’19 กันยา ปีนั้น’ ไม่เหมือนกับ ’19 กันยา ปีนี้’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

’19 กันยา ปีนั้น’

ไม่เหมือนกับ ’19 กันยา ปีนี้’

 

“รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า “รัฐประหาร” คือ “แผลเก่า” หรือ “อาการป่วยเรื้อรัง” ของสังคมการเมืองไทย

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น บางฝ่ายเคยหลงคิดว่า แผลนี้หรืออาการป่วยนี้จะหายขาดไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2535

มิหนำซ้ำ รัฐประหารดังกล่าวยังก่อให้เกิด “แผลใหม่” คือ “ความขัดแย้งเสื้อสี” หรือ “การเมืองแบบแบ่งขั้ว” รวมถึงคลี่เผยให้เห็น “ปัญหาพื้นฐาน” บางประการของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ดำรงอยู่ภายในระบอบนี้มาแต่ดั้งเดิม

ยิ่งกว่านั้น “รัฐประหาร 19 กันยา” ก็มีความเชื่อมโยงกับ “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” อย่างมิอาจปฏิเสธ

ไม่ว่าจะมองผ่านเลนส์ที่ว่า การรัฐประหารปี 2549 ถูกบริหารจัดการอย่าง “เสียของ” จึงต้องเกิดรัฐประหารปี 2557 ซ้ำ เพื่อสะสางภารกิจที่คณะรัฐประหารชุดก่อนทำเอาไว้ไม่สะเด็ดน้ำ

หรือจะพิจารณาว่ารัฐประหารทั้งสองครั้งคือกระบวนการทางการเมืองที่ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าภารกิจในปี 2549 จะสำเร็จหรือล้มเหลว ปฏิบัติการในปี 2557 ก็ต้องบังเกิดขึ้น ด้วยบริบทเวลา และแรงผลักดันของผู้มีอำนาจจำนวนหนึ่ง

 

16 ปีผ่านไป แม้ “มรดกของการรัฐประหาร” ยังเหลือค้างและเหม็นคลุ้งอยู่ในสังคมไทย แต่สภาพการเมืองไทยกลับเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล

อย่างน้อยๆ ก็มีอยู่ 3 เรื่องที่ผันแปรไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

เรื่องแรก กาลครั้งหนึ่งเมื่อปี 2549 คนเสียงดังส่วนใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ-คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และสื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมด ล้วนเปิดหน้าเชียร์รัฐประหาร

(ตอนนั้น “กองเชียร์รัฐประหาร” ยังเรียกขานสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าการ “ปฏิวัติ” ด้วยซ้ำ กระทั่งอีกหลายปีต่อมา ที่ “ประวัติศาสตร์ 2475” ถูกรื้อฟื้นคืนความหมายและได้รับการนิยามว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” สังคมโดยรวมจึงค่อยเข้าใจว่าภาพทหารขับรถถังออกมายึดอำนาจ แล้วควบคุมตัวคนเห็นต่างเข้าค่าย นั้นคือการ “รัฐประหาร”)

ทว่า ตอนนี้ เสียงเชียร์รัฐประหารของคนกลุ่มนั้นกลับแผ่วเบาลงไป

แทบไม่มีสื่อกระแสหลัก (ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่) สำนักไหน ยกเว้น “สื่อขวาสุดขั้ว” ส่วนน้อยมากๆ ที่ออกมาหลับหูหลับตาเชียร์แนวคิดการทำรัฐประหาร คน (เคย) ทำรัฐประหาร และผลไม้พิษของการรัฐประหาร อย่างเต็มปากเต็มคำ

ชนชั้นนำ-คนชั้นกลางจำนวนมากในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้เชียร์รัฐประหาร แม้จะมีบ้างที่สนับสนุนการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 แต่พอเข้าปี 2565 เสียงจากคนกลุ่มนี้ที่บอกว่า “ประยุทธ์” ควรอยู่ต่อ หรืออยากได้ “ประวิตร” เป็นนายกฯ ก็ไม่มีพลังมากพอที่จะฉุดรั้งสังคมการเมืองไทยให้หยุดนิ่งหรือถอยหลังลงคลองได้อีกแล้ว

 

