รายงานพิเศษ : “ปฏิวัติบนสายรุ้ง” วรรณกรรมประวัติศาสตร์แห่งเดือนตุลา

รายงานพิเศษ

ปฏิวัติบนสายรุ้ง

วรรณกรรมประวัติศาสตร์แห่งเดือนตุลา

 

ปฏิวัติบนสายรุ้ง ผลงาน “ชุติมา พญาไฟ” เคยโลดแล่นในฐานะนวนิยายประจำฉบับในมติชนสุดสัปดาห์อยู่ปีกว่าเมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว แต่แล้วก็เว้นช่วงหายไปแบบไร้ร่องรอย นัยว่าผู้เขียนแอบซุ่มไปเก็บข้อมูลและฝึกฝนวิทยายุทธ์การเขียนอยู่พักใหญ่ก่อนที่จะกลับมาอีกที เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมืองแห่งเดือนตุลา อันหมายถึงช่วงเวลาระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519  ….

ส่วนหลังจากนั้น ในแนวรบจรยุทธ์ของสงครามประชาชน  นัยว่าเตรียมจะออกมาเป็นภาคที่ 2

หนังสือออกมาในจังหวะครบ 46 ปี 6 ตุลา ที่สำคัญเป็นจังหวะที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับการศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น และเริ่มหันมาสนใจ ตั้งคำถามถึงเงื่อนงำของทั้ง 2 เหตุการณ์ รวมทั้งให้ความหมายใหม่ มากกว่าแค่ชัยชนะในเดือนตุลา 2516 และความพ่ายแพ้ใน 6 ตุลา 2519

เป็นกรอบคิดใหม่หลังจากโลกก้าวผ่านยุค”สงครามเย็น”มาแล้วเนิ่นนานและข้อกล่าวหา”คอมมิวนิสต์”กลายเป็นเรื่องตลกร้ายในยุคนี้  แต่บทเรียนในอดีตที่สะท้อนผ่านการปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง การสร้างความรุนแรง นำไปสู่การเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนโดยรัฐที่ถูกทำให้เชื่อว่า”ไม่ผิดศีลธรรม” จึงสามารถกระทำได้อย่าง ”พ้นผิดลอยนวล” ยังเป็นสิ่งพึงเรียนรู้และจดจำ

เพราะสำหรับสังคมไทย สิ่งที่เคยเกิดเมื่อ 46  ปีที่แล้ว ยังสามารถวนลูปกลับมาเกิดซ้ำได้อีกเสมอ  แม้ว่าโมงยามที่ผันแปรจะกวาดต้อนเอาผู้กุมอำนาจอนุรักษ์นิยมรุ่นเก่าล้มหายตายจากไป แต่ปัจจัยที่จะหล่อเลี้ยงให้เชื้อแห่งความเกลียดและกลัวต่อพลังของสิ่งใหม่ๆ ยังคงดำรงอยู่

ชุติมา เกริ่นนำถึงความเป็นประวัติศาสตร์ของ “ปฏิวัติบนสายรุ้ง” ไว้ว่า เต็มไปด้วยสาระแห่งชีวิตของคนวัยคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ต้องผจญภัยในทางกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดแหลมคม นับตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 2516 ที่เริ่มมีการจุดชนวนที่รามคำแหง พัฒนาการสู่ 14 ตุลาที่นักศึกษาประชาชนเดินขบวนเรียกร้องและสำแดงพลังครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนนำไปสู่การนองเลือดบนถนนราชดำเนินและเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่ถนอม-ประภาสครองมายาวนานไปสู่คนอีกกลุ่ม

ชัยชนะหลัง 14 ตุลาจึงเป็นเพียงภาพลวงตาช่วงสั้นๆ เพราะในความเป็นจริงยังลงไปไม่ถึงประชาชน ประชาธิปไตยหลังจากนั้นก็ยังอยู่ในเงามืด และความรุนแรงก็เริ่มส่อเค้าจากเหตุจลาจลที่พลับพลาไชยเมื่อ 3 กรกฏาคม 2517 ก่อนค่อยๆลามไปในหลายพื้นที่และที่สุดเมื่อฝ่ายสูญเสียอำนาจตั้งหลักได้ ขบวนการขวาพิฆาตซ้ายก็กระจายไปทั่วประเทศ ก่อนนำไปสู่การล้อมปราบในธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลา 2519

ในฐานะ”ตัวจริงเสียงจริง” ผู้เขียนมุ่งเขียนเหตุการณ์จริงให้เป็นนิยาย  โดยให้ คมแสง  ศรดิษฐ์ เป็นตัวเดินเรื่อง ไล่เรียงฉากสำคัญตั้งแต่ ”ลบชื่อ 9 นศ.รามฯ” ก่อนนำสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาและความดุเดือดถึงเลือดเนื้อและชีวิตหลังจากนั้น

เขายืนยันว่าข้อมูลที่นำมาประกอบว่าเขียนตามช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริงในอดีต ตัวละครที่เดินเรื่องก็มีอยู่จริง  แม้ผู้อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ส่วนใหญ่อาจไม่รู้สาเหตุและเหตุผลเบื้องหลัง แต่จากการที่เขาได้รับการบอกเล่าจากผู้เกี่ยวข้องในภายหลัง รวมทั้งได้เอกสารหลักฐานประกอบ จึงสามารถนำมาปะติดปะต่อให้ได้เห็นแง่มุมต่างๆมากขึ้น  ดังนั้นหลายเรื่อง บางคนอาจเพิ่งมารู้เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ และอาจเห็นว่าบางประเด็นไม่ควรนำมาเปิดเผย แต่เขาก็ยืนยันที่จะเปิดเผย ด้วยเห็นว่าเวลาผ่านมานานมากแล้ว

สำหรับคนร่วมสมัย ไม่ว่าจะแค่ร่วมรับรู้ ร่วมอุดมการณ์หรือร่วมต่อสู้ อยากจดจำทุกฉากในอดีต แต่กลับลืม หนังสือเล่มนี้จะพาย้อนให้กลับไปมีตัวตนในแต่ละเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้ง  แต่สำหรับคนที่อยากลืม ไม่ว่าจะเพราะสะเทือนใจกับหลายเหตุการณ์หรือมีบาดแผลในความทรงจำ ที่ไม่ต้องการสะกิดให้ต้องเจ็บปวดอีก ก็ไม่ควรปฏิเสธที่จะหยิบจับมาอ่าน เพราะเวลาที่ผ่านไปเกือบ 5 ทศวรรษ อาจมีบางแง่มุมที่เมื่อหันกลับไปทบทวนจะได้บทเรียนและความเข้าใจในสถานการณ์มากขึ้น เว้นแต่จะมีอคติแห่งมายาภาพบางอย่างมาบดบัง

และสำหรับคนอ่านรุ่นใหม่ เชื่อว่าจะทำให้เห็นหลากบทเรียนในท่ามกลางพัฒนาการของสถานการณ์และการต่อสู้ของขบวนนักศึกษาในอดีต ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้ แต่ก็จะพบว่าการตามหาความฝันตามอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวแต่ละยุคสมัยล้วนมีเป้าหมายที่สูงส่งที่ต้องป่ายปืนไปไขว่คว้า และในชีวิตจริง ก็มีหลากรสชาติ ทั้งความขม ความหวาน ความเจ็บปวดและความตาย…