“จาตุรนต์” ชี้รัฐบาลรับมือภัยน้ำท่วมแบบเดิมๆไม่ได้ แนะ 7 แนวทางแก้ไขระยะยาว

อดีตรองนายกฯ สะท้อนสภาพน้ำท่วมอยุธยา ชี้ชาวบ้านทุกย์ร้อนสาหัส แต่กลับเยียวยาได้น้อยมาก ภาพซ้ำซากสะท้อนปัญหาเตือนภัย-แผนรับมือแบบที่ทำอยู่ พร้อมเสนอ 7 แนวทาง ยกระดับรับมือระยะยาว

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หลังได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบในอ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยาว่า

จากเสนา บางบาล ถึงอุบลและ 56 จังหวัดทั่วประเทศ : การรับมือกับภัยพิบัติยังไม่เป็นกระบวน

เมื่อวานที่ผมไปสังเกตการณ์การทำงานของน้องๆอาสาสมัครกู้ภัยพุทไธสวรรย์ที่อำเภอเสนา อยุธยามา พี่น้องที่นั่นก็บอกว่าที่บางบาลหนักกว่าอีกอย่างที่กำลังเป็นข่าวอยู่

พื้นที่แถวนี้น้ำท่วมทุกปี ปีนี้ท่วมมาเป็นเดือนแล้วและกำลังจะท่วมมากขึ้นและคงจะต้องอยู่กับน้ำท่วมไปอีกเป็นเดือนๆ ชาวบ้านบอกว่า “พวกเราท่วมก่อน ลดทีหลัง”

ในช่วง 2-3 เดือนที่น้ำท่วม เดือดร้อนลำบากกันมาก เสียโอกาสทำมาหากิน สูญเสียทรัพย์สิน ข้าวของพืชผล เจ็บไข้ก็ลำบาก บางคนบอกว่าต้องเฝ้าแม่ที่อายุ 80 กว่า ติดเตียงวันๆไม่ค่อยได้ไปไหน ก็คอยฟังข่าวว่าเขาจะปล่อยน้ำมาอีกมั้ย แต่ฟังแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ นึกไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเครียด สะท้อนว่าระบบเตือนภัยให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนยังมีปัญหาและการจัดระบบดูแลประชาชนที่อยู่กับน้ำท่วมนานๆยังไม่ดีพอ

การเยียวยาก็น้อยมากคือช่วยเล็กน้อยสำหรับพืชผลเสียหาย ใครไม่ได้ทำเกษตรก็ไม่ได้เงินเยียวยา ป้าคนนึงบอกว่าเมื่อวานก็มีหน่วยงานนึงเอาของมาให้เป็นมาม่า 5 ห่อ ข้าวสาร 1 ถุง

น้องๆอาสาสมัครช่วยออกตัวให้ผมว่าวันนี้มากับนักการเมืองเขาห้ามแจกของ เลยไม่มีอะไรมาฝาก ป้าๆบอกว่าไม่เป็นไรหรอก มาเยี่ยมก็ดีใจแล้ว

ชาวบ้านอยู่กับน้ำท่วมมาเป็นประจำ จึงรู้ว่าการผันน้ำ ปล่อยน้ำเข้าทุ่งให้ถูกที่ถูกเวลา จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่บอกว่าปีนี้ปล่อยน้ำเข้าทุ่งที่เป็นเหมือนแก้มลิงช้าไป ก็คือปัญหาการบริหารจัดการน้ำ

มองกว้างออกไปอีกจะพบว่ามีน้ำท่วมใน 56 จังหวัดทั่วประเทศและพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายแล้วใน 47 จังหวัดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นนาข้าวประมาณ 1 ล้านไร่ หลายพื้นที่น้ำท่วมฉับพลัน แล้วอาจลดเร็ว แต่มีหลายพื้นที่ที่จะมีน้ำท่วมนานเป็นเดือน รวมๆแล้วเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

ที่ร้ายกว่านั้นคือผู้ที่ได้รับความเสียหายมากๆคือผู้ที่ลำบากยากจนอยู่แล้วซึ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แย่ลงไปอีก

ในหลายวันมานี้ เรายังเห็นภาพประชานขนของหนีน้ำ รถจมน้ำ ข้าวของเสียหายไปกับน้ำ ต้องเร่ร่อนหาที่นอนกันอย่างฉุกละหุกทุลักทุเล ซึ่งก็สะท้อนปัญหาของระบบเตือนภัยและแผนรับมือสถานการณ์นั่นเอง นอกจากนั้นก็จะมีสภาพโกลาหลในการบัญชาการ สั่งการและประสานงานซึ่งเป็นปัญหาที่รู้กันมานานและเคยมีการสรุปบทเรียนมาเป็นระยะๆตั้งแต่คราวน้ำท่วมเมื่อปี 54 แต่การที่คนสำคัญๆของรัฐบาลลงไปพื้นที่แล้วรับฟังการบรรยายสรุปกับไปแจกของเล็กน้อยแล้วสั่งว่าให้ทุกฝ่ายทำงานให้เต็มที่ตามสูตรนั้น นอกจากไม่ช่วยให้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องคอยต้อนรับเสียเปล่าๆด้วย

ไปเยี่ยมชาวเสนากับติดตามข่าวมาตลอด แล้วก็มาค้นบันทึกข้อมูลเก่าๆสมัยน้ำท่วมปี 54 บางส่วนไม่ได้ดาวน์โหลดไว้ ก็เปิดดูไม่ได้เสียแล้ว แต่ก็ทำให้ได้ความคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว(ที่ต้องเริ่มทำทันที)ดังนี้

1.สร้างและฟื้นฟูระบบเตือนภัยที่รวดเร็วแม่นยำและทันการณ์ให้ประชาชนชนรู้ว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ใดเมื่อใดและนานเท่าใด

2.ต้องมีการวิเคราะห์ให้เห็นสภาพที่เลวร้ายสุดๆว่าจะเป็นอย่างไรและวางแผนรัฐมือกับสภาพการณ์เหล่านั้น (worst case scenario)

3.ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องเข้าใจเสียก่อนว่านี่คือวิกฤตขนาดใหญ่ที่อาจจะเลวร้ายลงไปอีก การบริหารจัดการจะเป็นแบบปรกติไม่ได้ แต่ต้องเป็นการบริหารจัดกาารท่ามกลางวิกฤต(crisis management)

4.จัดสร้างระบบบัญชาการและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอลงไปถึงหมู่บ้านมีการประสานงานบูรณาการและผู้รับผิดชอบสั่งการในพื้นที่อย่างชัดเจน

5.จัดระบบดูแลพื้นที่ที่น้ำท่วมนานๆ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งและทางราชการให้การสนับสนุนทางด้านลอจิสติคและเครื่องมืออุปกรณ์และเยียวยาอย่างเพียงพอ

6.ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาสังคม กับให้การสนับสนุนองค์กรอาสาสมัครต่างๆให้สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ

7.ระดมความคิดทุกฝ่ายเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบเพื่อสามารถกักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำ สร้างระบบส่งน้ำระบายน้ำพักน้ำเพื่อป้องกันและลดความเสียหายจากน้ำท่วม

ในปีนี้ เรายังจะต้องอยู่กับปัญหาน้ำท่วมไปอีกเป็นเดือนๆ กว่าจะจบที่ภาคใต้ก็ปลายปี การยกเครื่องการทำงานของทั้งระบบเสียใหม่ยังจำเป็นและเป็นประโยชน์ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวก็จำเป็นและต้องเริ่มวางแผนทันทีไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยๆอย่างที่เป็นอยู่ครับ