The Commoner’s House ศิลปะแห่งการเล่าเรื่องปกติธรรมดา | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอีกครั้ง

คราวนี้เป็นนิทรรศการของศิลปินที่มิตรรักแฟนคอลัมน์นี้น่าจะคุ้นเคยกันดี ค่าที่เรานำเสนอเกี่ยวกับเขามาหลายครั้งแล้ว

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า ดุษฎี ฮันตระกูล

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดุษฎีกลับมากับนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า The Commoner’s House ที่ประกอบด้วยผลงานศิลปะในสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ทั้งภาพถ่าย, ประติมากรรมเซรามิก และประติมากรรมหล่อทองเหลือง

ผลงานเหล่านี้เป็นการหลอมรวมกระบวนการทำงานศิลปะและความสนใจอันแตกต่างหลากหลายของดุษฎีเข้าไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปินกับสังคมและสภาพแวดล้อม

และนำเสนอหนทางใหม่ๆ ในการมอง การรับรู้ และการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตรอบตัว

เริ่มจากผลงานชุด Universe in a Garden ภาพถ่ายแมลงหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ ที่เราต่างก็น่าจะเคยเห็นในบ้านหรือสวนหลังบ้าน แต่อาจจะมองข้ามไป ดุษฎีจัดแสดงภาพถ่ายแมลงเหล่านี้ด้วยวิธีการปักด้วยเข็มหมุด จนทำให้เราอดนึกไปถึงการปักหมุดสะสมแมลงไม่ได้

“ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากเรื่องปกติธรรมดา คนปกติธรรมดาส่วนใหญ่ที่เป็นคน 99% ของคนในโลก (เหมือนชื่อของนิทรรศการ The Commoner’s House หรือ “บ้านของคนธรรมดา”) โดยเริ่มต้นจากประสบการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมากๆ”

“อย่างภาพถ่ายแมลงเราก็เริ่มมาจากตอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 โชคดีที่พ่อแม่ภรรยาของเรามีที่ดินอยู่กลางเมือง มีสวน มีต้นไม้ใหญ่อยู่รอบบ้าน ในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก ทุกอย่างปิดหมด ออกไปไหนไม่ได้ ด้วยความที่เป็นศิลปิน เราก็ต้องใช้สายตาหาความรู้ด้วยการดู พยายามทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตใกล้ๆ ตัว และยังเป็นกิจกรรมที่ทำกับลูกที่บ้านด้วย”

“ตอนแรกก็ออกไปหลังบ้าน ดูต้นไม้แล้วถ่ายภาพเก็บเอาไว้ พอถ่ายภาพต้นไม้ก็เห็นแมลงบนต้นไม้ ก็เลยตามสังเกตแมลงตามที่ต่างๆ ในบ้านแล้วถ่ายภาพ”

“เราพบว่าวิวัฒนาการของแมลงนี่ซับซ้อนพอๆ กับจักรวาลเลย การสังเกตแมลงทำให้เราพบว่าในพื้นที่ 100 ตารางวา ในบ้านมีห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศมากมายขนาดนี้ เราเห็นแมลง เห็นจิ้งจก เห็นต้นไม้ เห็นดิน เห็นสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูลกันในดิน เห็นน้ำ เห็นแสงอาทิตย์ เห็นระบบโครงสร้างของชีวิตนับแสนนับล้าน”

“ซึ่งสิ่งที่เราถ่ายภาพมาเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะเราเองก็เห็นได้แค่ประมาณนี้ และเราก็ไม่ได้ใช้กล้องดีเด่อะไร ใช้แค่กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่ได้มีการปรับแสงหรือแต่งสี และให้สตูดิโอ Bloom พิมพ์แต่ละภาพออกมาในรูปแบบเดียวกันกับภาพถ่ายที่เคยล้างอัดภาพมาจากร้านถ่ายรูปบ้านๆ สมัยเด็กๆ เพียงแค่เลือกว่ากระดาษชนิดไหนพิมพ์ออกมาแล้วดูผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือได้สวยที่สุด เพราะในปัจจุบันชีวิตของเราเสพสื่อผ่านอุปกรณ์ชนิดนี้เป็นส่วนใหญ่”

“สิ่งที่เรานำมาจัดแสดง เราก็เลยต้องมองผ่านเลนส์ของอุปกรณ์ที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน การได้เห็นสิ่งเหล่านี้ใจกลางเมืองในกรุงเทพฯ ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของชีวิตเยอะแยะมากมาย และทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น”

