ระหว่างทางของบทสนทนาที่หายและหวน / ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด : ปราปต์

ประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด

ปราปต์

 

ระหว่างทาง

ของบทสนทนาที่หายและหวน

 

ว่ากันว่าพอเริ่มแก่ตัว คนเราจะนึกถึงความหลัง นัดดาไม่คิดว่าตัวเองแก่ แต่ภาพตรงหน้าพาให้ความทรงจำเก่าๆ หวนขึ้นมาเท่านั้น

หญิงชรารูปร่างเล็กผมหยิกดำแซมขาว หิ้วกระเป๋านักเรียนด้วยมือหนึ่ง อีกมือประคองตะล่อมให้แม่หลานตัวน้อย ก้าวกระเถิบเข้าข้างถนนอันเป็นดินเฉอะแฉะสูงๆ ต่ำๆ แดดบ่ายมีผืนเมฆช่วยกรองให้แสงทอดลงเป็นลำแค่เบาบาง พอให้คนเดินทางไม่ต้องเพิ่มภาระหยิบร่มชู

ยายก็รูปร่างเท่าๆ กันนี้ นัดดาจำได้ว่าสมัยเรียนประถมต้น แกเป็นคนพาหล่อนไป-กลับโรงเรียนทุกวัน โรงเรียนเดียวกันกับแม่หนูน้อยข้างหน้านี่ละ ต่างเพียงว่า สมัยนั้นเส้นทางแถวนี้ยังเป็นเรือกสวน สลับกันระหว่างสวนพลูกับพวกไม้ให้ผลอย่างมะม่วง มะพร้าว ไม้ดอกอย่างชบา พู่ระหง เรื่อยไปถึงผักสวนครัวที่ชาวบ้านปล่อยให้ขึ้นเอง แต่ล้วนแตกยอดงามดี

เสียงฝีเท้าย่ำดังคลอไปกับเสียงบทสนทนาระหว่างยายหลานข้างหน้า หลานสาวชี้ไปยังเถาตำลึงอันทอดพันรกเรื้อข้างทาง ถามว่าทำไมสองใบดูต่างกัน ยายตอบว่าใบหนึ่งที่หยักชัดเป็นตำลึงตัวผู้ อีกใบเป็นตัวเมีย เวลากินต้องดูดีๆ ถ้าเผลอกินตัวผู้เข้าไปจะท้องเสียได้ หลานถามขึ้นใหม่ ใบไม้อย่างอื่นเป็นเหมือนกันมั้ย ที่ตัวผู้จะทำให้ท้องเสีย ยายก็ว่าไม่เหมือน แล้วแต่พันธุ์ หลานถามว่างั้นจะรู้ได้ยังไง คราวนี้ฝ่ายยายจนคำตอบ

นัดดาตกอยู่ในความใคร่ครวญ คนที่กินเข้าไปตอนแรกย่อมไม่รู้ ‘คนเราเริ่มโง่มาก่อนทั้งนั้น รู้ตัวว่าโง่แล้วถึงจะเริ่มฉลาด จากนั้นจะหยุดโง่มั้ยก็อยู่ที่เราจะเลือกทำอะไรต่อ’

หล่อนไม่แน่ใจว่าประโยคนั้นเป็นคำที่คิดขึ้นเองหรือทอดถ่ายจากยายมาอีกที สมัยเด็ก นัดดากับยายมีเรื่องคุยไปตลอดทางไม่ต่างจากคู่ข้างหน้า จากโรงเรียนถึงบ้าน เมื่อวัดด้วยระยะก้าวของเด็กน้อยนับว่าไกลเหลือเกิน กว่าจะเดินถึงจุดหมายแต่ละครั้ง หล่อนกับยายคุยอะไรกันบ้างหนอ คุ้ยคิดก็พอจะนึกได้แค่คำบ่น ว่านัดดาช่างซักเหลือเกิน ถามจนยายเหนื่อยจะตอบ ถึงอย่างนั้นหล่อนก็ยังถามต่อ ส่วนยายคงไม่วายตอบเรื่อยไป ช่างน่าแปลกที่หญิงสองวัยห่างกันมากกว่าสามสิบปี กลับสนิทสนมกันมากขนาดนี้

แปลกใจ…เพราะตอนนี้หล่อนกับยายแทบไม่มีอะไรให้คุยกัน – เรียกว่าไม่ได้คุยกันอีกเลยจะถูกกว่า หลังจากสนทนาแต่ละทีแล้วมักมีเรื่องขัดแย้งแทบทุกคำ

