ประชาธิปไตยแมงขี้เบ้า | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ประชาธิปไตยแมงขี้เบ้า

 

ท่านวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย คุณพิสันต์ จันทร์ศิลป์ กรุณาส่งรายละเอียดเรื่อง “แมงขี้เบ้า” ที่เขียนถึงในเรื่อง “ปรบมือ โปรยดอกไม้” ไว้ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ฉบับก่อน เกี่ยวกับบทเพลงที่คุณอินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติเขียนเองและร้องเองเกี่ยวกับ “แมงขี้เบ้า” (พิมพ์ผิดเป็นแมงขี้เม้า) มาดังนี้

“…แมงกุ๊ดจี่จะวางไข่ในก้อนขี้ควายแล้วกลิ้งคลุกดินเหนียวจนเป็นก้อนกลมขนาดลูกเทนนิสฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อลูกกุ๊ดจี่ฟักออกจากไข่เป็นตัวหนอนจะกินขี้ควายเป็นอาหารในก้อนขี้เบ้านั้นจนโต จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นกุ๊ดจี่วัยอ่อนที่ยังไม่มีปีก มีสีขาวครีมสวยงาม ชาวเหนือชอบไปขุดนำมาทำเป็นอาหารอร่อย เช่น น้ำพริกมะขี้เบ้า แกงใส่ผักหละ (ผักชะอม)…”

คงต้องถามคุณพรชัย แสนยะมูล ศิลปินเขียนรูปเขียนกวีผู้ใช้นาม “กุ๊ดจี่” เหมือนกัน ว่ามีแรงบันดาลใจอะไรกับชื่อนี้

ซึ่งคุณอินสนธิ์ วงศ์สาม สรุปไว้เด็ดขาดแล้วว่า แมงพวกนี้

“เกิดมาตายเปล่า”

คือพอโผล่ออกมาจากก้อนขี้เบ้าก็ถูกนกจิกกินแล้ว

ก็และมนุษย์เราล่ะ…

 

มนุษย์ก็คือ “สัตว์สังคม” ประเภทหนึ่งซึ่งเกิดมาเพื่อ “สร้างสรรค์” และ “ทำลาย” ดูไปก็ไม่ผิดอะไรนักกับ “แมงกุ๊ดจี่” ในก้อน “ขี้เบ้า” คือกว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ถึงวันตายเสียแล้ว

บ้านเมืองเราวันนี้ก็เช่นกันต่างสร้างสรรค์ด้วยการทำลาย และคิดว่าทำลายเพื่อสร้างสรรค์กันแล้วเล่า

อ่านบทความของคุณกมล กมลตระกูล เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” อ้างถึงคำวิจารณ์ของประธานาธิบดีจีนคือ สี จิ้นผิง ว่า

“ถ้าประชาชนมีเพียงแค่สิทธิไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างทั่วด้านหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาตื่นขึ้นมาเฉพาะเมื่อเวลาลงคะแนนเสียง และเวลาที่เหลือของเขาคือเวลานอน นี่คือระบอบประชาธิปไตยเศษสตางค์ (TOKEN DEMOCRACY)”

เศษสตางค์ในที่นี้คือ เศษประชาธิปไตย ไม่ใช่เนื้อหาแท้จริงที่เป็นองค์รวมของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้

นี้เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของประชาธิปไตยบ้านเรา นั่นคือ ความเข้าใจไม่ตรงกันต่อความหมายของศัพท์ประชาธิปไตย โดยมักสรุปรวบยอดเอาเพียงว่า

“ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง”

ซึ่งก็จะเป็นดังสี จิ้นผิง ว่าไว้เท่านั้นคือ “ตื่นขึ้นมาเลือกตั้งแล้วนอนต่อ”

ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นรู้

 

เส้นทางประชาธิปไตย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับชีวิตของแมงขี้เบ้า หนักกว่านั้นคือ “เกิด-ตาย” ซ้ำซากกลายเป็น “กากเดน” ของประชาธิปไตยไม่รู้จบ

