3 แพร่ง ของ 3 ป./บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

3 แพร่ง

ของ 3 ป.

 

โบราณว่าไว้ “ทางสามแพร่ง” ถือว่าเป็นทางผีผ่าน ไม่เป็นมงคล จะทำพิธีเซ่นวักเสียกบาลต้องไปทำที่ทางสามแพร่ง

กระนั้น ไม่ว่าจะไม่เป็นมงคลอย่างไร

แต่วันที่ 30 กันยายน การเมืองไทยก็มาถึงแยก “สามแพร่ง”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 171 คน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่

เนื่องด้วยมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ มาตรา 264 ยังบัญญัติไว้ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”

 

ในความเห็นของ ส.ส.ฝ่ายค้านชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง

พร้อมทั้งมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

จากนั้นวันที่ 14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีนี้อีกครั้ง

แล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน

พร้อมนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.

มีการคาดหมายถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็น “สามแพร่ง” หรือเป็น 3 แนวทางการเมือง

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางไหน ล้วนส่งผลกระทบต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่ม 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น

 

แนวทางที่หนึ่ง ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น วาระการตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ครบกำหนด 8 ปีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะที่ต้องหลุดตำแหน่งด้วย แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

โดยกระบวนการที่จะเกิดขึ้นก็คือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเลือกนายกฯ คนใหม่

ทั้งนี้ ตามมาตรา 272 ซึ่งกำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เห็นชอบเลือกนายกฯ คนใหม่

โดยในเบื้องแรก ให้เลือกนายกฯ คนใหม่จากผู้มีชื่ออยู่บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562

ทั้งนี้ บุคคลที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้จะอยู่ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย

แต่คุณหญิงสุดารัตน์ออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย และเคยประกาศหลังการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่ง

เช่นเดียวกับนายชัชชาติ ก็ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ เช่นกันหลังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ประกาศแล้วว่า หากจะมีการเลือกนายกฯ พรรคก็พร้อมจะผลักดันนายชัยเกษมเข้าแข่งขัน

ส่วนพรรคอื่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล อยู่ในบัญชีพรรคภูมิใจไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่บัญชีพรรคประชาธิปัตย์

ดูตามบัญชีรายชื่อแล้ว ผู้ที่มีโอกาสจะได้ลุ้นมากที่สุดคือนายอนุทิน

แต่กระนั้นก็ยากที่จะเป็นจริง

เพราะพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล คงไม่ยอมให้นายอนุทินหยิบชิ้นปลามันไปกิน หรือดำรงความได้เปรียบ เป็นนายกฯ กุมอำนาจและการบริหารอย่างแน่นอน

ซึ่งเมื่อไม่สามารถเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตในบัญชีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ได้

ก็ย่อมนำไปสู่ช่องทางเลือก “นายกฯ คนนอก”

โดยสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 364 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 485 คน ให้ความเห็นชอบ

ซึ่งดูเหมือนพรรคที่ผลักดันเรื่องนี้ได้มากสุดคือพลังประชารัฐ ที่กุมเสียงวุฒิสมาชิกเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด และพร้อมจะมาสนับสนุนนายกฯ คนนอกที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ

แน่นอนบุคคลผู้นั้นย่อมเป็นใครอื่นใดไม่ได้ นอกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปัจจุบันโชว์ “ใจบันดาลแรง” แสดงศักยภาพว่าพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่อย่างเต็มที่

แม้ว่านายกฯ คนใหม่จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงครบกำหนดอายุสภาผู้แทนราษฎร หรือถึง 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น

แต่เท่านี้ก็ต้องถือว่าเป็นเกียรติประวัติของ พล.อ.ประวิตร

และที่สำคัญการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในห้วงที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ย่อมถือว่าเป็นความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐอย่างสูง

ท่ามกลางความคาดหวังของคนพลังประชารัฐว่า การเมืองจะพลิกโฉม จาก 3 ป. ไปสู่ ป.หนึ่งเดียว

นั่นคือ ป.ประวิตร นั่นเอง

 

แนวทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คือ วันที่ 6 เมษายน 2560

อันจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ไปต่อ” ได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 รวมกันแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ยาวนานถึง 10 ปี 7 เดือน

แนวทางที่สองนี้ ได้รับการคาดหมายว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สุด

เพราะเป็นการตีความแบบ “ประนีประนอม” ที่สุด

นอกจากนี้ การชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สนับสนุนการตีความตามแนวทางนี้

ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งมีวาระถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566

และในการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังสามารถไปต่อได้

ทั้งการลงสมัครรับเลือกตั้งเอง

หรือจะใช้วิธีการเดิมคือ มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ

ซึ่งก็น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ได้ถูกเสนอชื่อเดียว หากแต่ต้องมี พล.อ.ประวิตรประกบด้วย

เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการการเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ ต่อ

แต่ก็จะไม่สามารถอยู่ครบเทอมถึงปี 2570 ได้ แต่มีวาระอยู่ได้ถึงแค่วันที่ 5 เมษายน 2568 เท่านั้น เพราะถือว่าจะ “ขาดคุณสมบัติ” ต้องพ้นจากตำแหน่ง และสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ซึ่งโอกาสก็จะเป็นของ พล.อ.ประวิตรที่จะสืบอำนาจต่อไป

 

แต่กระนั้น มีการมองว่าโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์บนเก้าอี้นายกฯ ก็ใช่จะราบรื่น

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มิได้มีสถานะเป็นดาวเด่นอีกต่อไป กระแสความนิยมลดลงตามลำดับ

เรียกได้ว่าไม่สามารถเป็นจุดขายได้อีกแล้ว

ยิ่งมีสภาพเป็นเพียงนายกฯ ครึ่งเทอม ยิ่งทำให้เส้นทางการเมือง “หมอง” ลงอย่างเห็นได้ชัด

พล.อ.ประยุทธ์จึงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกหมายเลขหนึ่งต่อไป

อาจจะต้องหลีกทางให้พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร เพื่อก้าวสู่ความฝันหมายเลขหนึ่ง ในทำเนียบอย่างเต็มตัวเสียที

แต่ก็ต้องรอดูต่อไปว่าพรรคพลังประชารัฐจะสามารถกำชัยในการเลือกตั้งได้หรือไม่

ซึ่งดูแล้วก็ไม่ง่ายเพราะแต่ละพรรคก็พร้อมจะเสนอตัวเข้าแข่งขันอย่างเต็มที่

 

แนวทางที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับการเป็นนายกฯ ตั้งแต่เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562

ซึ่งก็เท่ากับเปิดทางอยู่ยาวถึง 2570

รวมกันแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ได้ยาวนานถึง 12 ปี 9 เดือน

หากวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เหมือนพยัคฆ์เสียบปีก

ดุลอำนาจจะไหลกลับมาอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ และสามารถกำหนดเกมการเมืองด้วยตนเองอีกครั้ง

และย่อมจะสามารถข่ม พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ รวมถึงกลุ่มอำนาจต่างๆ เอาไว้ได้

แต่กระนั้น แนวทางการวินิจฉัยอันสุดโต่งเช่นนี้ ย่อมจะนำไปสู่ความไม่พอใจของคนทั้งในและนอกสภาอย่างแน่นอน

เพราะถือเป็นการสืบทอดและผูกขาดอำนาจไว้ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างยาวนาน

ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ ด้วยพรรคการเมืองที่มีจุดยืนตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ คงเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างหนักแน่

รวมทั้งคงจะมีกลุ่มมวลชนนอกสภา ออกมาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์อย่างรุนแรงและพร้อมแตกหัก ด้วยมีการมองว่า “อภินิหารทางกฎหมาย” ได้มาช่วยค้ำจุนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้อีกแล้ว

โดยตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณการ “ก่อหวอด” ให้จับต้องได้หลายกลุ่ม

 

จนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ รีบออกมาขู่ กรณีที่มีผู้ชุมนุมเตรียมเคลื่อนไหวหลังวันที่ 30 กันยายน ว่าไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเกิดการกระทบกระทั่งกันจนถึงขั้นบาดเจ็บหากไม่พอใจรัฐบาล อยากให้ใจเย็นๆ เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะถึงช่วงของการเลือกตั้งแล้ว ถ้าเคลื่อนไหวมากๆ ระวังจะไม่ได้เลือกตั้ง

วลีที่ว่า “ระวังจะไม่ได้เลือกตั้ง” ของนายชัยวุฒิ ทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่า

ด้วยถูกมองว่านี่เป็นการเปิดประตูเรียก “การเมืองนอกระบบ” เข้ามาอีกแล้ว ทั้งที่ประเทศไทยถอยหลังไปอย่างมากมายนับแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557

และก็หวังว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นจะทำให้การเมืองไทยกลับสู่แนวทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องเสียที

พร้อมๆ กับหวังว่า ทางสามแพร่ง หลัง 30 กันยายน ที่สังคมจะเลือกเดินไปทางใดทางหนึ่งนั้น

คงเป็นทางที่ “ไม่เป็นมงคล” น้อยที่สุดสำหรับเส้นทาง “ประชาธิปไตย” ไทย!