แหล่งโปรแกรม Digital ที่รังสรรค์เสียง Analogue / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

แหล่งโปรแกรม Digital

ที่รังสรรค์เสียง Analogue

 

แม้จะดูเหมือนว่าสตรีมมิ่งได้กลายเป็นที่มาของความบันเทิงหลักของผู้คนไปแล้ว ทั้งในแง่ของการดูหนังและฟังเพลง ด้วยมีผู้ให้บริการทางด้านนี้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง และดูจะมากเกินพอชนิดที่ผู้บริโภคบางรายอาจจะเลือกไม่ถูกด้วยซ้ำ เนื่องเพราะมีให้เลือกใช้บริการได้ทั้งแบบฟรี และแบบเสียค่าใช้จ่ายที่มีอัตราผันแปรตามระดับคุณภาพของเนื้อหา หรือ Content ที่แตกต่างกันไป

แบบคอนเทนต์จากไฟล์มาตรฐานก็ราคาหนึ่ง แต่ถ้าจะเลือกฟังหรือดูจากไฟล์ความละเอียด/ความคมชัดสูง จำพวก Hi-Res หรือ Hi-Def ก็ต้องจ่ายอีกราคาหนึ่ง, อะไรทำนองนั้นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ให้บริการด้วยงานคุณภาพระดับพรีเมียม ไม่ว่าจะเป็น Hi-Res Audio หรือ Hi-Definition ระดับ Ultra ก็ตาม ก็ยังมีนักเล่นกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นฟากออดิโอไฟล์ หรือฝั่งวิดีโอไฟล์ ต่างก็ยังคงแสวงหาความเป็นเลิศของเครื่องที่เป็นแหล่งโปรแกรมของสื่อความบันเทิงที่เป็นความชอบส่วนตัวอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็น Turntable, CD/SACD Player ตลอดจน Blu-ray Disc Player ที่ต่างยังมีรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาให้เห็นอยู่เนืองๆ และให้เป็นที่ฮือฮากับบางเครื่อง บางรุ่น อยู่บ่อยครั้ง

เช่นกันกับ Digital Source ชุดหนึ่ง ที่แม้ออกตลาดมาได้สักระยะแล้ว คือมาก่อนหน้าการมาถึงของไอ้เจ้าไวรัสร้ายโคบ้าออกมาอาละวาดไล่ขวิดประชาคมโลกไม่กี่มากน้อย ชนิดที่พอเริ่มมีการพูดถึงเป็นช่วงที่ไอ้โคบ้าอาละวาดแบบเต็มสูบพอดี ก็เลยทำให้เสียจังหวะไปพอประมาณ ซึ่งจะว่าไปแล้วนับแต่ไอ้เจ้าโคบ้าโผล่มาขวิดนี่ ไม่ว่าวงการไหน ธุรกิจอุตสาหกรรมใด ต่างก็พากันรวนไปหมด จะซวนเซมากหรือน้อย จะถึงกับล่มสลายตายจาก หรือสามารถประคองตัวยืนระยะมาจนถึงวันนี้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับนานาองค์ประกอบที่กอปรกันขึ้นมาเป็นองค์รวมนั่นแหละครับ

กระทั่งช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่แหล่งโปรแกรมชุดนี้ได้ถูกนำมาพูดถึง (ในระดับสากล) และมีเสียงชื่นชมดังมากขึ้นติดต่อกันเรื่อยมา จนวันนี้เข้ามาบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เลยนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังครับ

 

แหล่งโปรแกรมชุดที่ว่านี้เป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดีแบบแยกชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องขับหมุนแผ่น หรือ CD Transporter ทำงานร่วมกับเครื่องแปลง/ถอดรหัสสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก หรือ D-to-A Converter เป็นเครื่องของค่าย C.E.C. ที่บ่งบอกตัวเองว่าเป็น Brand for Audio and Music Lovers คือแจ้งให้รู้กันชัดๆ ไปเลย ว่ามาเพื่อเอาดีทางด้านนี้จริงๆ

แบรนด์นี้มีสัญชาติญี่ปุ่น ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงกลางทศวรรษที่ 50s โดดเด่นอย่างมากเมื่อได้เปิดตัวเครื่องขับหมุนแผ่นซีดี Model TL 1 ในปี ค.ศ.1991 (ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ) ซึ่งเป็นเครื่องเล่นตัวแรกของโลกระดับ World’s First ที่ใช้ระบบขับหมุนแบบสายพาน (Belt Drive CD Transport) ที่ปกติแล้วจะมักคุ้นกันในระบบการขับหมุนของเครื่องเล่นแผ่นเสียงมากกว่า และน่าทึ่งกว่านั้นก็คือบรรดานักเล่น (ซึ่งอยู่ในยุคที่ดิจิทัล ซอร์ซ อย่าง CD/SACD Player กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก) ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าน้ำเสียงมันช่างละม้ายคล้ายอะนาล็อกเอามากๆ บางรายถึงกับออกปากว่าไม่ได้ยินเสียงอะนาล็อกแบบนี้มานานมากแล้ว (เพราะมัวแต่ฟังแผ่นซีดีอยู่ ไม่ได้ฟังแผ่นไวนีลเลย) ทั้งในแง่ของไดนามิก รายละเอียด และความละเอียดของเสียง ที่ไม่เคยได้สัมผัสจากดิจิทัล ซอร์ซ เครื่องไหนๆ มาก่อนเลย