เรื่องที่สอง จากปลายทศวรรษ 2540 (ก่อน-หลัง “รัฐประหาร 19 กันยา”) จนถึงกลางทศวรรษ 2550 (หลังเหตุการณ์ “พฤษภา 53” และก่อน “รัฐประหาร 22 พฤษภา”) สังคมไทยแลดูแล้งไร้ความหวัง

เพราะวัยรุ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนวัยเริ่มทำงาน ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็น “อนาคตของบ้านเมือง” ณ ขณะนั้น มีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ต่อต้านพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง และกลายเป็น “คนเสื้อเหลือง-สลิ่ม” ในบริบท “สงครามเสื้อสี” ที่ก่อตัวขึ้น

พูดง่ายๆ คือ “ความหวังในอนาคต” ดันเอียงขวาและมีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง

ในห้วงเวลาดังกล่าว หลายคนเชื่อว่าระบบการศึกษาขึ้นพื้นฐานและปทัสถานทางสังคมที่ฝังรากลึกและกักขังจินตนาการของเยาวชนไว้อย่างครบวงจร จะเหนี่ยวรั้งบรรดาคนรุ่นใหม่ให้ยิ่งมีอาการเชื่อง บ้าคลั่ง และไม่มีวิวัฒนาการทางความคิด

อย่างไรก็ดี เมื่อคืนวันผันผ่านไปเรื่อยๆ การณ์กลับไม่ได้แน่นิ่งอยู่เช่นนั้น

ผลเลือกตั้งเมื่อปี 2562 (รวมถึงผลเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.) และการเกิดขึ้นของ “ม็อบเยาวชน-สามนิ้ว” ผนวกด้วยโลกทัศน์ทางการเมืองของวัยรุ่นไทยยุคปัจจุบัน บ่งบอกว่าพวกเขามีมุมมองที่โน้มเอียงมาสู่ความเป็นประชาธิปไตย และมักตั้งคำถามต่อผู้หลักผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจ ซึ่งมีท่าทีเป็น “ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย” อย่างเผ็ดร้อน

 

เรื่องสุดท้าย ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า “การเมืองเสื้อสี/การเมืองแบบแบ่งขั้ว” หรือที่บางคนนิยามว่าเป็น “การเมืองมวลชน” ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราวๆ 16 ปีก่อน และมีลักษณะเด่นชัดเข้มแข็งในทศวรรษ 2550 ก็กำลังคลี่คลายรูปแบบไปตามพลวัตของสังคม

ประเด็นหนึ่งที่น่าจะมองเห็นตรงกัน ก็คือ “มวลชน” หรือ “ประชาชน” นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น และไม่อาจถูกจัดแบ่งออกเป็น “สองขั้วชัดๆ” ได้อีกแล้ว

ส่งผลให้การผูกโยงขั้วการเมืองหนึ่งเข้ากับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายอีกต่อไป เช่น ขั้วประชาธิปไตยคือเพื่อไทย และขั้วอนุรักษนิยมคือประชาธิปัตย์ แล้วต่อมาคือพลังประชารัฐ

ทว่า ผู้สมาทานตนเองเข้ากับแต่ละขั้วอุดมการณ์ดูจะมีทางเลือกเยอะขึ้น เช่น ขั้วประชาธิปไตยก็มี “สีแดง” และ “สีส้ม” ส่วนในขั้วอนุรักษนิยม แม้คนฟากนี้ส่วนใหญ่จะเคยเปลี่ยนใจจากประชาธิปัตย์ หันมาหนุน “ประยุทธ์” แต่พอถึงวันนี้ “นายกฯ ผู้อยู่ในอำนาจมายาวนาน 8 ปี” ก็คล้ายจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไป ท่ามกลางตัวเลือกรายอื่นๆ ซึ่งเริ่มประกาศลงสนามแข่งขัน

ไม่ใช่แค่ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” จะยังตอบไม่ได้ (ไปจนวันตาย) ว่าใครอยู่เบื้องหลัง “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

แต่คนลงมือ-ออกหน้ายึดอำนาจในวันนั้น ก็คงคาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองไทยในอีก 16 ปีถัดมา จะเดินหน้ามาถึงจุดนี้ •