สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (3) ชัยชนะของพรรคจุฬาประชาชน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนออ่าน 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (1) (2)

“พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล

ดั่งโคมทองส่องเรืองรุ้งในหทัย เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน”

จิตร ภูมิศักดิ์

การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาจากปี 2518 ล่วงต่อเข้าปี 2519 นั้นทวีความเข้มข้นมากขึ้น

กิจกรรมในแบบยุคสายลมแสงแดดเริ่มหายไป หรืออย่างน้อยก็มีพื้นที่เหลือไม่มากนักในมหาวิทยาลัย

แม้แต่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองที่เป็น “ต้นราก” ของระบบโซตัส กิจกรรมแบบเก่าก็แทบจะหมดไป

แม้กระทั่งงานรับน้องใหม่ก็ถูกแปลงไปเป็นกิจกรรมแบบใหม่ ไม่ใช่การรับน้องแบบ “ทาสี-เขียนหน้า” กันอีกต่อไป

กลุ่มอนุรักษนิยมในมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ทางการเมืองน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ในสภาวะเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดเจนถึงการก่อตัวของ “พรรคนักศึกษา” ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นกัน

ซึ่งพรรคในมหาวิยาลัยกลายเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของนิสิตนักศึกษา “ฝ่ายก้าวหน้า”

และแน่นอนว่ากลุ่มและพรรคเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” จุดสำคัญของกิจกรรมนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี 2519

เมื่อบรรดาพรรคของปีกนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งแทบจะในทุกมหาวิทยาลัย

คงจะกล่าวได้ว่าก่อนปิดภาคปลายของปีการศึกษา 2518 (ซึ่งก็คือช่วงต้นปี 2519 นั้น) พรรคอนุรักษนิยมในทุกมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้งแทบจะทั้งหมด

ฝ่ายอนุรักษนิยมดูจะถดถอยเป็นอย่างยิ่งในบริบทของกิจกรรมนักศึกษา

และฝ่ายก้าวหน้าก็ดูจะเติบโตเข้มแข็งอย่างยิ่ง

แต่สำหรับการเมืองในระดับประเทศแล้ว ก็ใช่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะอ่อนแรงลงเช่นในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามพวกเขากลับเร่งระดมสะสมความแข็งแกร่งเพื่อเตรียมตอบโต้กับสภาวะของความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ และกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” ก็ก่อตัวชัดเจนขึ้นด้วย

พรรคจุฬาประชาชน

ผลจากการเติบโตของกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ทำให้เกิดกลุ่มอิสระทั้งในระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหญ่ของการรวมกลุ่มของนักศึกษา

เช่น ในจุฬาฯ นิสิตรุ่นหลังผม (ที่เข้าในปีการศึกษา 2517 และ 2518) มีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มแนวร่วมจุฬาฯ” เป็นต้น

ซึ่งการรวมตัวกันในการทำกิจกรรมในแนวทางใหม่เช่นนี้ นอกจากจะทำให้กิจกรรมเก่าของพวกโซตัสต้องหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังทำให้กิจกรรมใหม่ได้ผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

หรือที่สมัยนั้นเราเรียกว่าได้ “ผู้ปฏิบัติงาน” เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

การรวมตัวของกลุ่มและ/หรือชมรมในหลายมหาวิทยาลัยเหล่านี้ นำไปสู่การกำเนิดของ “พรรคนักศึกษา” ในระดับมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน

และจากปี 2518 เป็นต้นมาก็เห็นถึงการก่อตัวของพรรคนักศึกษา และมีทิศทางของกิจกรรมในแบบฝ่ายก้าวหน้า

และก็ชัดเจนว่าไม่เอากิจกรรมแบบโซตัส

ซึ่งที่จุฬาฯ มีการรวมตัวกันเป็น “พรรคจุฬาประชาชน” ขึ้น โดยมีฐานรองรับอยู่ในทุกคณะ

หรือกล่าวได้ในตัวแบบพรรคการเมืองสมัยใหม่ได้ว่า พรรคมีสาขาและมีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในทุกคณะ

จนสามารถกล่าวได้ว่าจากกลางปีและค่อนไปช่วงปลายปี 2518 แล้ว พรรคจุฬาประชาชนแทบจะคุมกิจกรรมของนิสิตจุฬาฯ ไว้ได้ทั้งหมด

