ยูเอ็นเผย ‘แรงงานทาส’ ยุคใหม่พุ่ง 10 ล้านคนใน 5 ปี

ยูเอ็นเผย ‘แรงงานทาส’ ยุคใหม่พุ่ง 10 ล้านคนใน 5 ปี ชี้ 1 ใน 150 ตกสภาพถูกบังคับใช้แรงงาน

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า แรงงานทาสยุคใหม่กลายเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการผสมผสานของความขัดแย้งทางอาวุธ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก

รายงานฉบับล่าสุดของไอแอลโอระบุว่า มีคนราว 50 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 150 คน ที่ยังคงมีชีวิตหรือติดอยู่ในสภาพแรงงานบังคับหรือถูกบังคับให้แต่งงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านคนจากตัวเลขเมื่อ 5 ปีก่อน

ilo.org

กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการไอแอลโอ กล่าวว่า ความจริงที่ว่าสถานการณ์มันเลวร้ายลงถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะมีสิ่งใดที่จะสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นนี้ได้ เราตระหนักดีว่าจะต้องทำอย่างไร ทั้งสหภาพแรงงาน องค์กรนายจ้าง ภาคประชาสังคม และประชาชน ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

ไอแอลโอย้ำว่า การเป็นทาสไม่ได้จำเป็นที่จะต้องจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศยากจนซึ่งห่างไกลจากโลกตะวันตกเท่านั้น เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานบังคับทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศที่ร่ำรวยกว่าหรือประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง

ทั้งนี้ ไอแอลโอถือว่าแรงงานบังคับและการบังคับให้แต่งงานต่างถือเป็นแรงงานทาสยุคใหม่ เพราะทั้งสองสถานการณ์ล้วนทำให้บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การหลอกลวง การใช้อำนาจในทางที่ผิด และการบีบบังคับในรูปแบบอื่นๆ

ตามตัวเลขของไอแอลโอ มีแรงงานบังคับประมาณ 27.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3.3 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเพื่อการค้า ขณะที่มีผู้คนอีกราว 22 ล้านคน ที่ถูกบังคับให้แต่งงาน โดยมากกว่า 2 ใน 3 เป็นสตรี และเหยื่อของการถูกบังคับให้แต่งงานมีอายุต่ำกว่า 15 ปี

ไอแอลโอชี้ว่า ข้อเท็จจริงที่ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงอย่างมากเกิดจากการผสมผสานกันของวิกฤตการณ์ที่ซับซ้อน ซึ่งยิ่งเพิ่มโอกาสของความยากจนและเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้คนต้องตกเป็นทาสมากขึ้นด้วย โดยการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาไม่มีรายได้ หนี้สินเพิ่มพูนมากมาย และนำไปสู่การถูกใช้เป็นแรงงานบังคับได้บางกรณี ทั้งยังทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความยากจนทั่วโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

เช่นเดียวกับสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธที่นำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย มีการรับสมัครเด็กเพื่อทำงานหรือนำไปเป็นทหารเด็ก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ให้ผู้คนต้องละทิ้งบ้านเรือนและกลายเป็นผู้อพยพ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทันที

ไอแอลโอได้เรียกร้องให้มีความพยายามระหว่างประเทศในการรวบรวมทรัพยากรต่างๆ ควบคู่กับการมีเจตนามุ่งมั่นอย่างแท้จริงเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะแค่เพียงคำมั่นสัญญาและการแสดงเจตนารมณ์นั้นไม่เพียงพอ