สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ข้าวกรู-ข้าวเปรต เดือน 10’ รัชกาลที่4 ไม่โปรด

สารทเดือน 10 มีทำข้าวกรู ข้าวเปรต เซ่นผีหรือเลี้ยงผีบรรพชนปู่ย่าตายาย

 

เซ่นผี
ร.4 ไม่โปรดข้าวกรู ข้าวเปรต มีในพระราชนิพนธ์ ร.5 หนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ดังนี้

“เมื่อทรงบาตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระ ในหอพระนั้น มีกระทงข้าวกรู ตั้งบนโต๊ะเงินกระทงหนึ่ง กระทงข้าวเปรตตั้งบนโต๊ะเงินอีกโต๊ะหนึ่ง”

“ข้าวกรูและข้าวเปรตนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดอย่างยิ่ง ถ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อใดก็รับสั่งเป็นการล้อเล่นต่างๆ แต่ยังทรงจุดเทียนและรินน้ำหอม เป็นการเล่นเสมอทุกปี และทรงแปลคาถาที่สำหรับบูชา ซึ่งรับสั่งว่าพูดไม่เป็นภาษาคน เที่ยวล้อเถ้าแก่ท้าวนางต่างๆ เกือบจะทุกปี”

 

ข้าวกรู
“กระทงข้าวกรูนั้นใช้กระบุง มีกระบอกสักหวายติดอยู่กลางกระบุง แล้วหุ้มใบตองจัดของกินคาวหวานลงในกระบุงหรือกระทงนั้น แล้วมีต้นไม้ปักที่กระบอกกลางกระบุง

บนต้นไม้นั้นมีธงจระเข้ตัดด้วยเศษผ้านุ่งผ้าห่มเล็กน้อยแขวนรุงรังไป มีดอกไม้จีนประดับช่วยให้งามด้วย ที่ลำต้นของต้นไม้นั้นผูกดอกตะแบกช่อหนึ่งหรือสองช่อ มีเทียนธูปเสียบไม้กลัดอย่างละดอกเหน็บที่ปากกระบุงสำหรับทรงจุด

เมื่อทรงบูชาพระพุทธรูปแล้ว กระทงข้าวกรูนี้ยกไปถวายพระสงฆ์ฉัน”

ชื่อข้าวกรูมีอยู่ในพระราชนิพนธ์ ร.5 อีกว่า

“คำที่เรียกว่าข้าวกรูนั้น ชะรอยจะมาจากภาษามคธว่ากุระ แปลว่าข้าวอย่างหนึ่ง ตามดิกชันนารีชิลเดอร์แปลว่า ข้าวต้มให้สุกแล้ว แต่เรียกซึมซาบกันไปก็กลายเป็น กรู ครั้นเมื่อกรูแปลไม่ออกแล้วจึงมีผู้เดาเป็นตรูต่อไปอีกเพื่อจะให้ได้ความ แต่เหตุใดจึงมาทำข้าวกรูกันในฤดูสารท ไม่ได้ความ หรือจะทำให้เป็นคู่กันกับข้าวผอกกระบอกน้ำ ซึ่งได้ทำในเวลาตรุษสุดปีบ้างดอกกระมัง”

 

ข้าวเปรต
ข้าวเปรต ในพระราชนิพนธ์ ร.5 ว่าเห็นจะมาจากเครื่องเซ่นของลาว ที่ได้แบบจากฮินดูมาผสมในสมัยหลัง

“ข้าวเปรตนี้ เห็นจะติดมาแต่ผู้ที่เคยเซ่นผีปู่ย่าตายายอย่างฮินดู ถ้ามิฉะนั้นดีร้ายก็จะมาจากลาวอยู่ในเรื่องเซ่นผี”

“เรื่องข้าวเปรตที่ไม่ได้ทำบุญสุนทานอันใด เป็นแต่เอาไปกองไปทิ้งให้อย่างเซ่นผี”

