ห้องอนุสรณปรีดี ที่ตึกโดมหลังรัฐประหาร 2549 (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ห้องอนุสรณปรีดี

ที่ตึกโดมหลังรัฐประหาร 2549 (1)

ผมได้ทราบข่าวผ่านทางเพจ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการจัดกิจกรรมพิเศษนำชมภายในตึกโดม ก่อนที่จะมีการปิดตึกเพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ในอีกไม่ช้า

การบูรณะครั้งนี้แม้จะยังไม่มีรายละเอียดมากนักว่าจะทำอะไรบ้าง แต่คงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในแง่การใช้สอยพื้นที่อาคารไปจากเดิมอยู่พอสมควร

ซึ่งเมื่อเห็นข่าว สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือ ห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์

ด้วยสถานะพิเศษของปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อธรรมศาสตร์ เชื่อแน่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ห้องอนุสรณสถานฯ คงได้รับความสำคัญและมีอยู่ต่อไป โดยอาจได้รับการออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น และเทคโนโลยีการจัดแสดงที่พัฒนาไปมากในปัจจุบัน

ผมเองในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบจัดแสดงห้องอนุสรณสถานฯ ในครั้งนั้นอยู่พอสมควร จึงอยากใช้พื้นที่นี้บันทึกเรื่องราวเบื้องหลังแนวคิดในการจัดแสดงเอาไว้ ก่อนที่ห้องจะถูกปิดลงอย่างเป็นทางการ และการจัดแสดงภายในอาจได้รับการออกแบบขึ้นใหม่

โถงแนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า เนื้อหาการจัดแสดงในครั้งนั้น เป็นหมุดหมายที่สำคัญหนึ่งของปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่ผมมักเรียกว่า “การเกิดใหม่ของคณะราษฎร”

“การเกิดใหม่ของคณะราษฎร” คือปรากฏการณ์ที่ประวัติศาสตร์และความทรงจำของคณะราษฎรได้รับการรื้อฟื้น ถามหา ค้นคว้า และตีความใหม่ จากสังคมในวงกว้างภายหลังการรัฐประหาร 2549 (จากที่เคยเป็นเพียงเรื่องราวเฉพาะในวงวิชาการแคบ ๆ เท่านั้น) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองกับเผด็จการอำนาจนิยมและการรัฐประหาร

ห้องอนุสรณสถานฯ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้ เพราะในราวกลางปี พ.ศ.2549 ธรรมศาสตร์มีแนวคิดที่จะปรับปรุงห้องอนุสรณสถานฯ เดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมขึ้นมาใหม่ โดยมอบหมายให้โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานการปรับปรุง

ต่อมา ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2549 (ภายหลังการรัฐประหาร 2549 เพียงไม่กี่วัน) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานทางวิชาการขึ้น ประกอบไปด้วย วารุณี โอสถารมย์, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ณัฐพล ใจจริง, ชาตรี ประกิตนนทการ, ดาวเรือง แนวทอง และศรอ์ศนัญย์ เจริญฐิตากร โดยคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทางต่างๆ ในการปรับปรุง

คณะทำงานได้ประชุมร่วมกันหลายครั้งและได้ข้อสรุปว่า สภาพของห้องอนุสรณสถานฯ ณ ขณะนั้น มีปัญหาสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

หนึ่ง การเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ในการจัดแสดงที่มีอายุการใช้งานมาแล้วกว่า 15 ปี

สอง วิธีการจัดแสดงที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ขาดการดึงดูดใจในแบบการจัดนิทรรศการสมัยใหม่

และสาม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือ การจัดแสดงเดิมไม่มี “โครงเรื่อง” ที่ชัดเจน ขาดการวิเคราะห์และตีความ “ความเป็นปรีดี พนมยงค์” ออกมาเพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักและเข้าใจ การจัดแสดงที่มีอยู่เดิมเป็นเพียงห้องที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ต่างที่เกี่ยวข้องกับตัวปรีดีมาจัดวางตามช่วงเวลาเท่านั้น ไม่มีพลังมากพอที่จะนำเสนอความสำคัญของปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อสังคมไทย

จากปัญหาที่กล่าวมา คณะทำงานได้นำเสนอความเห็นต่อมหาวิทยาลัยว่า การปรับปรุงห้องควรจะต้องปรับปรุงเนื้อหาการจัดแสดงใหม่ทั้งหมด

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเห็นชอบด้วย โดยในการทำงาน มหาวิทยาลัยได้ว่าจ้างบริษัท รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด มาทำหน้าที่ออกแบบและดูแลการก่อสร้างทั้งหมด โดยมีการเปิดตัวห้องอนุสรณสถานฯ ใหม่ ในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2551

 

คณะทำงานลงความเห็นว่า สิ่งที่สังคมไทยควรจดจำและระลึกถึงมากที่สุดเกี่ยวกับปรีดี มิใช่เรื่องราวชีวประวัติว่า คนคนนี้ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ได้รับรางวัลอะไรมาบ้าง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องราวเปลือกนอกเท่านั้น แก่นแท้สำคัญที่ควรทำความเข้าใจมากกว่าก็คือ ความคิดและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันการการทำต่างๆ ของปรีดี

“หลักการสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” คือ บทสรุปทางความคิดและอุดมการณ์ของปรีดี พนมยงค์ ที่คณะทำงานลงความเห็นว่า เป็นความคิดรวบยอดที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของปรีดีได้ดีที่สุด ดังคำกล่าวของปรีดีที่ได้เคยพูดถึงความคิดนี้ของตนเองไว้ว่า

“…ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์…ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติตามหลัก 5 ประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน…” (อ้างถึงในหนังสือ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย)

ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานทางวิชาการกับบริษัทผู้ออกแบบ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เนื้อหาการจัดแสดงภายในห้องอนุสรณสถานฯ จะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ที่มีลำดับเรื่องราวไล่เรียงไปตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดจนถึงอสัญกรรม โดยเกณฑ์การแบ่งในแต่ละส่วน จะเลือกจากเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของปรีดีที่ส่งผลต่อความคิด อุดมการณ์ และการกระทำต่างๆ

ทั้ง 6 ส่วนการจัดแสดง ประกอบไปด้วย โถงแนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย, บริบททางสังคมในช่วงเริ่มต้นชีวิต, สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ : แกนนำคณะราษฎร และหลัก 6 ประการ, มรสุมทางการเมือง : คอมมิวนิสต์ และกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8, ชีวิตช่วงปลาย : ผู้ลี้ภัยและการตกผลึกทางความคิด และการกอบกู้ภาพลักษณ์และเกียรติยศ

 

“โถงแนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” คือ พื้นที่ส่วนแรกเมื่อผู้เข้าชมเดินเข้ามาในห้อง พื้นที่ในส่วนนี้เป็นทั้งพื้นที่เริ่มต้นในการเดินชมและเป็นพื้นที่สุดท้ายของการเดินชมด้วย ดังนั้น คณะทำงานจึงต้องการออกแบบพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ที่แสดงสรุปรวบยอดแนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ เอาไว้ นั่นก็คือ “แนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย”

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ พื้นที่นี้จึงออกแบบให้ตำแหน่งศูนย์กลางคือที่ตั้งของรูปปั้นปรีดี พนมยงค์ โดยฉากหลังของรูปปั้นออกแบบให้เป็นเหมือนแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ 5 แท่ง แทนความหมาย “หลัก 5 ประการ” ของ “แนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” คือ เอกราช, อธิปไตย, สันติภาพ, ความเป็นกลาง และความไพบูลย์ประชาธิปไตย

แท่งคอนกรีต 5 แท่ง ด้านบนของแต่ละแท่ง จารึกข้อความที่แสดงหลัก 5 ประการของแนวคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเอาไว้ ซึ่งจารึกเป็น 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส

แท่งคอนกรีตออกแบบให้มีลักษณะเหมือนกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เปรียบเสมือนแนวคิดดังกล่าวของปรีดีที่ได้ถูกริเริ่มขึ้นไว้ แต่สุดท้ายก็ถูกละเลยไป ไม่สามารถที่จะลงหลักปักฐานและถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังได้ในสังคมไทย

บรรยากาศของการออกแบบในส่วนนี้ ต้องการเน้นให้เห็นถึงความสงบ และยิ่งใหญ่ของหลักการสำคัญที่ปรีดียึดถือ นอกจากนี้ พื้นที่ในส่วนโถง ยังออกแบบให้สามารถใช้ประชุมหรือจัดพิธีการเล็กๆ ของทางมหาวิทยาลัยได้ด้วย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญอีกประการในการออกแบบพื้นที่ในส่วนนี้

 

ส่วนต่อไปคือ พื้นที่จัดแสดง “บริบททางสังคมในช่วงเริ่มต้นชีวิต” โดยในส่วนนี้จะเน้นแสดงให้ผู้ชมสัมผัสถึงบริบททางสังคมไทย ณ ขณะที่ปรีดีเกิดและเติบโต ซึ่งเป็นบรรยากาศในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การเล่าเรื่องจะแบ่งออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรกคือผนังทางด้านซ้ายมือ ออกแบบเป็นแผนภูมิแสดงเหตุการณ์สำคัญๆ และปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สงครามโลก เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง น้ำท่วม ฯลฯ ตลอดจนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ในต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อตัวปรีดีและกลุ่มคณะราษฎรในเวลาต่อมา โดยจะแสดงคู่ขนานไปกับชีวประวัติช่วงต้นของปรีดีตั้งแต่เกิด เรียนวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส แต่งงาน กลับมาเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนกฎหมาย

ส่วนที่สองอยู่ทางด้านขวามือ ออกแบบเป็นดั่งประติมากรรมแท่งสี่เหลี่ยมหลายๆ แท่งที่มีความสูงต่ำลดหลั่นเป็นชั้นๆ จากต่ำไปสูง โดยเนื้อหาบนแท่งเหล่านี้จะแสดงภาพถ่ายเก่าในบรรยากาศของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไป เจ้านาย ตลอดจนชนชั้นสูงต่างๆ พร้อมทั้งยังแสดงให้เห็นภาพของพิธีกรรมสำคัญในยุคปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย

ภาพเหล่านี้ คือภาพที่แวดล้อมตัวปรีดีในช่วงต้นของชีวิต อันเป็นภาพของสังคมศักดินาที่มีการแบ่งชนชั้นกันในสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปรีดีมีความคิดในการปฏิวัติ 2475 ในที่สุด