ในนิทรรศการยังมีผลงานประติมากรรมเซรามิกชิ้นเล็กรูปร่างแปลกตา ที่บ้างก็ดูคล้ายเครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ บ้างก็ดูคล้ายจานบินหรือมนุษย์ต่างดาว บ้างก็ดูคล้ายโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ

ที่น่ารักน่าชังก็คือ เมื่อสังเกตดูดีๆ เราจะเห็นขี้จิ้งจกวางแหมะอยู่บนหลายชิ้นงาน ซึ่งขี้จิ้งจกที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ขี้จิ้งจกจริงๆ แต่เป็นขี้จิ้งจกที่ทำขึ้นจากเซรามิกต่างหาก

“เซรามิกเป็นงานที่เราทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว และเซรามิกเองก็อยู่ร่วมกับวิวัฒนาการของมนุษย์มาโดยตลอด มันมีอายุเก่าแก่ประมาณ 20,000 ปี เป็นอย่างน้อย อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ทำเซรามิกเป็นภาชนะถ้วยชามโดยขึ้นรูปด้วยมือ ซึ่งส่งอิทธิพลให้วิธีการทำงานของเราเหมือนกัน”

“ส่วนขี้จิ้งจกที่เห็นอยู่บนงานเต็มไปหมด ก็เพราะจิ้งจกเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกับเรา ตอนที่เราเติบโตขึ้นมา สัตว์ชนิดแรกที่เราจำได้ก็คือจิ้งจกนี่แหละ มันเป็นตัวแทนของวงจรชีวิตในบ้านของเรา มันคอยหากินอยู่ตามหลอดไฟ ฝาบ้าน ตรงโน้น ตรงนี้ เหมือนมันใช้ชีวิตมาร่วมกับวิวัฒนาการมนุษย์มาโดยตลอด”

“จิ้งจกไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่มันก็อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ อีกอย่าง เราชอบขี้จิ้งจกอยู่แล้ว ด้วยความที่ดีไซน์มันสวย สีขาวกับดำ ดูเป็นมินิมอลที่กวนตีนดี เราก็เลยลองปั้นออกมาเป็นเซรามิกดู”

“พอทำเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็มีจิ้งจกมาขี้ข้างๆ งานชุดนี้เต็มไปหมด เราก็รู้สึกว่าเรากับจิ้งจกกำลังคุยกันอยู่ เหมือนมันมาบอกว่า ‘นี่เป็นถิ่นหากินของกู รู้หรือเปล่า? มึงอย่ามายุ่ง!’ (หัวเราะ) เป็นการทำความเข้าใจถึงวงจรชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง”

กลางห้องแสดงงานยังมีผลงานชุด People’s Sculpture ประติมากรรมทองเหลืองรูปร่างคุ้นตา เหมือนเราเคยเห็นพวกมันวางกั้นห้ามจอดรถอยู่ริมถนนหรือหน้าบ้านใครสักคนยังไงยังงั้น

“ประติมากรรมทองเหลืองเราได้มาจากที่กั้นห้ามจอดรถ DIY ที่คนเขาทำใช้กันเองหน้าบ้าน เราเห็นอะไรแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เราว่ามันมีเสน่ห์บางอย่าง ด้วยฟังก์ชั่น ด้วยวัสดุ ด้วยความที่คนปกติธรรมดาทั่วไปเป็นคนออกแบบและทำขึ้นมา โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในบ้าน ที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ทุกหนแห่ง ทั้งในประเทศไทยหรือทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นถังซักผ้า กระป๋องสี ถังน้ำมัน ท่อพีวีซี หรือกระถางต้นไม้”

“วัสดุเหล่านี้ยังบอกถึงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ว่ามีข้าวของหน้าตาแบบนี้อยู่ แต่ด้วยโครงสร้างฝังเมือง ระบบการจัดการของรัฐ ที่ทำให้ประชาชนต้องดูแลตัวเอง โดยใช้ภูมิปัญญาส่วนตัวในการสร้างอุปกรณ์ในการจัดระเบียบพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่จอดรถ”

“เรามองว่าอะไรแบบนี้เป็นสุนทรียะของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ประเทศโลกที่หนึ่งไม่น่าจะมี มันเป็นภูมิปัญญาของประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชาชนต้องจัดสรรชีวิตกันเอง ต้องพึ่งพาตนเอง ด้วยการเอาข้าวของที่มีอยู่ หรือข้าวของเหลือใช้ มาปรับใช้ให้มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่ แบบที่เขาเรียกกันว่า Upcycling จะว่าไปมันก็สะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจได้ด้วยเหมือนกัน”