“ข้าวเปรตอีกโต๊ะหนึ่ง มีกระทงเล็กๆ มีข้าววางอยู่นั้นหน่อยหนึ่ง—-มีของกินคาวหวานกองปนๆ กันโรยหน้า

มีธงเล็กๆ ปักอันหนึ่ง ดอกตะแบกดอกหนึ่งหรือสองดอกโรยปนอยู่กับอาหาร มีหมากคำหนึ่งพลูจีบหนึ่ง มีธูปเล็กๆ ดอกหนึ่ง เทียนเล็กๆ ดอกหนึ่ง เสียบลงไปกับข้าวดื้อๆ เช่นนั้น

กระทงเช่นนี้มี 8 กระทง มีกระทงน้ำอีกกระทงหนึ่ง ขวดคอปล้องกรองน้ำดอกไม้สดขวดหนึ่ง สำหรับรินลงในกระทงเวลาเมื่อบูชาหรืออุทิศ”

 

นิทานข้าวกรู ข้าวเปรต
ร.5 ทรงเล่าไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่าข้าวกรูมีนิทานกำกับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเปรต ดังนี้

“มีพรานเนื้อคนหนึ่งเมื่อไปไล่เนื้อกลับมาถึงบ้าน ก็แจกเนื้อให้แก่เด็กๆ ทั้งปวง

วันหนึ่งพรานไปไม่ได้เนื้อ จึงเก็บดอกตะแบกหรือดอกราชพฤกษ์ก็ว่า ประดับกายและหาบมาเป็นอันมาก ครั้นเมื่อมาถึงประตูบ้าน เด็กๆ ทั้งปวงก็มาขอเนื้อตามเคย พรานจึงแจกดอกตะแบกให้คนละช่อ ครั้นพรานนั้นตายไปเกิดในเปตนิกาย มีดอกตะแบกเป็นเทริดศีรษะเดินไปในน้ำ หวังจะไปหาอาหารที่บ้าน

ในเวลานั้นโกฬิยะอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารออกไปชำระความผู้ร้ายตามหัวเมือง ล่องเรือมาเห็นเปรตนั้น ไต่ถามได้ความแล้วก็มีความกรุณา จึงว่าข้าวสัตตูของเรามีทำไฉนท่านจึงได้

เปรตนั้นตอบว่าถ้าในเรือนี้มีอุบาสกตั้งอยู่ในสรณะ ท่านจงให้ข้าวนั้นแก่อุบาสก แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่เรา

อำมาตย์นั้นก็ทำตาม เปรตได้อนุโมทนาตั้งอยูในความสุขแล้ว จึงสั่งว่าให้ท่านทั้งหลายกรุณาแก่เปตนิกาย เมื่อทำกุศลสิ่งใดๆ แล้วให้อุทิศส่วนบุญให้

ครั้นเมื่ออำมาตย์กลับมาถึงบ้าน นิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์บริสัช มาถวายทาน แล้วกราบทูลเรื่องเปรตนั้นให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงอธิษฐานให้มหาชนประชุมพร้อมกัน แล้วแสดงเปตนิกายให้ปรากฏ มีเรื่องราวกล่าวมาดังนี้”

 

ผีเปรต
เปรตเป็นผี เรียก ผีเปรต เป็นความเชื่อดั้งเดิม มีในพระราชนิพนธ์ของ ร.5 ดังนี้

“เรื่องเปรตนี้ เป็นสัตว์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกในศาสนาพราหมณ์โบราณ ตามสำนวนสันสกฤตว่า ปิตรี หมายเอาว่าเป็นผีจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องของชนทั้งปวง ตายไปเป็นปิตรี มีออกชื่อและเล่าเรื่องราวที่มาวุ่นวายต่างๆ ถี่ๆ เปรตคือออกจากปิตรีนี้เอง

ที่มามีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จะเป็นอนุโลมมาจากศาสนาเดิม ซึ่งคนในประเทศอินเดียถือกันอยู่ว่ามีมาแต่โบราณแล้วนั้น จะตัดสินคัดค้านเสียว่าไม่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาแต่เดิมเลยก็ยากอยู่”