มุสลิมในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์ ความแปลกหน้าของมุสลิม อ่านเพิ่มเติมใน (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน – 5 ตุลาคม 2560) ในขณะเดียวกันยังมีวิถีวัฒนธรรมมากมายของมุสลิมที่ปฏิบัติต่างจากคนไทยทั่วไป จนทำให้คนไทยทั่วไปรู้สึกว่ามุสลิมเป็นคนแปลกหน้าในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

และล่าสุด เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับข้าราชการและประชาชนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ความทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น

หากไม่อธิบายอาจทำให้คนไทยเข้าใจผิดว่ามุสลิมไม่จงรักภักดี ยิ่งสร้างความแปลกหน้าให้กับมุสลิมและเพิ่มความขัดแย้ง

สำหรับกิจกรรมหลายประการที่เป็นพิธีกรรมนั้นทำให้มุสลิมทั้งชายและหญิงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดศาสนาอิสลาม มีความกังวลเป็นอย่างมากว่าจะนำไปสู่ชิริก (ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) หากไม่ไปเข้าร่วมก็จะทำให้ถูกมองว่าไม่เคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ

เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255) ซึ่งหลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคลด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ดังนั้น ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องนี้ น่าจะเป็นทางออกและสร้างความเข้าใจไม่ให้มุสลิมเป็นคนแปลกหน้าในสังคมไทยได้

ในการนี้ จุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้มุสลิมในฐานะพสกนิกรที่อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ดำเนินชีวิตและประกอบศาสนกิจตามพระบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและดำรงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขมาโดยตลอดนั้น ยังความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

สำนักจุฬาราชมนตรี จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยมุสลิมทุกคน ได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดังต่อไปนี้

1. ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บทบัญญัติศาสนาอิสลามมิได้มีข้อห้ามในการไปปรากฏตัวหรือร่วมแสดงความอาลัยในพระราชพิธี

ยกเว้นการร่วมในการประกอบพิธีกรรมอันเป็นพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

ได้แก่ การจัดทำดอกไม้จันทน์ การถวายหรือวางดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศ

หรือการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับดอกไม้จันทน์เพื่อนำไปยังพระเมรุมาศ ทั้งในส่วนกลางและในส่วนของจังหวัด

ดังกล่าวนี้ ถือเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อเฉพาะศาสนาที่บทบัญญัติศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้เข้าร่วมได้

2. ในฐานะพสกนิกรชาวไทยมุสลิมที่เทิดทูนและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอเชิญชวนให้ปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

2.1 ร่วมปฏิบัติในกิจกรรมที่มิได้เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ การแสดงตนเป็นจิตอาสาเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมในข้อ 1 อาทิ การให้บริการหรือมอบอาหารและเครื่องดื่ม การช่วยเหลือด้านการพยาบาลหรือด้านอื่นแก่ผู้เข้าร่วมแสดงความอาลัย และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทั้งในส่วนกลางและในส่วนของจังหวัด เป็นต้น

2.2 จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ การทำความสะอาดและการปรับภูมิทัศน์ของศาสนสถานให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น

2.3 จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อการเจริญรอยตามและสืบสานพระราชปณิธานในพระอัจฉริยภาพของพระองค์

2.4 ให้มัสยิดทั่วราชอาณาจักร ได้นำเสนอคุตบะห์ (ธรรมกถา) เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560

2.5 การแต่งกายในห้วงเวลาดังกล่าวข้างต้น มีแนวปฏิบัติ ดังนี้ 2.5.1 ข้าราชการให้แต่งกายตามระเบียบราชการกำหนด 2.5.2 ประชาชนทั่วไป ให้แต่งกายสุภาพแบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่ฉูดฉาด

ประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2560

อดีต ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามก็ไม่ต้องปฏิบัติ

จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่าการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่านก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการกราบ

ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก

ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า “ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง”

จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้

รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)

เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)

นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)

ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันสำคัญต่างๆ