พรรคในสายอนุรักษนิยมอาจจะชนะการเลือกตั้งในปีการศึกษา 2517 และปี 2518

แต่พอถึงการเลือกตั้งสำหรับปี 2519 แล้ว โอกาสแห่งชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หลังจากการขยายตัวของพรรคจุฬาประชาชนลงไปจัดตั้งสาขาและผู้ปฏิบัติงานในคณะต่างๆ ทุกคณะ

ชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2519 ในทุกมหาวิทยาลัยรวมทั้งในจุฬาฯ จึงต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ใหม่ของการยึดกุมทิศทางกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของนิสิตฝ่ายก้าวหน้า

กลับจุฬาฯ เตรียมเลือกตั้ง

สําหรับผมเองนอกจากจะทำงานเป็น “ฝ่ายต่างประเทศ” ของศูนย์นิสิตฯ ที่ขณะนั้นเน้นเรื่องของการศึกษาจัดทำข้อมูลวิชาการว่าด้วยเรื่องฐานทัพสหรัฐในไทยแล้ว

ผมได้รับการเสนอให้กลับเข้ามารับตำแหน่งที่จุฬาฯ เพื่อทำหน้าที่เป็น “ข้อต่อ” สำหรับการเคลื่อนไหวของศูนย์นิสิตฯ กับจุฬาฯ

โดยผมถูกขอให้ลงสมัครในตำแหน่ง “อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก” ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.)

ซึ่งตำแหน่งนี้จะต้องเป็นกรรมการบริหารของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยด้วย

กล่าวคือ เป็นการสวม “หมวกสองใบ” เพราะในอีกส่วนหนึ่งผมต้องเป็นกรรมการของ สจม. ที่จุฬาฯ ด้วย หรือบางมหาวิทยาลัยก็จะใช้ชื่อคล้ายๆ กันว่า “รองนายกฝ่ายกิจการภายนอก” ซึ่งก็คือคนที่มีฐานะแบบเดียวกับผม คือเป็น “ข้อต่อ” ระหว่างสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยตัวเองกับศูนย์นิสิตฯ

เมื่อผมตอบรับที่จะลงสมัครในตำแหน่งนี้ ในเวลาต่อมาก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักรุ่นพี่ที่ได้รับการทาบทามให้มาสมัครแข่งขันในตำแหน่ง “นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (นายก สจม.) ชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รุ่นพี่จากคณะแพทย์

พี่เอนกเป็นรุ่นพี่ผม 1 ปี (เข้าจุฬาฯ ปีการศึกษา 2515) นับตั้งแต่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกันในครั้งนั้นเพราะจะต้องทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว เราสองคนก็อยู่ในฐานะของการเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความผันผวนของการเมืองไทยด้วยกันตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ผมก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับผู้สมัครในตำแหน่งอื่นๆ อีก 7 คน

พวกเรา 9 คนในฐานะของผู้สมัครรับเลือกตั้งลงชิงตำแหน่งผู้บริหาร สจม. ในนามพรรคจุฬาประชาชน ก็เริ่มเปิดตัวในจุฬาฯ อย่างเป็นทางการ

พวกเราออกเดินสายปราศรัยและหาเสียงในคณะต่างๆ ไม่แตกต่างกับการหาเสียงของพรรคการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง

ซึ่งก็หมายความว่า “คะแนนเสียง” มาจากการหาเสียงหรือมาจากการนำเสนอนโยบายที่ถูกร่างขึ้นเพื่อทำการ “ขาย” ให้แก่ประชาคมนิสิตจุฬาฯ

การเดินสายปราศรัยหาเสียงทำให้เราได้มีโอกาสไปพบนิสิตในคณะต่างๆ อย่างน้อยได้เรียนรู้เรื่องสำคัญว่า “คะแนน” ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงไม่ว่าจะเป็นในรูปของการนำเสนอนโยบาย

หรือการออกไปพบปะกับนิสิต และถ้าชนะการเลือกตั้งก็เพราะนิสิตจุฬาฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอในนโยบายของเรา ไม่ใช่ชนะเพราะเรามีกำลังมากกว่า และใช้อำนาจยึดเอาชัยชนะมาเป็นของเรา

