ธงทอง จันทรางศุ | ‘กันยายน’ ที่มาถึง

ธงทอง จันทรางศุ

เผลอตัวไปเพียงครู่เดียว เดือนกันยายนก็มาถึงเข้าโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

สำหรับชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เดือนกันยายนก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพียงเดือนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนตุลาคมเท่านั้น

แต่สำหรับคนที่เป็นข้าราชการแล้ว เดือนกันยายนมีความพิเศษหลายประการ

ข้อแรก พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ เสียก่อนดีไหมครับ

วันที่ 30 กันยายนเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ รุ่งขึ้นคือวันที่ 1 ตุลาคม ก็จะเป็นปีงบประมาณใหม่ สำหรับคราวนี้เป็นการขึ้นต้นปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเริ่มต้นก่อนปีปฏิทินสามเดือน

ทำไมปีงบประมาณบ้านเราจึงขึ้นต้นเร็วกว่าปีปฏิทินเช่นนี้ผมก็ยังหาสาเหตุไม่พบ

ลงท้ายก็เหมือนกับอะไรอีกหลายอย่างในเมืองไทยที่ไม่รู้ว่าทำไม รู้แต่เพียงว่าทำอย่างนี้มานานแล้ว เพราะฉะนั้น จงทำต่อไปเถิด ทำแล้วจะเป็นสวัสดิมงคลดีนักแล

เมื่อครั้งที่ผมยังอยู่ในราชการ เมื่อใกล้จะถึงสิ้นปีงบประมาณคือสิ้นเดือนกันยายนอย่างนี้ เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องเร่งรัดการใช้เงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้ได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ความข้อนี้ก็มีเหตุผลเหมาะสมอยู่ เพราะในเมื่อเวลาที่เราตั้งงบประมาณนั้นเท่ากับเราสัญญากับประชาชนว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มีความจำเป็นต้องดำเนินการ โดยต้องใช้เงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้

เมื่อรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยอนุมัติให้เราได้ใช้เงินตามที่เสนอขอตั้งงบประมาณไปแล้ว เราก็ต้องใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามแผนงานหรือโครงการที่เสนอไว้

ถ้าทำงานได้สำเร็จครบถ้วน แต่จำนวนงบประมาณยังเหลือจ่ายอยู่ เนื่องจากเราสามารถประหยัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้บ้าง เรื่องแบบนี้ก็ต้องถือว่าน่าชมเชย

แต่เรื่องที่ไม่น่าชมเชยก็มีอยู่ และเป็นเรื่องที่หัวหน้าหน่วยงานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ นั่นคือได้งบประมาณมาแล้ว แต่ใช้จ่ายไม่ทันตามกำหนดเวลา ทำให้เงินเหลือค้างยอดอยู่ ขณะเดียวกันงานก็ไม่เกิดขึ้นตามที่สัญญา หรือเกิดขึ้นแต่ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ คราวนี้ล่ะครับ จะต้องเกิดความเดือดร้อนขึ้น

เช่น ต้องมีกรรมวิธีที่เรียกว่า “กันเงินเหลื่อมปี” หมายความว่าการแจ้งขออนุมัติไปยังสำนักงบประมาณว่าเงินที่ใช้ไม่หมดนั้นขอเก็บใส่กระเป๋าของหน่วยงานเราไว้ก่อน ยังไม่ส่งคืนกระทรวงการคลัง

ที่ต้องเก็บใส่กระเป๋าไว้ก็เพื่อรอไว้จ่ายเมื่อนั้นเมื่อนี้ตามที่กำหนดอยู่ในสัญญากับเอกชน

ถ้าไม่มีสัญญาหรือไม่มีความผูกพันอะไรมั่นคงไว้ มีแต่เพียงลมปาก หน่วยราชการต่างๆ ก็ต้องส่งเงินคืนคลังไปทั้งสิ้น

การใช้จ่ายเงินได้ครบถ้วนตามโครงการที่เสนอขอไปโดยใช้เงินงบประมาณได้ถูกต้องหรือใช้ได้โดยประหยัดแต่ได้เนื้องานเต็มที่ เป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงานของหัวหน้าหน่วยทุกคน

เรื่องเช่นนี้จะมาเร่งรัดในเดือนกันยายนเดือนเดียวไม่ได้หรอกครับ ต้องดูกันมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ หรือบางครั้งต้องเตรียมการล่วงหน้าก่อนขึ้นต้นปีงบประมาณเสียด้วยซ้ำ

สิ้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ผมเกษียณอายุมาได้เจ็ดปีเต็ม ไม่มีหน้าที่ต้องไปเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณหรือกันเงินเหลื่อมปีอะไรอีกแล้ว

หน้าที่มีแต่เพียงใช้เงินในกระเป๋าสตางค์ตัวเองให้พอควร วัยนี้แล้วอย่าได้คิดเป็นหนี้เป็นสินใครอีก

เจ้าหนี้ทั้งหลายดูบัตรประชาชนของผมแล้ว เห็นปีเกิดก็ไม่ยอมให้กู้เงินเหมือนกัน สมน้ำสมเนื้อกันดีแท้ๆ

ความพิเศษของเดือนกันยายนข้อที่สองคือ เป็นเดือนแห่งการเกษียณอายุและโยกย้ายข้าราชการทั้งหลาย

ตอนเป็นข้าราชการผู้น้อยก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าเดือนนี้จะพิเศษอะไรมากมาย ตอนเราเป็นเด็ก ตำแหน่งว่างเหนือเราขึ้นไปนี่เยอะแยะ เพียงแค่ทำงานตามปกติเงินเดือนก็ได้เลื่อน ตำแหน่งก็ได้ขยับ ถ้าปีใดทำดีเป็นพิเศษได้สองขั้น เพียงนี้ก็ตื่นเต้นเต็มที่แล้ว