สิบกว่าปีผ่านไป อะไรๆ ก็แทบไม่เหลือเค้าเดิม บ้านสวนอันซ่อนอยู่ลึกลับจนเมื่อญาติจากต่างจังหวัดของแม่ขับรถเข้ามา ยังขนานว่า ‘บ้านโคก’ เดี๋ยวนี้พอจะมีถนนหนทางชัดขึ้นบ้าง บ้านพ่อหล่อนกับเพื่อนบ้านในซอยนี้ร่วมกันบริจาคที่ แล้วเรี่ยไรกันซื้ออิฐซื้อดินมาถมพอให้สัญจรได้ สวนพลูเริ่มหาย บางแห่งเจ้าของเปลี่ยนกิจการเป็นสวนกล้วยไม้ไว้ตัดส่งออก อะไรต่อมิอะไรล้วนต้องติดต่อกับโลกข้างนอกทั้งนั้นจึงจะเจริญก้าวหน้า

นัดดาเคยคิดอย่างนั้น และพลอยคิดว่าตัวเองอาจไม่มีวันกลับมา

ยายนั่นละเป็นคนปลูกฝังว่าการศึกษาจะช่วยให้ไปได้ไกล ไม่ต้องทำงานสวนและวิ่งช่วยงานงกๆ ในบ้านอย่างแม่ จะว่าไปแล้วยายก็เป็นคนหัวสมัยเมื่อเทียบกับคนในสังคมเดียวกัน สิ่งเหล่านั้นอาจทอดถ่ายมาถึงหล่อนในแต่ละก้าวที่เคยเดินเคียง ในที่สุดทุกก้าวพาหล่อนลุสู่ความเป็นบัณฑิตสาว ได้ทำงานอยู่กับกลุ่มคนก้าวหน้าในวงการน้ำหมึก มีชีวิตไม่ต่างจากพ่อ ผู้ชายที่นานๆ ครั้งจึงจะคืนมา นานจนบางทีหล่อนถามยายว่าทำไมจึงเรียกที่นี่ว่า ‘บ้านพ่อ’ ทั้งที่พ่อแทบไม่เคยโผล่หน้า ทำไมพ่อจึงมีความเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้มากกว่าคนอาศัยและอยู่ดูแล

หลังคาจั่วเริ่มโผล่พ้นทิวไม้ นัดดากระชับกระเป๋าเดินทางเข้ากับตัวไว้เพื่อผ่อนน้ำหนัก หน้าจั่วนั้นชวนให้รำลึกถึงภาพตาที่มักออกมานั่งม้าโยกโบกพัดยามเย็น หล่อนจะตะโกนทักเสียงแจ๋วแล้วยกมือไหว้ ยายให้ไปล้างมือล้างหน้าในครัว ที่นั่นแม่มักกำลังสาละวนเตรียมมื้อเย็นสำหรับคนทั้งสี่ เห็นหน้าหล่อนเข้าก็ยื่นขนมให้ แม่ชอบเรียกใช้ แต่หล่อนไม่ชอบช่วย รู้สึกมาตั้งแต่เด็กว่าครัวเล็กไม่ใช่ที่ทางของตัว จะยอมขลุกอยู่ก็ต่อเมื่อวันไหนที่พ่อกลับมา แล้วร่างสูงใหญ่นั่งแปะคุยกับแม่แถวนั้น

พ่อทำงานเป็นพนักงานขาย ยายขำว่าพ่อขายตัวเองเก่งยิ่งกว่าขายของเสียละมั้ง พ่อต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจไกลๆ กลับมาทีไรก็จะมีของฝากสำหรับลูกสาวคนเดียวทั้งของกินของเล่น แต่ที่นัดดาชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องเล่า นิทานของพ่อโลดโผน บางทีก็สัปดนจนแม่ต้องเดาะลิ้นมองค้อน แต่หล่อนที่นั่งอยู่หว่างตักพ่อจะอ้อนให้แกเล่าต่อ คงเพราะเหตุนี้ ถึงไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกบ่อย ไม่ได้แสดงความรักกันอย่างพ่อลูกบ้านอื่น จนบางครั้งอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ที่แท้คำว่า ‘พ่อ’ คืออะไร หล่อนก็ยังสนิทสนมจนแทบจะเล่นหัวกับแกได้ พ่อสอนให้หล่อนเป็นคนทันสมัย ไม่น่าเบื่อช่างบ่นเหมือนแม่

จึงไม่แปลกที่หล่อนรอการกลับมาของพ่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

เดี๋ยวนี้ม้าโยกหน้าบ้านตัวนั้นกลายเป็นที่นั่งประจำของยายไปแล้ว ตอนที่หญิงสาวเดินมาถึง แกกำลังนั่งทอดสายตามองเด็กน้อยที่ก้าวกลับจากโรงเรียนผ่านหน้าบ้านไป ทว่า นัยน์ตาที่เริ่มเป็นฝ้าคล้ายใคร่ครวญเรื่องวันเก่ามากกว่า เดี๋ยวนี้ถนนหนทางดีขึ้น ทั้งคนทั้งยวดยานจึงพลุกพล่านแทบควานความสงบไม่ได้ ถึงอย่างไร สำหรับยายผู้แทบไม่มีเรื่องใดๆ ให้ตื่นเต้นอีกแล้ว ภาพเหล่านั้นอาจนำพาชีวิตชีวาหวนคืน คลอไปกับเสียงกรุ๋งกริ๋งจากโมบายที่ห้อยอยู่เหนือหัว มันมีลักษณะคล้ายม้าหมุน เพียงแต่ตอนปลายของเส้นด้ายที่ยึดกันไว้ ร้อยด้วยดอกไม้ประดิษฐ์รูปร่างต่างๆ กัน

ยกมือไหว้ ได้ยินยายถาม “อ้าว วันนี้กลับบ้านเหรอ”

หญิงสาวไม่ตอบ ก็เห็นอยู่ว่าเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ ต่อให้เธอจะเท่าทัน ว่าจริงๆ ยายคงอยากรู้มากกว่า ทำไมถึงกลับมา ทั้งที่หายไปนาน

โยนกระเป๋าลงบนเตียงที่ห้องพักเดิม จริงๆ อยากจะนั่งอยู่ในนั้นสักครู่ แต่อากาศร้อนเกินทน เป็นอีกอย่างที่เปลี่ยนไปจากสมัยยังเยาว์ หญิงสาวจึงต้องก้าวหย่งๆ ออกมาข้างนอก เสียงเอียดอาดของพื้นไม้ใต้เท้าดังกว่าแต่ก่อน แม่เป็นคนสอนให้เธอเดินเบาๆ เพื่อจะได้เงียบเท่าๆ กับเสียงพูดของแม่ ผิดกับพ่อและตาที่หลายครั้งเสียงดังยังกับฟ้าผ่า

สมาร์ตโฟนสั่นในกระเป๋ากางเกงยีนส์ ล้วงออกดู พบว่าเป็นข้อความจากชายคนรัก เธอก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ เป็นลมหายใจอันอัดอยู่ด้วยความระอา

หย่อนสะโพกนั่งลงหัวบันได พิมพ์ตอบกลับด้วยความไวอย่างคนใจร้อน

‘อย่าเอาวงเสวนามาล่อเลยเหอะ ไปฟังกะเราทีไร เธอก็แค่รู้แล้วเอาไปพูดต่อ เสียงดังซะเปล่า ไม่เห็นเคยช่วยใครเรียกร้องอะไรจริงจัง’

กดส่งไปแล้วนึกได้ พิมพ์ต่อ แต่ก็ลังเลว่ามันจะกลายเป็นดูอ่อนแอรึเปล่า

สุดท้ายเธอตัดสินใจส่ง ‘ไม่ต้องชวนไปไหนแล้วนะ บอกละไงว่าจบกันแล้ว’

ประโยคดังกล่าวแล่นขึ้นปรากฏตรงข้อความฝั่งขวา เธอมอง อึดใจหนึ่งที่เท่าทันว่าตัวเองกำลังมอง ก็พลันรู้สึกหงุดหงิดตัวเองขึ้นมา เราไม่ควรแม้แต่รอข้อความจากผู้ชายเหี้ยนี่อีก!

