ล้านนาคำเมือง : วัดปงสนุก

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัด-ปง-สะ-หนุก”

วัดปงสนุกเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย ได้รับรางวัล “Award of Merit” โครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO ในปี พ.ศ.2551 จากการร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

โดยเป็นการร่วมอนุรักษ์โดยชุมชนและภาครัฐ เริ่มจากการศึกษาค้นคว้าตำรา พับสา ใบลาน ถึงความเป็นมาของวัด เดิม ซึ่งมีชื่อเรียกถึง 4 ชื่อ คือ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว และ วัดพะยาว

วัดปงสนุกเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่จึงมีการแบ่งเป็นวัดปงสนุกด้านเหนือและด้านใต้ โดยมีบริเวณอยู่ติดกัน มีเจ้าอาวาสประจำแต่ละวัด แต่เดิมวัดอยู่ติดแม่น้ำวัง ต่อมาภายหลังเมื่อสายน้ำในแม่น้ำวังเปลี่ยนทิศทางไป ที่แม่น้ำเดิมปัจจุบันจึงกลายเป็นถนน

ส่วนการที่ได้รับรางวัลนั้น เป็นเฉพาะส่วนอาคารที่เป็นวิหารพระเจ้าพันองค์ หรือวิหาร 12 ราศี หรือวิหารสะเดาะเคราะห์ ซึ่งอยู่ในเขตวัดปงสนุกใต้ ตัววิหารตั้งอยู่บนเนินซึ่งเกิดจากฝีมือคนทำเนื่องจากขุดค้นแล้วพบว่าใต้ฐานของวิหารลงไปเป็นอิฐโบราณทั้งหมด

บริเวณโดยรอบวิหารเป็นลานทรายเพื่อช่วยในการระบายน้ำ

ความโดดเด่นที่ทำให้วิหารพระเจ้าพันองค์แห่งนี้ได้รับรางวัล คือ รูปแบบในการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ โดยมีชาวบ้านเป็นแกนนำในการบูรณะ ใช้ช่างฝีมือในชุมชนทั้งหมด และให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือมีการใช้วัตถุเดิมเกือบทั้งหมดในการซ่อมแซม

การเพิ่มเติมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีบ้างบางส่วนที่ไม่กระทบกับองค์ประกอบหลัก ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากรูปแบบของพระพิม 1,080 องค์ ที่เป็นที่มาของชื่อวิหารที่ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากของเดิมแตกหักสูญหายไปเป็นจำนวนมากเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 10 องค์ แต่ก็สร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมทุกประการ

ส่วนที่เป็นดอกปูนปั้นประดับที่เสาวิหารก็บูรณะตามแบบเดิม คือเป็นรูปแบบที่มาจากช่างฝีมือชาวบ้านซึ่งอาจจะไม่นับว่าวิจิตรมากนัก แต่ก็มีความประณีตในระดับหนึ่ง ทำให้การบูรณะซ่อมแซมวิหารพระเจ้าพันองค์เป็นการซ่อมแซมที่มีการรักษาของเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์

หากใครมีโอกาสไปเที่ยวชม ลองสังเกตดูส่วนที่เป็นหินสีที่ใช้ประดับยังเป็นของเก่าเกือบทั้งหมดสำหรับเสาวิหารบางเสา ลองสังเกตดอกปูนปั้นที่ประดับอยู่ ดอกไหนสีหม่นหรือดูมอมแมมแสดงว่าเป็นของเก่าของเดิม ส่วนของใหม่ก็จะมีสีสดใส หรือโคนเสาบางต้นไม่ได้ทำสี เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นทั้งของเก่าและของใหม่ ที่อยู่ด้วยกัน

แสดงว่าการซ่อมแซมนี้เป็นการทำโดยใช้ของเดิมทั้งหมด ตลอดจนสามารถรักษารูปแบบเดิมไว้ทุกประการ

ตรงกลางวิหารจะมีพระพุทธรูปอยู่ 4 องค์ หันหน้าออก 4 ทิศ ตามรูปแบบของวิหารจตุรมุข ที่ฐานของพระพุทธรูปมีสัตว์ประจำนักษัตรตามแบบคติล้านนาตามทิศต่างๆ

เหมาะสมแล้วที่วัดปงสนุกได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับสากล