สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์วิจัยนานาชาติ ด้านความมั่นคงทางอาหาร

สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์วิจัยนานาชาติ ด้านความมั่นคงทางอาหาร

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.), Prof. Dr. Christopher Elliott,OBE, Institute for Global Food Security, Queen’s University Belfast, ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และรศ.ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมแถลงข่าวประกาศเปิดศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) เพื่อมุ่งเน้นผลิตงานวิจัยระดับโลกสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนกเหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่มีความ เข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในสาขายุทธศาสตร์ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาทด้วยการพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานความพร้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยการยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (functional foods) หรือการพัฒนาเป็นสารประกอบมูลค่าสูง (functional Ingredient) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดเติบโตอย่างมาก”

Prof. Dr. Christopher Elliott, OBE, Institute for Global Food Security, Queen’s University Belfast เปิดเผยว่า “ไบโอเทค และ Institute for Global Food Security, QUB มีความร่วมมือทางการวิจัยเรื่องความปลอดภัยทางอาหารและการพัฒนาบุคคลากรมามากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันได้ขยายครอบคลุมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลกระทบในทุกมิติทั้งการร่วมวิจัย การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนักศึกษาและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยในเดือนมกราคม 2565 ผู้บริหาร QUB ได้ตัดสินใจสนับสนุนการจัดตั้ง IJC- FOODSEC เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเป็น
เลิศทั้ง 3 มิติข้างต้นในระดับอาเซียน”
.
และสุดท้าย รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า “แผนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นโจทย์จากความต้องการของภาคเอกชนตั้งแต่เริ่มต้นถือเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันการถ่ายทอดงานวิจัยและเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารเสริมสัตว์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และเกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนต่อไป” รศ. เกศินีวิฑูรชาติ กล่าวต่อไปว่า “นักวิจัยภายใต้ IJC-FOODSEC ได้พัฒนาผลงานวิจัย ที่ประสบความสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริงหรือมีประสิทธิภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ในประเทศและระดับภูมิภาค”