ร่างสูงตามค่าเฉลี่ยหญิงไทยผุดลุกเร็วแรง ราวกับว่าความเร็วและแรงจะช่วยสลัดมวลหมองอันครองความรู้สึกให้ร่วงลงได้

ชายที่เธอตกอยู่ในหลุมรักของเขามานานปี เป็นผู้ชายเฮงซวยที่อายุมากกว่าเธอเกือบสองรอบ แถมมีครอบครัวอยู่แล้ว เธอหลงรักเขา อุดมการณ์และสายตาอันกว้างไกล จุดไฟหวังสู่โลกใหม่ที่ดีกว่า เธออุทิศให้เขาได้ทั้งตัวและวิญญาณ เพียรบอกตัวเองว่า มันก็เป็นแค่ความสัมพันธ์เสรีอีกแบบในชีวิตของคนหัวก้าวหน้า ต่อมาจึงตระหนักว่าเธอไม่ได้บอก แค่กำลังหลอกตัวเอง รู้ทั้งรู้ว่าเจ้าตัวจะไม่มีวันปลดภาระข้างหลังได้ ขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดรับรู้ หรือรักษาความรู้สึกที่แท้จริงของเธอ มีแต่เธอที่เป็นฝ่ายช่วยเก็บงำทุกอย่าง หลงดีใจเป็นครั้งๆ เมื่อเขาง้อหรือหลอกล่อด้วยของหวานราคาถูก ของหวานที่เธอโปรดปราน

กำลังจะเดินลงบันได โทรศัพท์ในกระเป๋าก็สั่นอีก ปลายเท้าอยากก้าวออกไป แต่กลับชะงัก แล้วทั้งๆ ที่ไรฟันขบริมฝีปาก เธอก็ยังไม่อาจเอาชนะตัวเอง ล้วงมันกลับขึ้นมาเปิดหน้าจอ

‘นี่หนีกลับบ้านใช่ปะ’

เมื่อเธอไม่ตอบ – แค่ภายในไม่กี่วินาที ข้อความใหม่ก็ส่งมาต่อ ‘ไม่เอาน่า เรากะไอ้ก้อยก็แค่ขำๆ’

‘เอากันขำๆ? ขำตายห่า! ทั้งชีวิตเคยคิดจะรับผิดชอบอะไรมั่งปะ’

เปล่า เธอไม่ได้ส่งไป

อย่างน้อยมันก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดี ปลายนิ้วกดลบข้อความนั้นแล้วบล็อกแอ็กเคาต์เจ้าตัวจนได้ ยังปวดใจอยู่จี๊ดๆ นั่นอาจทำให้เธอตัดสินใจวกกลับ ก้าวไปยังห้องที่ใครๆ ในบ้านต่างขนานว่า ‘ห้องพระ’ ทั้งที่เดี๋ยวนี้ไม่มีพระเหลืออยู่สักองค์

 

หนสุดท้ายที่นัดดาต่อบทสนทนากับยายอย่างจริงจัง คือหลังจากตาเสียไปสามปี–ตอนที่หล่อนร่วมกับเพื่อนชั้นปีที่ 1 เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งเวทีใหญ่ และจัดเวทีวิพากษ์สังคมร้อนแรง ทั้งการผูกขาดอำนาจของเผด็จการคณาธิปไตย อภิสิทธิ์ล้นฟ้าของฝ่ายปกครอง ตลอดจนการทะลักหลามเข้ามาของสินค้ายุ่น ช่วงนั้นเองที่หล่อนเข้มข้นจนคนรักยกเหตุผลให้ย้ายจากบ้านไปพักกับเขา นานเกือบเดือนกว่าจะโผล่กลับมา

‘แม่เราไม่สบาย ทำไมมัวไปห่วงเรื่องคนอื่น’ ยายถามทันทีที่เห็นหน้า

‘แม่ยังไม่ได้เป็นอะไรนักหนา แต่ตอนนี้บ้านเมืองเรากำลังอาการหนัก’

‘เรียนสูงๆ ถึงมหากระยาลัย ทำไมกลายเป็นอย่างนี้ คิดไม่ได้เลยเหรอนัดดา’

‘ยายนั่นละคิดผิด การศึกษามันไม่ได้ยกระดับอะไรเราเลย ต่อให้โละมหาลัยทั้งโลก โครงสร้างชนชั้นก็ไม่เปลี่ยน’

ไม่ว่ายายจะเข้าใจสิ่งที่หล่อนตะคอกบอกหรือไม่ สุดท้ายแกก็แค่หายใจฮืดฮาดในอก ดวงตาเจ็บช้ำจ้องลึกเหมือนจะเจาะให้ดวงตาของหล่อนเจ็บตาม

เสียงใหม่ของยายเบาลง แต่มีน้ำหนักเหมือนศาสตราวุธ ‘คิดดีๆ ว่าที่ทำอยู่มันถูกมั้ย ไม่งั้นจะรู้สึกผิดไปจนตาย!’