ขณะที่บางรายบอกว่าไม่เคยได้ยินเรื่องทำนองนั้นมาก่อนเลย (คือเสียงจากแหล่งโปรแกรมดิจิทัลเหมือนหรือคล้ายกับเสียงอะนาล็อกเอามากๆ) กระทั่งได้มาฟังด้วยหูตัวเองนั่นละ และไม่เคยได้ยินเสียงแบบนี้มาก่อนเลยจริงๆ มันน่าทึ่งเอามากๆ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่าแม้แต่นักฟังระดับ Vinyl Lovers หลายต่อหลายรายได้ฟังเสียงจากชุดเครื่องเล่นแผ่นซีดีของค่ายนี้แล้ว ถึงกับชะงักงันลืมเสียงของไวนีลไปชั่วขณะนั่นเทียว

และที่สำคัญคือรายงานทดสอบจากนิตยสารเครื่องเสียงต่างๆ ทั่วโลก ต่างให้ความชื่นชมว่ามันสามารถนำเสียงดนตรีที่ผ่านการทำซ้ำมาเล่นกลับใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าได้ ด้วยประสิทธิภาพในระดับสูงสุดอย่างแท้จริง และนั่นคือสิ่งที่ C.E.C. บอกว่าวัตถุประสงค์ของพวกเขาบรรลุเป้าหมายแล้ว

นับเป็นนวัตกรรมของเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่ออกมาเขย่าโลกเครื่องเสียงในเวลานั้น ให้ต้องจารึกไว้เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งวงการนี้ เพราะนี่มันเปรียบได้กับการสร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับทำงานกับแผ่นซีดีโดยเฉพาะนั่นเอง

C.E.C. กล่าวว่าการพัฒนาระบบขับหมุนแผ่นแบบ Belt Drive System นั้น เกิดขึ้นมาจากสมมุติฐานทางเทคนิคที่ว่า โดยการทำงานของการขับหมุนแผ่นแล้ว ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นซีดีต่างก็เหมือนกันโดยพื้นฐาน แม้ว่าความเร็วของซีดีจะแตกต่างไปเพราะมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทีละน้อย แต่ก็พอจะสังเกตได้ว่าความเร็วในช่วงเวลาหนึ่งเป็นค่าคงที่ และจากผลลัพธ์ที่ได้นี้เอง ที่ได้นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบการเล่นกลับ (Playback System) ของเครื่องเล่นซีดีใหม่ทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นอิสระจาก Acoustic Feedback, ทำให้ค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน (Signal-to-Noise Ratio) สูงขึ้น รวมทั้งขจัดค่าคลาดเวลาในการถ่ายโอนข้อมูล หรือ Jitter ให้หมดไป

หลังจากได้พัฒนาระบบการทำงานดังกล่าวสำเร็จเสร็จสิ้น C.E.C. จึงได้นำไปจดสิทธิบัตรเอาไว้ทั่วโลก เพื่อระบุการเป็นเจ้าของผู้คิดค้นระบบการขับหมุนแผ่นซีดีที่เรียกว่า Belt Drive CD Transport นับแต่นั้นมา

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างมากกับการออกแบบดิจิทัล ซอร์ซ ทั้งยังได้รับคำชื่นชมอย่างเหลือล้นจากนักวิจารณ์ และเป็นที่ชื่นชอบอย่างยิ่งของบรรดานักเล่นเครื่องเสียงทั่วโลก แต่ C.E.C. กลับมีเครื่องรุ่นใหม่ๆ ออกมาให้เห็นค่อนข้างน้อย รวมถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแบรนด์ก็แบบนานทีปีหนจึงจะได้ยินกันสักคราว

สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากขาดสภาพคล่องและความเป็นอิสระในการดำเนินงานนั่นเอง เพราะแม้จะถือกำเนิดมากว่าหกทศวรรษ และมีผลิตภัณฑ์ระดับเชิดหน้าชูตาได้แบบไม่น้อยหน้าใคร รวมทั้งยังเป็นสินค้าที่ได้ชื่อว่าให้ความคุ้มค่าในความหมายของ Value for Money สูงมากก็ตาม แต่เรื่องการบริหารจัดการนั้นมันเป็นเรื่องภายในที่คนนอกยากจะรู้และเข้าใจได้จริงๆ ทราบแต่ว่าเคยอยู่ในเครือ Sanyo Electric และเมื่อสี่ซ้าห้าปีก่อนได้มีการปรับองค์กรขนานใหญ่หลังจากได้แหล่งทุนใหม่ ซึ่งทำให้ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบอีกครั้งจนวันนี้

เป็นวันนี้ที่ C.E.C. มีเครื่องเล่นแผ่นซีดีรุ่นใหม่ออกมาตอกย้ำให้รู้ว่าในยุทธจักรนี้เขามิได้เป็นสองรองใครแม้แต่น้อยเลย

สำหรับแหล่งโปรแกรมดิจิทัลแบบแยกชิ้นที่เป็นพัฒนาการล่าสุด ซึ่งได้กล่าวถึงเอาไว้ข้างต้นนั้น ประกอบไปด้วย Model TL2N ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Double Belt Drive CD Transport System กับ Model DA SL เครื่องแปลงสัญญาณที่ระบุไว้บนแผงหน้าปัดว่า Superlink D/A Converter

ไว้เที่ยวหน้าจะนำมาให้รู้จักกันครับ •