3 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรม Y ไทย’ “Y” คืออะไร?/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

feedforfuture.co

 

3 เรื่องน่ารู้

เกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรม Y ไทย’

“Y” คืออะไร?

 

ในยุคนี้หลายคนอาจเริ่มคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า “ซีรีส์ Y” “วัฒนธรรม Y” หรือ “อุตสาหกรรม Y” มากขึ้น แต่อาจยังไม่แน่ใจนักว่า คำว่า “Y” (วาย) นั้นหมายถึงอะไรกันแน่?

ถ้าตอบอย่างกว้างๆ “Y” คือความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ที่กินขอบเขตตั้งแต่นิยาย การ์ตูน ไปจนถึงภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ในลักษณะ “ชายรักชาย” ของตัวละครหลัก

ทว่า จุดเด่นสำคัญ ก็คือ คนเขียน “นิยาย Y” ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภคหลักซึ่งเป็นสตรีเหมือนกัน

พูดอีกแบบ คือ “ความบันเทิงแบบ Y” เป็นเรื่องราวของ “ชายรักชาย” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการของผู้หญิง (แม้อาจมี “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” จำนวนหนึ่งที่เข้ามาร่วมผลิตและบริโภควัฒนธรรมบันเทิงกลุ่มนี้ด้วย)

“วัฒนธรรม Y” มีจุดกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคปลาย 1970 โดยมาจากคำว่า “ยะโออิ” ซึ่งหมายถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย”

สื่อชนิดแรกที่เผยแพร่ความบันเทิงแขนงนี้ คือ หนังสือการ์ตูน (ทำมือ) ของกลุ่มนักเขียนมือสมัครเล่น ที่นำเอาแคแร็กเตอร์ตัวละครจากการ์ตูนดังๆ หรือสื่อบันเทิงกระแสหลัก มาดัดแปลงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์คล้ายคลึงกับ “แฟนฟิก” ในปัจจุบัน

ก่อนที่ “วัฒนธรรม Y” จะแพร่ขยายไปยังสื่อประเภทอื่นๆ ตั้งแต่นิยาย ซึ่งนำมาสู่การจำแนกตัวละครหลักออกเป็น “พระเอก” (เซเมะ) และ “นายเอก” (อุเคะ) จนถึงสื่อภาพเคลื่อนไหว

แม้สังคมไทยจะคุ้นเคยกับการเรียกขานวัฒนธรรมบันเทิงกลุ่มนี้ว่า “Y” แต่ในอีกหลายประเทศ (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) มักเรียกชื่อผลงานบันเทิงกลุ่มเดียวกันว่า “Boy’s Love” (BL)

อย่างไรก็ตาม “BL” ยังอาจหมายความถึง “ยะโออิ” ที่เป็นผลงานต้นฉบับ ไม่ได้เป็น “แฟนฟิก” ที่ดัดแปลงจากสื่อบันเทิงกระแสหลัก รวมทั้งมีการนำเสนอภาพการร่วมเพศและเนื้อตัวร่างกายของตัวละครชายรักชายแบบเปิดเผย

 

“Y” เข้ามาในไทยตอนไหน?

และผ่านอะไรมาบ้าง?

“วัฒนธรรม Y” ถูกเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยช่วงยุค 1990-2000 (ราวทศวรรษ 2540) โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น” และ “การ์ตูนญี่ปุ่น” ที่กำลังเบ่งบาน

ทว่า ณ จุดแรกเริ่ม สังคมไทยโดยรวมกลับมอง “วัฒนธรรม Y” ในแง่ลบ ผ่านการนิยามว่านี่เป็น “การ์ตูนโป๊” หรือ “การ์ตูนเกย์ญี่ปุ่น” ยิ่งกว่านั้น ยังมีรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอถึง “ภัย-ความน่าวิตก” ของการ์ตูนประเภทนี้

จนก่อให้เกิดการบุกกวาดล้างหนังสือการ์ตูนกลุ่มดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใน พ.ศ.2548

สภาพการณ์ที่ถูกนิยามว่าเป็น “ช่วงหลุมดำ” ของ “วัฒนธรรม Y ไทย” ดำเนินต่อเนื่องไปถึงกลางทศวรรษ 2550 ผ่านสถานการณ์ใหญ่ๆ เช่น การที่ “นิยาย Y” เคยถูกห้ามขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ.2551 หรือการที่ผู้ดำเนินธุรกิจเครือข่ายร้านหนังสือเจ้าใหญ่เคยออกมาตรการไม่วางจำหน่ายวรรณกรรมที่มีเนื้อหารักร่วมเพศใน พ.ศ.2555

อย่างไรก็ดี “แสงสว่าง” ของ “วัฒนธรรม Y” บ้านเราก็ค่อยๆ ฉายส่องขึ้นใน พ.ศ.2550 ผ่านการถือกำเนิดของ “รักแห่งสยาม” ผลงานภาพยนตร์โดย “ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งทางด้านรายได้ เสียงวิจารณ์ และรางวัล

แม้หนังที่เล่าถึงประเด็นวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศเรื่องนี้จะมิได้มีองค์ประกอบที่เข้าข่าย “หนัง-ซีรีส์ Y” แบบครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ส่งอิทธิพลสำคัญมาสู่ “ผลงานงาน Y รุ่นหลังๆ” อย่างมิต้องสงสัย

“ประสบการณ์บาดแผล” จากปลายทศวรรษ 2540 และ “แสงเรืองรองแรกๆ” ใน พ.ศ.2550 คือ สองหมุดหมายหลักที่มักได้รับการเน้นย้ำอยู่เสมอในประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยจุดกำเนิดของ “วัฒนธรรม Y ไทย”

กระนั้นก็ตาม ดูจะมีปรากฏการณ์ร่วมสมัยอีกหลายหลากที่รอคอยการประเมินผลและการจดบันทึกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ

อาทิ การออกอากาศของ “Love Sick The Series : รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ซึ่งมีสถานะเป็น “ซีรีส์ Y เรื่องแรก” ของประเทศ การได้เวลาออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์ในช่อง 3 ของ “คุณหมีปาฏิหาริย์” หรือการโด่งดังข้ามทวีปของ “ซีรีส์ Y ไทย” (เช่น “เพราะเราคู่กัน” และ “คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ลา ฟอร์เต้”) เป็นต้น

 

จุดต่าง-จุดร่วมของ “Y” และ “LGBTQ”

ท่ามกลางกระแสชูธงสีรุ้งและการยอมรับคุณค่าของ “บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ที่ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย

หลายคนอาจสงสัยหรือสับสนว่า “วัฒนธรรม Y” นั้นมีที่ทางอยู่ตรงไหนในกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว? ความบันเทิงประเภทนี้คือส่วนหนึ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหวของกลุ่ม “LGBTQ” หรือเป็นอะไรอย่างอื่นที่มีความแปลกแยกผิดแผกออกมา?

“มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” และล่าสุด เพิ่งมีผลงาน “ทริอาช The Series” ตอบคำถามข้างต้นว่า “สื่อบันเทิงแนว Y” จะเน้นขายความเป็นแฟนตาซี ความเพ้อฝัน อุดมคติ อันเป็นภาพสะท้อนจากการ์ตูน

ส่วน “สื่อบันเทิงที่กล่าวถึง LGBTQ” จะนำเสนอเรื่องราวของผู้มีปมปัญหาเกี่ยวกับเพศสภาพ อันจะส่งผลกระทบต่อตัวตนของตัวละครรายนั้น บุคคลรอบข้าง และสังคมโดยรวม

ทางด้าน “กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” คนทำหนัง-ซีรีส์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเพศทางเลือกมาตลอด ยอมรับว่า เคยเกิดวิวาทะว่า “Y” นั้นไม่ใช่ “LGBTQ” แต่ตนเองกลับมองว่า “วัฒนธรรม Y” ถือเป็นซับเซ็ตหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ

อดีต ส.ส.ผู้นี้ เชื่อว่า “ความบันเทิงแบบ Y” สามารถถูกพัฒนาต่อยอด จากการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคนสองคน ไปสู่การพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่ใหญ่โตกว้างขวางขึ้นได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม

 

 

ติดตามเนื้อหาเชิงลึกว่าด้วย “วัฒนธรรม Y” ในสังคมไทยได้ที่ https://feedforfuture.co/ ตลอดเดือนกันยายนนี้

และเชิญรับฟังการสนทนาหัวข้อ “ประเทศไทยเมืองหลวงส่งออกซีรีส์วายสู่ตลาดโลก” โดย “อิน-สาริน รณเกียรติ” ตัวแทนนักแสดงซีรีส์ Y “อรวรรณ วิชญวรรณกุล” นักเขียนนิยาย Y และผู้ดำเนินงานสร้างซีรีส์ และ “ธนะมินทร์ วงษ์สกุลพัชร์” ผู้กำกับฯ ซีรีส์ Y คนแรกของไทย

ได้ในงาน “FEED Y CAPITAL เมืองหลวงซีรีส์วาย” ณ ลานจอดรถที่ 3 สยามสแควร์ (ร้านอาหารสีฟ้า) เวลา 13.40-14.40 น. วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565