แต่เราต้องไม่ลืมว่าระบบการทำงานทั้งภาคราชการและภาคเอกชนทั้งหลาย ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายพีระมิด คือมีฐานกว้างและมียอดแหลม

ยกตัวอย่างเช่น ในกรมฝ่ายพลเรือนหนึ่งกรม ข้าราชการผู้น้อยที่เรียกโดยรวมว่าเป็นตำแหน่งปฏิบัติการ หรือชำนาญงานมีจำนวนนับร้อย แต่พอขึ้นไปถึงตำแหน่งชำนาญการพิเศษอาจจะเหลือจำนวนเพียงไม่กี่สิบคน ดังนั้น จึงแปลว่า ใช่ว่าทุกคนที่ทำงานอยู่ในระดับชำนาญงานจะได้เลื่อนขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษ

ถัดขึ้นไปจากชำนาญการพิเศษ ก็ต้องไปเข้าแถวรอต่อคิวขึ้นยอดพีระมิด

ต้องเป็นอำนวยการชั้นต้น อำนวยการสูง ต้องเป็นบริหารต้น แล้วสุดท้ายปลายทางจึงเป็นบริหารสูง คือตำแหน่งอธิบดี ซึ่งทั้งกรมมีอยู่คนเดียว

ผมเองต้องถือว่าเป็นคนมีโชควาสนาในทางรับราชการพอสมควร เพราะใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยนานถึง 20 กว่าปี ตำแหน่งในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ไม่มีลักษณะเป็นพีระมิด

ใครจะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ ไม่มีจำนวนโควต้ากำหนด

เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องทำงานให้มีคุณภาพและปริมาณถึงขีดขั้น มีการประเมิน มีกำหนดกติกาอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าผ่านกติกาเหล่านั้นได้ก็สามารถเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการตามลำดับชั้นข้างต้น

ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยจนกระทั่งมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ แล้ววันดีคืนดีก็มีคนชวนผมย้ายไปรับราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบันนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นตำแหน่งประเภทบริหารสูง เทียบเท่าอธิบดีเลยทีเดียว

ชีวิตผมจึงไม่เคยรู้รสชาติของการเป็นข้าราชการในตำแหน่งที่บางครั้งเรียกกันในความขมขื่นว่า ชำนาญการ (นานเป็น) พิเศษ

ผมเป็นรองปลัดกระทรวงเมื่ออายุ 46 ปี ใครต่อใครรวมทั้งตัวผมเองด้วยก็มีความคาดหวังว่า เหลือเวลาอีก 14 ปีกว่าจะเกษียณอายุราชการ ผมคงได้เป็นปลัดกระทรวงบ้างล่ะน่า อีกเจ็ดปีต่อมาผมก็ได้เป็นเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่าตำแหน่งปลัดกระทรวงสมจริงดังเขาว่า

ผมอยู่ที่ตำแหน่งนั้นสามปีเศษแล้วย้ายไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนเกษียณอายุราชการในที่สุด

มองดูภาพใหญ่อย่างนี้ คนจำนวนมากคงเห็นว่าผมมีความเจริญก้าวหน้าในราชการดีและดีเป็นพิเศษเสียด้วย คงไม่เคยอกหักหรือผิดหวังอะไร

ในชีวิตจริงของมนุษย์ ใครเล่าจะไม่เคยอกหักหรือผิดหวัง เป็นไปไม่ได้หรอกครับ

ครั้งหนึ่ง ขณะเมื่อผมเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมมาหลายปีแล้ว เวลานั้นเพิ่งมีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นได้ไม่เพียงกี่ปี ใกล้ถึงเดือนกันยายนอย่างนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะเกษียณอายุราชการ ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าตัวเราได้เป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมคงทำงานสนุกเป็นแน่ เพราะเป็นงานที่ผมสนใจ และรู้จักผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนไม่น้อย งานน่าจะเดินดี

ลองวิ่งเต้นเสียหน่อยจะเป็นไร

ผมได้ไปปรึกษากับท่านผู้ใหญ่ในระดับรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ว่าจะเหมาะควรหรือไม่ถ้าผมจะอาสาไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว ท่านกรุณาเห็นดีเห็นงามไปด้วยและรับปากว่า จะได้ลองไปคุยกับรัฐมนตรีของกระทรวงนั้นว่าจะเห็นเป็นเช่นไร

คำตอบที่ได้รับกลับมาก็เป็นดังที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่า ผมไม่เคยเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ฮา!

 

ชีวิตข้าราชการในเดือนกันยายนจึงเป็นเดือนที่ต้องเตรียมใจไว้พร้อม เพื่อพบกับทั้งความสมหวังและความผิดหวัง

อย่าให้ความผิดหวังทำลายคุณค่าความเป็นตัวตนของเรา นึกเสียว่าโอกาสยังไม่ใช่ของเราตอนนี้ ขณะนี้เราก็ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย อย่าทำง่อยเปลี้ยเสียขาเสียเปล่าๆ

ถ้าให้ทุกคนสมหวังกันหมด กรมหนึ่งมิต้องมีอธิบดีสัก 30 คนหรือ เดือนหนึ่งจะได้แบ่งงานช่วยกันทำคนละหนึ่งวัน

ทำเป็นกองทัพประเทศสารขัณฑ์ไปได้ นายร้อยรุ่นเดียวกันทุกคนต้องได้เป็นนายพลกันหมด

เห็นช้างขี้จะไปขี้ตามช้างไม่ได้หรอกครับ อิอิ