หล่อนชะงัก ชาดิกไปทั้งร่างด้วยความรู้สึกคล้ายถูกสาป เป็นคำอันชำแรกให้ความมั่นคงแคลนคลอน และไม่หาญแม้จะตั้งคำถามกับตัวเอง อย่างที่หล่อนตั้งคำถามอยู่กับโลก แล้วหล่อนก็เอาโลกทั้งใบมาเป็นกำบัง บอกว่าตัวเองกำลังทำเพื่อโลก จึงต้องหนีไปจากอกแม่อกยายอีกครั้ง

บางทีการหลบเร้นจากสายตาเจ็บปวดของยาย ยังอาจจะยากเย็นกว่าการเร้นหลบการกวาดล้างของรัฐบาลขณะนั้น นัดดาหนีหัวซุนไปกับพรรคพวก ผู้ชายของหล่อนไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มนั้น จวบจนทุกอย่างจบสิ้น ออกจากที่ซ่อนตัวกลับเข้ากรุง หล่อนจึงได้พบเขาอีกที เขาที่หล่อนเฝ้าฝันและสงสัยว่าหายไปไหนเสมอยามที่หล่อนอยู่ในอันตราย เขาที่หล่อนเคยคิดว่าเป็นเจ้าเหนือหัวจนเฝ้าบูชา และหมายใจว่าจะจงรักภักดีไปชั่วกาลนาน

วันนั้นที่หล่อนกลับถึงบ้าน ยายนั่งอยู่บนเก้าอี้โยก ดวงตาไม่แม้แต่เบิกขึ้น ไม่มีน้ำคลอ ไม่มีความชิงชังแก่หลานที่แกเคยพาเตาะแตะมาแต่น้อย แกเพียงแต่ค่อยๆ ลุกบอก ‘ไปไหว้แม่ไปนัดดา เดี๋ยวยายหาอะไรให้กิน’

แม่อยู่ในห้องพระ ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือแค่รูปในกรอบดูเก่าคร่ำคร่า วางบนชั้นสูงสุดของโครงสร้างซึ่งแต่เดิมเคยอัดเต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งพระพุทธรูปและเหล่าเทพเจ้า หล่อนเคยเห็นยายเข้ามาจุดธูปขอพรบ่อยๆ และคงยิ่งบ่อยในวันที่แม่เจ็บป่วย แล้วสมาชิกทั้งบ้านพ่อก็ยิ่งป่วยหนัก

นัดดาไม่ได้ถามยายว่าเอาของเหล่านั้นไปเก็บไว้ไหน

 

ทั้งที่ตั้งอยู่ติดกับห้องอื่นๆ แต่หลังบานประตูไม้ของห้องพระกลับดูจะมีอุณหภูมิต่ำกว่ามาก ไม่ต้องเปิดพัดลมก็ยังพอจะนั่งอยู่ได้เงียบๆ แสงท้ายวันลอดช่องกระจกเข้ามาระบายให้ห้องดูตะคุ่มสลัว ช่องเหล่านั้นอยู่เหนือบานหน้าต่างที่หับสนิท หญิงสาวเพิ่งสังเกตเห็นว่ามีมุมกระจกของช่องหนึ่งแตกเป็นรูสามเหลี่ยม เถาตำลึงจากข้างนอกเริ่มเกาะเกี่ยวสอดเร้นเข้ามา ราวกับว่าภายในนี้มีแสงสว่างให้มันตามหา

ห้องมืดจนไม่อาจจำแนกว่าใบที่แทรกตัวมาได้นั้นเป็นใบตัวผู้หรือตัวเมีย ข้างใต้ช่องกระจกคือตู้อันบรรจุเพียบไปด้วยหนังสือเล่มหนาๆ หนังสือที่มักเขียนผ่านปลายปากกาของผู้ชาย พูดถึงแนวคิดยิ่งใหญ่ก้าวหน้า พูดถึงความปวดปร่าของคนตัวเล็กๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงและไม่มีคนมองเห็น ด้วยความสนใจในเรื่องเหล่านั้น ตำแหน่งของมันบังคับให้เธอนั่งหันหลังอ่าน ไม่ไยดีต่อรูปถ่ายในกรอบเก่าของบรรพบุรุษบนหิ้ง รูปของผู้หญิงทั้งหลายที่ทอดสายตามาพร้อมถ้อยปริศนานับพัน

