เหรียญรูปเหมือน 2540 หลวงปู่ทิม วัดพระขาว พระเกจิพระนครศรีอยุธยา / โฟกัสพระเครื่อง

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญรูปเหมือน 2540

หลวงปู่ทิม วัดพระขาว

พระเกจิพระนครศรีอยุธยา

 

“หลวงปู่ทิม อัตตสันโต” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังกรุงเก่า วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

เป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยและเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่เมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา และหลวงปู่มี วัดมารวิชัย ซึ่งมีวัยวุฒิไล่เลี่ยกัน

วัตถุมงคลได้รับความนิยมหลายรุ่น นอกจากลูกอมชานหมาก ก็ยังมีพระกริ่ง พระขุนแผน ปลาตะเพียนเงิน-ปลาตะเพียนทอง และยังมีวัตถุมงคลอีกหลายอย่าง ส่วนใหญ่ด้านเสน่ห์เมตตามหานิยมและค้าขาย

ที่มีชื่อเสียง คือ “เหรียญรูปเหมือน”

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ทิม ด้านหน้า

รุ่นนี้ จัดสร้างในปี พ.ศ.2540 เพื่อถวายหลวงปู่ทิม สำหรับแจกฟรีแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยนักธุรกิจใจบุญ “บุญมา บุญเลิศวณิชย์” ขออนุญาตสร้างถวาย

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านบนเขียนคำว่า “พระครูสังวรสมณกิจ (หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต)” ด้านล่างเขียนคำว่า “รุ่นแรก”

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ทิม ด้านหลัง

ส่วนด้านหลังส่วนบน เขียนคำว่า “แจกวันเกิดอายุ ๘๔-๑๕ ม.ค.๔๐วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา” ตรงกลางมียันต์ ด้านล่างเขียนว่า “รุ่นบุญรวยมา”

จุดสังเกตของรุ่นนี้ จัดสร้างเป็นเนื้อกะไหล่ทองเพียงเนื้อเดียว มีทั้งตอกโค้ดด้านหน้า 2 ตัว และแบบไม่มีโค้ด เป็นเหรียญที่แกะพิมพ์ตื้นมาก เพื่อป้องกันการปลอม

วัตถุมงคลของหลวงปู่ทิม นับเนื่องถึงปัจจุบันมีการจัดสร้างเป็นจำนวนมากมาย และได้รับความนิยมทุกรุ่น

 

มีนามเดิมว่า ทิม ชุ่มโชคดี เกิดวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม 2456 ปีฉลู ที่ ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา-มารดาชื่อ นายพร้อม และนางกิ่ม ชุ่มโชคดี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนลูกทั้งหมด 6 คน

ในช่วงวัยหนุ่ม ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ส่งตัวไปปฏิบัติราชการสงครามฝรั่งเศส รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งปลดประจำการ จึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2475 ที่วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มีหลวงพ่อปุ๋ย วัดขวิด เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อหลิ่ว วัดโพธิ์กบเจา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการหลิ่ว เจ้าอาวาสวัดพิกุล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แต่บวชได้เพียง 1 พรรษา ก็ลาสิกขาแต่งงานมีครอบครัวและมีบุตร-ธิดา 4 คน

หลังจากนั้น ได้กลับมาอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2491 ขณะอายุ 35 ปี ที่วัดพิกุล อ.บางบาล โดยมีพระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์) วัดน้ำเต้า เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา อัตตสันโต

หลวงปู่ทิม อัตตสันโต

อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

จากนั้นไปจำพรรษาอยู่วัดน้ำเต้ากับพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อสังข์ อยู่กับหลวงพ่อวัดน้ำเต้าประมาณ 1 เดือน ในระหว่างที่อยู่กับหลวงพ่อสังข์นั้น หลวงพ่อสังข์ไต่ถามถึงความเป็นมาของการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ผ่านมา เมื่อทราบความเป็นมาก็กล่าวชมเชยว่าใช้ได้

ต่อจากนั้น หลวงปู่ทิมได้นั่งปุจฉา-วิสัชนาอยู่กับหลวงพ่อวัดน้ำเต้าอย่างใก้ลชิด และทราบซึ้งในธรรมะมาก นับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้แนวทางการเจริญธรรมกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง และมีเวลาอยู่เจริญกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อวัดน้ำเต้าอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม

ต่อมาจึงย้ายมาจำพรรษายังวัดพระขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2492 และขึ้นเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2498

ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม หลวงปู่ทิมสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.2500

 

ลําดับงานปกครอง พ.ศ.2510 เป็นเจ้าคณะตำบลน้ำเต้า ตำบลพระขาว และเป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2512 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ราชทินนามที่ พระครูสังวรสมณกิจ

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

ผลงานด้านการพัฒนา บูรณปฏิสังขรณ์สภาพของวัดที่เก่าแก่แต่เดิม ให้มั่นคงถาวรทั้งหมด

ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และสร้างศาลาการเปรียญพร้อมทั้งเปลี่ยนกระเบื้องศาลาทั้งหมด ทำห้องสุขาชาย-หญิง พร้อมห้องน้ำ สร้างถังน้ำคอนกรีตใหญ่และศาลา สร้างสะพานคอนกรีตจากกุฏิไปยังศาลาการเปรียญ เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถ จากกระเบื้องเคลือบมาเป็นกระเบื้องลายเทพนม สร้างภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นภาพพุทธประวัติ และเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก

เป็นพระนักปฏิบัติ และชอบการปลีกวิเวกอยู่ในป่าช้า สมถะ รักสันโดษ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่จับต้องปัจจัยเงินทอง มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ มีความเมตตาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ หรือคนรวยคนจน ให้ความเสมอภาค การเข้ากราบไหว้ขอพร ทุกคนมีโอกาสเหมือนกันหมด

นอกจากนี้ ยังโดดเด่นด้านวัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ท่านศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อสังข์ พระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นต้น จนมีความเชี่ยวชาญชำนาญในวิปัสสนา

ท้ายที่สุด ด้วยสภาพสังขารที่ร่วงโรยไปตามวัย กอปรด้วยอายุที่ล่วงเลยเข้าสู่บั้นปลาย หลวงปู่ทิมย่อมไม่สามารถหลีกหนีสัจธรรมชีวิตที่เคยกล่าวปรารภไว้ได้เช่นกัน

วันที่ 22 มีนาคม 2552 ละสังขารจากไปอย่างสงบ ขณะเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก อ.เมือง จ.นนทบุรี

สิริอายุ 96 ปี พรรษา 62 •