวา แม้ไม่ได้มีสถานะสำคัญเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ได้มีสภาพเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้างแต่อย่างใด เมืองยังมีผู้คนอาศัยอยู่สืบเนื่องเรื่อยมาโดยลำดับ

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายการรื้ออิฐจากอยุธยาลงไปสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพฯ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ทำให้สภาพของวัดวาอาราม กำแพงเมือง พระราชวัง ต่างเสียหายและหมดสภาพการใช้งาน และเมื่อปล่อยผ่านแดดฝนเพียงไม่กี่ฤดู สภาพก็ทรุดโทรม รกร้าง และปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า

ด้วยสภาพดังกล่าว แม้เมืองจะไม่ถึงกับไร้ผู้คน แต่พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยก็เหลือเพียงพื้นที่ริมแม่น้ำรอบเกาะเมืองเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ตอนใน เมื่อเวลาผ่านไป สภาพก็ไม่ต่างจากเมืองร้างเท่าไรนัก มีเพียงการเข้าไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่และผลไม้ในบางส่วนเท่านั้น

ตลอดระยะเวลา 80 กว่าปีหลังเสียกรุง การสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่หรือการบูรณะวัดเก่าในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาแทบไม่เกิดขึ้นเลย จะมีก็เพียง 2 แห่ง คือ วัดสุวรรณดาราราม ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์ใหญ่เสมือนสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ.2328 อันเนื่องมาจากเป็นวัดประจำสายตระกูลของพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นขุนนางสมัยอยุธยา

และวัดใหม่ไชยวิชิต ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (แต่บางท่านก็เชื่อว่าอาจจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4) โดยพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้โดยไม่เกินเลยไปนักว่า ช่วงเวลาเกือบ 100 ปีหลังเสียกรุงฯ พื้นที่เมืองเก่าอยุยา นอกจากการเป็นแหล่งวัสดุก่อสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็มิได้มีความสำคัญอะไรมากนักต่อชนชั้นนำสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์

 

แต่เมื่อย่างเข้าพุทธศตวรรษที่ 25 หรือกล่าวให้ชัดก็คือในสมัยรัชกาลที่ 4 พื้นที่เมืองเก่าอยุธยาเริ่มกลับมาได้รับความสนใจอย่างมากอีกครั้ง มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ขนาดใหญ่ปรากฏมากขึ้นในพื้นที่อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนี้

พระราชวังจันทรเกษม (วังหน้าในสมัยอยุธยา) ซึ่งถูกทิ้งร้างไปหลังเสียกรุง พร้อมทั้งมีการรื้ออิฐเป็นจำนวนมากลงไปใช้สร้างกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 ได้เข้ามารื้อฟื้นสถานะความเป็นวังให้กลับมาอีกครั้งเพื่อใช้เป็นที่ประทับสำหรับเสด็จมาที่กรุงเก่า โดยมีการสร้างกำแพงใบเสมาขึ้นล้อมพื้นที่ 4 ด้าน พร้อมทั้งสร้างพระที่นั่ง พลับพลา ตำหนัก โรงเรือน ตลอดจนอาคารสำหรับข้าราชบริพาร ครบสมบูรณ์

การปฏิสังขรณ์ใหญ่นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า พื้นที่เมืองเก่าอยุธยาได้กลับมามีพระราชวังสำหรับเป็นที่ประทับของกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่สูญหายไปเมื่อ พ.ศ.2310

นอกจากพระราชวังจันทรเกษม รัชกาลที่ 4 ยังเข้าไปปฏิสังขรณ์วัดอีก 2 แห่ง คือ วัดเสนาสนาราม (วัดเสื่อ) ซึ่งเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาอยู่ติดกับพระราชวังจันทรเกษม โดยในการปฏิสังขรณ์เป็นแบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งวัด

อีกวัดหนึ่ง คือ วัดสุวรรณาดาราม รัชกาลที่ 4 ได้สร้างอาคารเพิ่มหลายหลัง คือ วิหาร เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย 10 องค์ หอระฆัง และกำแพงแก้วล้อมรอบเขตพุทธาวาส

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้างปราสาทขนาดเล็กสวมทับลงไปบนซากฐานของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทภายในพระราชวังเดิมของอยุธยา พร้อมทั้งให้มีการทำจารึกชื่อกษัตริย์อยุธยาตั้งไว้ในปราสาทอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า เพียงราวสิบกว่าปีของรัชกาลที่ 4 ภายในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา มีการบูรณปฏิสังขรณ์ซากอาคารเก่าและสร้างอาคารใหม่เพิ่ม มีจำนวนรวมกันมากกว่าที่มีการปฏิสังขรณ์ทั้งหมดในช่วง 80 ปีก่อนหน้าเสียอีก

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า รัชกาลที่ 4 มีความสนใจมากกว่ากษัตริย์ต้นรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ ในการย้อนกลับมารื้อฟื้นโบราณสถานอยุธยาให้กลับมามีความหมาย (และประโยชน์ใช้สอยใหม่) อีกครั้ง

แต่คำถามที่น่าคิดคือ อะไรคือความหมายของการกระทำดังกล่าว

ภาพพระราชวังจันทรเกษมที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4
ที่มาภาพ : เพจ เรื่องเล่าจากลาดพร้าวหนึ่ง

ไม่ปฏิเสธนะครับว่า การปฏิสังขรณ์วัดหรือวังเก่าในบริบทจารีตก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การปฏิสังขรณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นมีนัยยะบางประการที่แตกต่างออกไป

เพราะในขณะที่การปฏิสังขรณ์แบบจารีต ส่วนใหญ่คือการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ที่ยังมีการใช้งานต่อเนื่องมาโดยตลอด เพียงแต่อาคารอาจมีสภาพเสื่อมโทรม หรือต้องการขยายขนาดอาคารให้ใหญ่โตขึ้นจากเดิม โดยทั้งหมดมิได้ถูก “ทิ้งร้าง” แต่อย่างใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 กลับมีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ที่ถูก “ทิ้งร้าง” โดยสมบูรณ์ มากอย่างน่าสังเกต

แน่นอน การปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วเป็นเวลานาน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งอาจจะมีอยู่บ้างในบริบทจารีตของสังคมไทย แต่ก็พบได้น้อยมาก จนผมเองก็นึกแทบไม่ออกว่ามีกรณีไหนบ้าง

ที่พอจะนึกเทียบเคียงได้อยู่บ้างก็เช่น กรณีการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาท สระบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่กรณีนี้จะว่าไป พระพุทธบาท ก็ไม่ถือว่าถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลานานสักเท่าไรนัก อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีความหมายและผู้คนโหยหาอยากไปแสวงบุญอยู่โดยตลอด (ไม่เคยถูกลืม) เพียงแต่สมัยกรุงธนบุรียังไม่มีโอกาสได้กลับมาบูรณะ พอรัชกาลที่ 1 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ได้เข้ามาทำการบูรณะให้กลับมามีชีวิตเหมือนเดิม

อีกกรณีคือ ปราสาทนครหลวง ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าปราสาทอง และถูกทิ้งร้างไป จนมี “ตาปะขาวปิ่น” เข้ามาบูรณะเมื่อ พ.ศ.2352 และรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งสร้างมณฑปและรอยพระพุทธบาท 4 รอยไว้ที่ลานชั้นบนสุดของปราสาท

แต่ถึงแม้จะปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่โครงการลักษณะนี้ก็มีเป็นจำนวนที่น้อยมาก ในขณะที่การปฏิสังขรณ์โบราณสถานทิ้งร้างของรัชกาลที่ 4 ในเกาะเมืองอยุธยามีมากถึง 3 แห่ง คือ วัดเสนาสนาราม พระราชวังจันทรเกษม และพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

ยังไม่นับรวมถึงที่พระองค์ได้ไปปฏิสังขรณ์ในลักษณะนี้อีกหลายพื้นที่ เช่น นารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี, พระปฐมเจดีย์ นครปฐม และพระราชวังบางปะอิน อยุธยา เป็นต้น

 

การย้อนกลับไปสนใจซากโบราณสถานทิ้งร้างอย่างมากมายเป็นพิเศษเช่นนี้ ในทัศนะผม คือจุดเปลี่ยนทางความหมาย ที่มีต่อซากโบราณสถานทิ้งร้างอย่างมีนัยยะสำคัญ ในสายตาของชนชั้นนำสยามที่กรุงเทพฯ

โบราณสถานเหล่านี้มิใช่ของไร้ค่า (หรือมีค่าเพียงแค่อิฐที่จะเอาไปสร้างเมืองใหม่ที่กรุงเทพฯ) อีกต่อไป แต่ตัวมันมีความหมายของการเป็น “อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” อันมีค่าในรูปแบบใหม่ ที่สามารถเสริมสร้างบารมีและสถานะของผู้ปกครองได้

ในยุคก่อนหน้า “อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” ที่มีค่าสูงสุดสำหรับชนชั้นนำ คือ การอ้างความเก่าแก่ของสายเลือดที่โยงใยย้อนกลับไปหากษัตริย์โบราณในอดีต แต่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เพียงแค่นี้ไม่เพียงพออีกต่อไป

“อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” ที่ได้รับจากซากโบราณสถาน คือ อีกหนึ่งรูปแบบและสัญลักษณ์ของบารมี สถานะ และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นนำ

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นคู่ขนานอย่างแยกไม่ออกจากการเปลี่ยนผ่านแนวคิดว่าด้วยรัฐและกษัตริย์จากบริบทจารีตสู่ยุคสมัยใหม่ และสำนึกใหม่ว่าด้วยรัฐและชาติจากโลกตะวันตกที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ

“อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” ที่แฝงฝังอยู่ในซากอิฐหินปูนตามโบราณสถานต่างๆ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการก่อรูปรัฐและชาติสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอารยธรรมที่เก่าแก่ของรัฐ เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นบ้านเมืองที่เจริญมาช้านาน ไม่ใช่พวกบ้านป่าเมืองเถื่อน เป็นอาภรณ์ประดับกายที่สื่อความหมายแห่งความศิวิไลซ์ให้แก่ชนชั้นนำ

และด้วยความหมายใหม่เช่นนี้เอง ที่ส่งผลทำให้เมืองเก่าอยุธยา (และเมืองเก่าทิ้งร้างในที่อื่นๆ ด้วย) เริ่มกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง และเป็นคำตอบให้แก่โครงการปฏิสังขรณ์มากมายที่รัชกาลที่ 4 ได้เข้าไปทำในโบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา

ทั้งหมดคือปฏิบัติการเดินทางย้อนกลับไปสำรวจเพื่อ “ค้นหา/สร้างใหม่” สิ่งที่เรียกว่า “อดีต” และ “ประวัติศาสตร์” ของชนชั้นนำสยามผ่านการปฏิสังขรณ์เมืองเก่าอยุธยา

ปฏิบัติการนี้จะขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งรายละเอียดจะขอยกไปกล่าวถึงในสัปดาห์ต่อไป

ใต้ภาพ

ภาพพระราชวังจันทรเกษมที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4

ที่มาภาพ : เพจ เรื่องเล่าจากลาดพร้าวหนึ่ง