‘ลิณธิภรณ์’ ร่วมย้ำสิทธิที่อยู่อาศัย ยันเพื่อไทย ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’

‘ลิณธิภรณ์’ ชี้ ทางออกช่วยคนไทยมีที่ดินทำกิน มีบ้านอยู่ ต้องเพิ่มรายได้ สร้างยุติธรรมทางกฎหมาย ลดช่องว่างสังคม

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ (World Habitat Day) ในปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Mind the Gap Leave No One and Place Behind หรือ ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเครือข่ายต่างๆ ได้จัดกิจกรรมเรียกร้อง ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดิน ทำกินให้กับคนจนเมืองและพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่จากนโยบายของรัฐ

พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรโลก ในปี 2546 รัฐบาลไทยรักไทย โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนไทยทุกกลุ่ม ทั้งบ้านเอื้ออาทร ในต่างจังหวัด และบ้านมั่นคง สำหรับคนเมือง ผ่านการทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพราะตระหนักถึงความสำคัญของ ‘คนหาเช้ากินค่ำ คนจนเมือง คนไร้ที่อยู่อาศัย’ ทั้งในส่วนของประชาชนซึ่งไม่มีที่ดินทำกินและขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัด ชุมชนผู้บุกรุก ให้เกิดการจัดการที่ดินอย่างเหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง อันเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต จนขณะนี้ผ่านมา 19 ปี โครงการบ้านมั่นคงและบ้านเอื้ออาทร ยังคงเป็นโครงการที่ถูกสานต่อมาทุกๆ รัฐบาล แต่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะพัฒนารูปแบบให้สอดรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น ทั้งที่รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านมา 8 ปี โครงการยังเหมือนเดิม ไม่เพิ่มเติมสิทธิพื้นฐานที่มากขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่โครงการเดิมที่ทำอยู่ หากเสริมศักยภาพด้านรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้มีงานทำ หรือช่องทางในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินได้ง่ายขึ้น ปัญหาคนจนเมืองและประชาชนไร้ที่ดินทำกิน รวมถึงคนไร้บ้านจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างทุกวันนี้

“พรรคเพื่อไทยยังคงให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมาโดยตลอด เพราะถือเป็นความมั่นคงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ‘ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ ไม่สามารถทำได้ด้วยการแจกเงินและกู้เงิน รัฐบาลที่ดีต้องหารายได้เป็นและส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ เพื่อให้เขามีโอกาสเลือกที่อยู่อาศัยของตนเองในแบบที่ต้องการ การบังคับใช้กฎหมายอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกเรื่อง แต่ความชาญฉลาด คำนึงถึงความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมในการจัดการปัญหาโดยไม่เลือกปฎิบัติกับคนยากจนต่างหาก ที่จะทำให้ช่องว่างนั้นแคบลง” ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าว