การตายของ ‘มาห์ซา อามินี’ จุดเปลี่ยนอิหร่าน?/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

การตายของ ‘มาห์ซา อามินี’

จุดเปลี่ยนอิหร่าน?

 

การตายของมาห์ซา อามินี หญิงอิหร่านชาวเคิร์ด วัย 22 ปี ขณะอยู่ในความควบคุมตัวของตำรวจศีลธรรมอิหร่าน หลังเธอถูกจับกุมในกรุงเตหะรานจากการถูกกล่าวอ้างว่าทำผิดกฎการสวมใส่ฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม กำลังทำให้แผ่นดินอิหร่านลุกเป็นไฟและเป็นสิ่งท้าทายร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผู้ปกครองอิหร่านต้องเผชิญ

อามินีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเคอร์ดิสถาน ทางตะวันตกของประเทศอิหร่าน ได้เดินทางเข้ามายังกรุงเตหะรานและถูก “กัชต์อีเอร์ชาด” หรือตำรวจศีลธรรมอิหร่าน เข้าจับกุมควบคุมตัวเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

โดยอ้างว่าเธอไม่ปฏิบัติตามกฎสวมฮิญาบอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยการปล่อยให้เรือนผมของเธอเล็ดลอดออกมาจากผ้าคลุมศีรษะ

อามินีเสียชีวิตลงหลังถูกตำรวจศีลธรรมเข้าควบคุมตัวเพียง 3 วัน โดยมีรายงานด้านหนึ่งว่าเธอถูกตำรวจทำร้ายร่างกายด้วยการใช้กระบองทุบตีศีรษะและยังจับศีรษะเธอโขกกับรถตำรวจ

ขณะที่ทางการอิหร่านปฏิเสธรายงานกล่าวอ้างดังกล่าว โดยยืนยันว่าอามินีเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลหลังเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

 

การตายของอามินีจุดกระแสลุกฮือขึ้นของชาวอิหร่านขึ้นทั่วประเทศที่พากันออกมาประท้วงประณามการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของอามินีในอุ้งมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพของผู้หญิงอิหร่านพากันจุดไฟเผาฮิญาบและหั่นผมของตนเองทิ้งกลางวงประท้วง ปรากฏสู่สายตาชาวโลกผ่านคลิปวิดีโอที่ถูกปล่อยลงสู่โซเชียลมีเดีย ท่ามกลางเสียงตะโกนร้องดังก้องว่า “ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ”

แสดงให้เห็นพลังการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เพื่อท้าทายต่ออำนาจรัฐที่กดขี่ของผู้ปกครองอิหร่านอย่างไม่เกรงกลัว

เหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้ไม่เพียงมีผู้หญิงที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านอำนาจปกครองที่กดหัวประชาชนจำนวนมากอยู่เท่านั้น

หากแต่ยังมีชายชาวอิหร่านออกมาร่วมประท้วงต่อต้านด้วย ซึ่งนำไปสู่เหตุปะทะรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอิหร่านที่มีกระสุนจริงและแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธในการสยบม็อบผู้ประท้วงให้ราบคาบ

โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุปะทะในช่วง 11 วันที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มอิหร่านฮิวแมนไรท์สอ้างตัวเลขผู้เสียชีวิตว่ามีอย่างน้อย 71 ราย ขณะสื่อทางการระบุไว้ที่ 40 ราย ขณะมีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบพันคน และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปมากกว่าพันคน

การประท้วงครั้งนี้ยังเป็นการโหมกระพือความไม่พอใจของชาวอิหร่านที่มีสะสมอยู่แล้วให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้น จากความเบื่อหน่ายเต็มทนกับปัญหาทุจริตที่มีอย่างเป็นระบบในหมู่นักการเมืองชั้นนำของประเทศ

ท่ามกลางปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 50% ขณะประเทศยังคงไร้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองและสังคม

 

ในสายตาของนักวิเคราะห์อย่างอาซาเดห์ เคียน อาจารย์ด้านสังคมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านของมหาวิทยาลัยหนึ่งในกรุงปารีส มองว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาก่อนในอิหร่านที่ “ผู้หญิงลุกขึ้นมานำการประท้วง”

โดยที่ผ่านมาการชุมนุมประท้วงผู้ปกครองอิหร่าน ที่เห็นได้ชัดและเป็นที่จดจำมากที่สุดย้อนไปในปี 2009 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การว่างงานและการถูกจำกัดเสรีภาพทางการเมือง

แต่ครั้งนี้เป็นการชุมนุมประท้วงที่แตกต่างออกไป โดยเป็นการชูประเด็นสิทธิของผู้หญิงอิหร่าน โดยมีกฎสวมฮิญาบเป็นสัญลักษณ์ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ

ขณะที่เมห์ดาด ดาร์วิชปัวร์ นักสังคมวิทยาชาวอิหร่านอีกรายในสวีเดนชี้ว่า การประท้วงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับอามินีครั้งนี้ ซึ่งมีชายชาวอิหร่านจำนวนมากเข้าร่วมประท้วงด้วยนั้น แสดงให้เห็นว่าสังคมอิหร่านได้เปลี่ยนไปสู่ความต้องการที่ก้าวหน้ามากขึ้น สโลแกนหลักของการประท้วงครั้งนี้คือ “ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ” เป็นการเรียกร้องถึงความเท่าเทียมในสังคมและสะท้อนจุดยืนของการต่อต้านรากฐานนิยมทางศาสนาที่เป็นการกดขี่สตรีเพศมานาน

การประท้วงครั้งนี้ยังมีความครอบคลุมมากกว่าการประท้วงครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างมาก โดยเป็นการประท้วงทั้งในพื้นที่ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน และไม่ใช่เพียงเป็นการสะท้อนปัญหาท้องถิ่นหรือในกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น หากยกระดับไปสู่ประเด็นที่ครอบคลุมมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิเคราะห์บางคนยังมองว่าการลุกฮือขึ้นของชาวอิหร่านครั้งนี้ ยังไม่น่าเป็นภัยคุกคามถึงขั้นนำไปสู่การล้มระบอบปกครองอิหร่านที่นำโดยผู้นำสูงสุดทางศาสนาได้ในทันที แต่กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้น ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองอิหร่านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยยังทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลบางส่วนเกิดความสั่นคลอน ที่กำลังตั้งคำถามถึงการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงของตำรวจศีลธรรมอิหร่าน

นักวิเคราะห์บางคนมองว่าผู้ปกครองอิหร่านมีแค่ 2 ทางเลือกในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ทางหนึ่งคือการแก้ไขกฎฮิญาบที่เข้มงวด แต่การทำเช่นนั้นก็อาจกระตุ้นให้ผู้ประท้วงเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าจะถึงความต้องการสุดท้าย นั่นคือการเปลี่ยนระบอบผู้ปกครอง

หรืออีกทางคือไม่เปลี่ยนแปลงอะไรและใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อไป ที่อาจจะทำให้ม็อบสงบลงได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่นั่นจะเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้นให้กับผู้คนมากขึ้นไปเรื่อยๆ และหากตำรวจปราบจลาจลที่กำลังปราบม็อบผู้ประท้วงอยู่ในตอนนี้ ซึ่งพวกเขาเองก็ยังต้องระทมทุกข์กับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอยู่เช่นกันนั้น ก็อาจเกิดการเปลี่ยนข้างขึ้นได้

เหตุลุกฮือประท้วงครั้งนี้อาจจะไม่ใช่บทเรียนสุดท้าย แต่เป็นบทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของอิหร่านได้ในสักวัน!