วันนี้หญิงสาวกลับหันหลังให้หนังสือพวกนั้นแทน หนังสือที่ผลักดันให้เธอมุ่งสู่หน้าที่การงานและการต่อสู้บนท้องถนน มองแต่เรื่องใหญ่ๆ ขณะเดียวกัน กลายเป็นว่าคนเขียนหนังสือเหล่านั้นกลับปลิ้นปล้อนปดคำตามที่เคยพูดไว้เอง อาจเพราะอย่างนี้ด้วยละมัง เธอจึงอยากทำความเข้าใจใหม่ ในสิ่งที่เคยละเลยไป ในบทสนทนาที่ผู้หญิงในรูปทั้งหมดไม่เคยได้พูด

ยาวนาน กว่าร่างสูงระดับค่าเฉลี่ยหญิงไทยจะลุกกลับก้าวออกจากห้อง

ตอนที่จรดปลายเท้าลงมาถึงบันไดขั้นล่างสุด เธอได้ยินเสียงห้าวๆ ของผู้ชายกระโชกโฮกฮากใส่ยาย ต่อเมื่อเจ้าตัวหันเห็นเธอ ก็ทิ้งความสนใจเดิมว่องไว จรดปลายเท้ามาหา โปรยยิ้มพลางยกถุงพลาสติกในมือขึ้นแสดง

ริมปากหนาหยักที่เธอเคยชื่นชมเสมอมา ขยับจะพูดอะไรบางอย่าง แต่เหมือนนึกได้ จึงเปลี่ยนเป็นว่า

“พ่อซื้อขนมมาด้วย ที่หนูชอบไง”

ใช่ เหมือนเคย ขนมฟัก

เธอเดินผ่านเขาออกมาหายาย ก้มบอกอะไรบางอย่าง

ร่างที่ดูจะหดเล็กลงด้วยความร่วงโรยค่อยๆ ลุกยืน ที่จริงยายในวัยต้นเจ็ดสิบยังแข็งแรงพอจะเดินเองได้สบาย ประสบการณ์ในป่าและการถูกตามล่าทำให้แกแกร่งกว่าใครคิด เธอเองต่างหากที่อยากเอื้อมมือให้แกช่วยจูง

เพิ่งสังเกตตอนจับข้อมือผอมเหี่ยว เดี๋ยวนี้ยายไม่ได้สวมริสแบนด์สีเหลืองนั้นอีกต่อไปแล้ว

“คนเราเริ่มโง่มาก่อนทั้งนั้น รู้ตัวว่าโง่แล้วถึงจะเริ่มฉลาด จากนั้นจะหยุดโง่มั้ยก็อยู่ที่เราจะเลือกทำอะไรต่อ” คำพูดกับเธอ แต่คล้ายจงใจจะดังให้ชายข้างหลังได้ยินด้วย

ขณะก้าวเคียงยายไปเปิดประตูรั้ว เสียงคนข้างบ้านตะโกนถาม “ไปไหนน่ะ คุณนัดดา”

“หลานชวนเดินเล่น”

ลมพัดโมบายเหนือชานหน้าบ้านหมุนติ้วๆ ดอกไม้แต่ละดอกเคยเวียนว่ายซ้ำๆ อยู่กับที่ แต่วันนี้เวลาคงล่วงผ่านนานพอ ด้ายรูปร่างคล้ายยอดตำลึงบางเส้นที่พันธนาการอยู่จึงเปื่อยขาด ดอกไม้ประดิษฐ์ตรงปลายกระเด็นหลุด ปลิวละม้ายบินไปในลม

เธอสองคนเดินออกจากบ้านพ่อ – ไม่ใช่ – บ้านของเรา เรื่องราวที่นึกไม่ออกค่อยๆ ซึมจากรอยร้าวของกำแพงอัตตา กำแพงที่ก่อสร้างให้เธอรู้สึกว่าตัวเองใหญ่โต ก้าวหน้ากว่า ฉลาดและเจริญกว่ายาย จนไม่มีอะไรควรจะพูดกันได้อีก แต่ละคำค่อยๆ ผลักให้กำแพงนั้นทลายลง และทะลักหลามมาให้นึกได้ ในหลายบทสนทนา…แทบทุกบทสนทนาที่เคยคุย

บทสนทนาที่อยากจะกลับมาเริ่มคุยกันใหม่อีกครั้ง •