ปัญหาคือ “ตื่นตัว” แต่ไม่ “ตื่นรู้” และมักจะ “ตื่นตัว” แล้ว “ตื่นหลง” ไปตามอำนาจทุนสามานย์มากกว่าอำนาจทุนสัมมาเสียด้วย

ทุนสามานย์ คือการเอาสังคมมารับใช้ทุน

ทุนสัมมา คือการเอาทุนมารับใช้สังคม

“การมีส่วนร่วมอย่างทั่วด้าน” ดังที่สี จิ้นผิง ว่าไว้นั้นทำให้นึกถึงครั้งที่เราเคยร่วมไปจีนกับพี่ทองใบ ทองเปาด์ และพี่สุภัทร สวัสดิรักษ์ ซึ่งทั้งสองต่างล่วงลับแล้ว กับคุณแน่งน้อย ปัญจพรรค์ รวมสี่คน เย็นวันหนึ่งเขาพาไปเยี่ยมชมการประชุมชาวชุมชนหมู่บ้านหนึ่งซึ่งว่ามีเป็นประจำทุกเดือน อธิบายว่า มติที่ประชุมจะส่งผ่านตัวแทนของการประชุมแต่ละครั้ง ตามลำดับขึ้นไปถึงสภาประชาชน กระทั่งส่งกลับสู่ที่ประชุมนี้เพื่อแจ้งผลของแต่ละมตินั้นต่อไป

นี้คือ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”

ทุกความคิดเห็นของประชาชนไม่ถูกทำให้กระจายหายเป็นอากาศธาตุดังแค่นอนหลับฝันกันอยู่เพียงเท่านั้น

และนี่คือ “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วด้าน”

สี จิ้นผิง ตอกย้ำว่า

“ระบอบประชาธิปไตยเพื่อสังคม (Participatory Democracy) ไม่ใช่ใช้เป็นเครื่องประดับ แต่ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องการให้แก้”

 

เคยนิยามความหมายของคำ “ประชาธิปไตย” ว่าความหมายตามศัพท์คือ “อำนาจประชาชน (ประชา = ประชาชน + อธิปไตย = อำนาจ) ความหมายโดยเนื้อหาคือ

“อำนาจอันชอบธรรมของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก และเป็นใหญ่”

ตรงนี้ต้องขยายความคำว่า “อำนาจอันชอบธรรม” ออกเป็นสี่อำนาจ คือ

หนึ่งคือ การได้มาซึ่งอำนาจ

สองคือ การทรงไว้ซึ่งอำนาจ

สามคือ การใช้อำนาจ

สี่คือ การมีส่วนร่วมในอำนาจ

ทั้งสี่อำนาจนี้ต้อง “ชอบธรรม”

ประชาธิปไตยบ้านเรานั้น มักให้ความสำคัญแค่สามอำนาจเบื้องต้น คือ การได้มา-การทรงไว้-การใช้ และมักเหมารวมรวบทั้งสามประการไว้เป็นหนึ่งเดียวกันหมดคือ เมื่อมีอำนาจแล้วก็ถือทั้งการทรงไว้ การใช้ รวมถึงการได้มาว่าเป็น “ความชอบธรรม” ทั้งหมด

ซ้ำร้ายคือมักเพ่งเล็งเห็น “การมีส่วนร่วม” กลายเป็นความ “ไม่ชอบธรรม” ไปแทบทั้งหมดด้วย

ก็เพราะการไม่เปิดโอกาสให้ได้มี “ส่วนร่วม” โดยชอบธรรมนี่แหละกระมัง ท้องถนนจึงกลายเป็นเวทีของคน “คิดต่าง-คิดโต้”

ขณะการเลือกตั้งกลายเป็นเวทีของคน “คิดตาม-คิดต่อ”

หรือนี่คือประชาธิปไตยไทย! •

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์