“เหตุผลที่ใช้ทองเหลือง ก็เพราะเป็นวัตถุดิบที่คุ้นเคยกันในบ้านเรา เราใช้ทองเหลืองหล่อพระพุทธรูปกันมาอย่างยาวนาน เราเลยหยิบเอาวัตถุดิบชนิดนี้มาใช้เพื่อดูว่าเมื่อทองเหลืองอยู่ในรูปของวัตถุร่วมสมัยแล้วมันจะให้ความรู้สึกอย่างไร”

“อีกอย่าง ทองเหลืองก็เป็นวัตถุดิบที่ราคาค่อนข้างรับได้ เราไปทำงานประติมากรรมชุดนี้ที่โรงหล่อพระของญาติฝั่งพ่อ เป็นโรงหล่อเล็กๆ ในบ้านมะขามเฒ่า นครราชสีมา โดยใช้เศษทองเหลืองที่เหลือจากการหล่อพระมาหลอมแล้วเอามาหล่อขึ้นเป็นงานชุดนี้ โดยใช้ต้นแบบจากที่กั้นห้ามจอดรถของจริง ที่เราไปขอเขามาบ้าง เก็บตกจากที่เขาทิ้งไว้ในถังขยะบ้าง ซื้อหามาบ้าง”

ความแปลกอีกประการของนิทรรศการครั้งนี้คือ แทนที่ในห้องแสดงงานจะจัดไฟให้สว่างไสวเพื่อให้ผู้ชมเห็นงานได้ชัดถนัดตา ในห้องกลับมีเพียงไฟสลัวราง เมื่อเงี่ยหูฟังความเงียบสงัดในห้อง เราก็จะได้ยินเสียงบางอย่างลอยแว่วมา

“เหตุผลที่เราจัดแสงไฟในห้องแสดงงานให้ดูสลัว ก็เพราะเราอยากให้ผู้ชมเดินเข้ามาดูแล้วไม่ได้เห็นทุกอย่างในคราวเดียว พอเราจัดไฟสลัวแบบนี้ เลยทำให้ผู้ชมที่เข้ามาดูงานต้องเดินเข้ามาชมใกล้ๆ เพื่อจะมองเห็นชัดๆ แทนที่จะเข้ามาทีเดียวแล้วเห็นหมดทุกอย่าง ถ่ายรูปแล้วก็กลับไป”

“อีกอย่าง เราอยากให้ในห้องมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ที่จัดไฟสลัวๆ ส่องเฉพาะวัตถุโบราณ งานของเราเองก็ทำเป็นรูปท่อนกระดูก ที่พูดถึงชีวิตและความตาย ด้วยความที่เป็นเซรามิก มันก็พูดถึงเรื่องของประวัติศาสตร์โดยอัตโนมัติ เซรามิกเองก็มีส่วนร่วมกับวิวัฒนาการหลายพันหลายหมื่นปีของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก โดยส่วนใหญ่มักถูกใช้ในพิธีกรรม เป็นภาชนะเก็บสิ่งสำคัญทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งสักการบูชา, เมล็ดพันธุ์ หรือแม้แต่บรรจุน้ำและอาหาร”

“งานเซรามิกของเราชุดนี้ใช้ดินที่มีส่วนผสมของทรายเยอะ ทำให้หน้าตาดูคล้ายกับเซรามิกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือพวกรูปสลักในปราสาทหินของเขมร”

“ที่เราเลือกใช้วัตถุดิบชนิดนี้ก็เพื่อแสดงถึงความรู้สึกถึงความเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่วนเสียงที่ได้ยินในห้องเป็นเสียงสับลาบที่เราได้ยินมาจากร้านลาบที่ขอนแก่น เราว่าการกินเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง มันมีความรัก ความผูกพัน และความตายอยู่ในนั้น การกิน การอยู่อาศัย หรือแม้แต่การขี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต เราอยากแสดงให้เห็นถึงความปกติธรรมดาที่อยู่รอบๆ ตัวของคนเราในนิทรรศการครั้งนี้”

นิทรรศการ THE COMMONER’S HOUSE โดยดุษฎี ฮันตระกูล และภัณฑารักษ์ จอห์น ซี.ดับเบิลยู. ตัง จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม-25 กันยายน 2565, เวลาเปิดทำการ วันพฤหัสบดี ถึงวันอาทิตย์ 13:00-18:00 น.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ •

7