การเดินสายหาเสียงจากปลายปี 2518 เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทัศนะทางการเมืองของผมในอีกช่วงยาวนานของชีวิตที่เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งที่ถูกชี้ขาดจากการลงเสียงของประชาชนน่าจะเป็นการตัดสินทางการเมืองที่เลวร้ายน้อยที่สุด

และยังเชื่อว่าเส้นทางสู่อำนาจทางการเมืองนั้นไปได้ด้วย “รถหาเสียง” ไม่ใช่ “รถถัง”

การยืนโบกรถทหารหรือคอยให้รถถังมารับเข้าสภาน่าจะหมดไปจากการเมืองไทยตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว

เพราะระบบทหารที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจากรัฐประหาร 2490 นั้น ถูกโค่นล้มลงตั้งแต่ปี 2516 แล้ว

แต่ดูเหมือน “ซากเดน” ทางความคิดชุดนี้ไม่เคยหายไปจากการเมืองไทยเลย

เมื่อผู้คนบางส่วนที่อยากมีอำนาจทางการเมืองยังคงเชื่อเสมอว่า “รถถัง” หรือ “รถทหาร” จะพาพวกเขาเข้าสภาได้ง่ายและสะดวกกว่า “รถหาเสียง”

ว่าที่จริงแล้วทัศนะเห็นต่างของผมเช่นนี้ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเข้าเรียนที่คณะก่อน 14 ตุลาฯ ที่ผมกับเพื่อนๆ และพี่ๆ หลายคนมีส่วนในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารยุคนั้นมาแล้ว

ดังนั้น แม้ในช่วงชีวิตของผมจะได้มีโอกาสเข้าไปสอนในกองทัพ และมีความสัมพันธ์กับนายทหารระดับสูงหลายๆ ท่าน แต่ก็ไม่เคยมีความคิดที่จะเดินทางลัดด้วยการเกาะ “รถถัง” เข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองแต่อย่างใด

ชนะการเลือกตั้ง

แล้วการเลือกตั้งในจุฬาฯ ก็มาถึง ผู้ปฏิบัติงานของพรรคจุฬาประชาชนทำงานกันอย่างหนัก… ติดโปสเตอร์… แจกใบปลิว… เคาะประตู

ผลที่ออกมาคุ้มกับความตั้งใจและความเอางานเอาการของผู้ปฏิบัติงานทุกคนในพรรค พรรคเราชนะการเลือกตั้ง จนทำให้หลายคนประกาศดังชื่อบทกวีของนายผี (อัศนี พลจันทร) ที่อาจใช้เป็นคำบรรยายสถานการณ์นี้ว่า “เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า”… เราชนะ!

การเลือกตั้งคณะกรรมการสโมสรสำหรับปีการศึกษา 2519 ที่เริ่มขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่พรรคพรรคของฝ่ายก้าวหน้าชนะ

แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้กำลังส่งสัญญาณโดยตรงถึงการเปลี่ยนแปลง “ภูมิทัศน์ทางการเมือง” ของนิสิตจุฬาฯ อย่างชัดเจน

จำได้ว่าเมื่อผลการนับคะแนนออกมา เยาวมาลย์ จากคณะครุศาสตร์ น้องที่สมัครเป็น “ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม” เป็นต้นเสียงร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ แล้วทั้งศาลาพระเกี้ยวก็กระหึ่มไปด้วยเสียงร้องเพลงนี้ของพวกเรา

ซึ่งท่อนสุดท้ายของเพลงยังเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนใจได้เสมอ “…แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งสาง”

แน่นอนว่าผมรู้สึกขนลุกกับทั้งเสียงเพลงและความกระตือรือร้นของผู้ปฏิบัติงานทุกคน

เพราะสิ่งที่รอคอยอยู่ข้างหน้าสำหรับ สจม. ชุดใหม่ของพรรคจุฬาประชาชนก็เป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่กระแสซ้ายของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าขยับตัวขึ้นในจุฬาฯ

กระแสขวานอกมหาวิทยาลัยก็ขยับตัวสูงขึ้นตามไปเช่นกัน

ภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับจุฬาฯ เท่านั้น ฝ่ายก้าวหน้าก็ชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยที่เกษตรฯ ยังก้าวหน้าถึงขนาดที่ว่านายกสโมสรฯ เป็นผู้หญิงอีกด้วยคือ คุณประพิมพรรณ สุดชูเกียรติ

และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้นักศึกษาแพทย์เป็นนายก คือ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ส่วนจุฬาฯ ของผมก็มีพี่เอนก จากคณะแพทย์เป็นนายกเช่นกัน

ปี 2519 จึงเป็นการบ่งบอกถึงชัยชนะของขบวนนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าของทุกมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง และในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปีนี้ นักศึกษาธรรมศาสตร์มั่นใจในชัยชนะของพวกเราในทุกมหาวิทยาลัยถึงขนาดจัดงานปีใหม่โดยใช้ชื่อว่า “ปีใหม่อรุณแห่งชัย” เพื่อบ่งบอกถึงการที่ปี 2519 จะเป็นช่วงเวลาแห่ง “ชัยชนะของประชาชน”

แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมแล้ว ชัยชนะที่เกิดขึ้นก็คือการบ่งบอกถึงการที่ “นักศึกษาฝ่ายซ้าย” กำลังยึดกุมกิจกรรมในทุกมหาวิทยาลัย พวกเราอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเราชนะ

แต่สำหรับพวกฝ่ายขวาแล้ว ปรากฏการณ์ครั้งนี้กำลังสร้าง “ความหวาดกลัว” ทางการเมืองอีกครั้ง…

เป็นไปได้อย่างไรไม่ว่าจะเป็นในจุฬาฯ หรือแม้แต่ในเกษตรฯ เอง ฝ่ายอนุรักษนิยมพ่ายแพ้หมด

ก้าวสู่ปี 2519

การปิดภาคปลายของปีการศึกษา 2518 สำหรับผมในครั้งนี้จึงแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ต้องเตรียมทำงานทั้งในจุฬาฯ และในศูนย์นิสิตฯ ด้วยแล้ว

แต่ก็ยังจะต้องเตรียมรับกับสถานการณ์การถอนฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศไทยอีกด้วย

ในช่วงปิดภาค พวกเราในจุฬาฯ คุยกันมากขึ้น เพราะจะต้องเตรียมตัวรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

และอีกส่วนก็คือการเตรียมรับน้องใหม่ปี 1 ที่จะเข้ามาในปีการศึกษา 2519

หนึ่งในประเด็นสำคัญของการพูดคุยก็คือ เราจะแหวกประเพณีเก่าๆ อย่างไร

ตลอดรวมถึงการเตรียมงานรับน้องใหม่ เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาดังกล่าว วิถีชีวิตตลอดจนประเพณีต่างๆ ภายในจุฬาฯ หรือในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

งานวัฒนธรรมของฝ่ายก้าวหน้าเข้ามาแทนที่ และกลายเป็นการเปิด “แนวรบใหญ่” อีกส่วนหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่าทุกมหาวิทยาลัยมี “วงดนตรีเพื่อชีวิต” ขอบตน

หรือแม้กระทั่งวงดนตรีไทยอย่าง “วงต้นกล้า” ก็แหวกวัฒนธรรมเดิมออกมา

ใช่แต่เพียงสาระของงานปีใหม่ 2519 จะเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น งานสงกรานต์ในปี 2519 ในชื่อว่า “งานสงกรานต์เปิดฟ้าประเพณี” ที่จัดขึ้นที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการรุกทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากขบวนนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าจากปี 2518 ต่อเข้าปี 2519 ขยายตัวออกไปอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ขยายจำนวนมากขึ้น

ในส่วนของจุฬาฯ ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เรามีคนใหม่ๆ จากคณะต่างๆ เข้ามาร่วมงานมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของการขยาย “แนวรบ-แนวรุก” ในมหาวิทยาลัยก็ถูกจับตามองด้วยความกังวลจากชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มเคลื่อนไหวในปีกอนุรักษนิยมเป็นอย่างยิ่ง

ประกอบกับ “แนวต้าน” ของกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การจัดตั้งและติดอาวุธให้แก่กลุ่มนักเรียนอาชีวะบางส่วน

ตลอดรวมถึงการผลักดันให้กลุ่มขวาบางส่วนให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนักศึกษาในรูปแบบ “ขวาพิฆาตซ้าย” มากขึ้น