การควบรวมกิจการโทรคมนาคม/ดาวพลูโตมองดูโลก ดาวพลูโต

ดาวพลูโตมองดูโลก

ดาวพลูโต

 

การควบรวมกิจการโทรคมนาคม

 

ช่วงนี้ข่าวการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลื่อนการพิจารณาออกไป

เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นมหากาพย์มาร่วมปี ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลปกครอง และล่าสุด คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เรียกได้ว่าเป็น เมกะดีล ที่บิ๊กบอร์ดต่างๆ ทุกบิ๊กได้เข้าร่วมพิจารณาอย่างแท้จริง ซึ่งดำเนินการพิจารณาจากโต๊ะแรกเวียนไปโต๊ะอื่นๆ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางข้ามโต๊ะร่วมปีก็ยังคงวนเวียนไม่คืบหน้าไปไหน

ศึกการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ยังไม่ทันจบ AIS คู่แข่งรายสำคัญของ TRUE เปิดศึกควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ตบ้าน ยื่นขอควบรวมกิจการระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) แบบหายใจรดต้นคอกันมาติดๆ

สมกับการเป็นคู่แข่งตลอดกาล

 

ภาพรวมการแข่งขันและตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมีโครงข่าย (Mobile Network Operator : MNO) จากข้อมูลปี 2564 ไตรมาสที่ 3 (เนื่องจากเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. ยังไม่เผยแพร่ข้อมูลไตรมาสที่ 4 ทั้งๆ ที่จะหมดปี 2565 แล้ว) มีผู้ให้บริการทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่

อันดับที่ 1 AIS มีผู้ใช้บริการ 55.26 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 46.82

อันดับที่ 2 TRUE มีผู้ใช้บริการ 38.38 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 32.51

อันดับที่ 3 DTAC มีผู้ใช้บริการ 21.04 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 17.82

อันดับที่ 4 NT มีผู้ใช้บริการ 3.31 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 2.80

รวมจำนวนเลขหมายทั้งสิ้น 118.03 ล้านเลขหมาย

ภาพรวมการแข่งขันและตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ ข้อมูลปี 2564 ไตรมาสที่ 3 เช่นกัน

อันดับที่ 1 TRUE มีผู้ใช้บริการ 4.54 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 35.60

อันดับที่ 2 3BB มีผู้ใช้บริการ 3.61 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 28.31

อันดับที่ 3 NT มีผู้ใช้บริการ 2.54 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 19.92

อันดับที่ 4 AIS มีผู้ใช้บริการ 1.67 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 13.09

ผู้ให้บริการรายอื่นๆ มีผู้ใช้บริการ 0.40 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 3.13

รวมจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 12.75 ล้านราย

 

จากข้อมูลข้างต้น เราลองนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์สภาพตลาดและการแข่งขันเบื้องต้นในมุมคณิตศาสตร์กันครับ

วิธีวัดค่าการกระจุกตัวของตลาดมีวิธีการวัดค่าได้หลายวิธี แต่วิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วโลกได้แก่ การวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) ซึ่งนิยมใช้ในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายป้องกันการผูกขาด

ดัชนี HHI คืออะไร?

ดัชนี HHI เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์หนึ่งที่ใช้สำหรับคำนวณค่าการกระจุกตัวเพื่อวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในตลาดของธุรกิจนั้นๆ มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10,000 คะแนน

หากค่าหรือคะแนนน้อยกว่า 1,500 คะแนน ถือว่าตลาดมีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการดีใกล้เคียงกับตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ในอุดมคติ (Competitive Market) ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขัน

หากค่าหรือคะแนนตั้งแต่ 1,500 คะแนน ถึง 2,500 คะแนน ถือว่ามีการแข่งขันปานกลาง มีการกระจุกตัวปานกลาง (Moderately Concentrated Market)

หากค่าหรือคะแนนตั้งแต่ 2,500 คะแนนขึ้นไป ถือว่ามีการกระจุกตัวหนาแน่น (Highly Concentrated Market) ไม่กระจายตัวแบบตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตลาดมีแนวโน้มเป็นตลาดแบบผูกขาด (Monopolistic Market) ผู้บริโภคมีอำนาจการต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด

 

วิธีการคำนวณค่าดัชนี HHI คำนวณโดยการนำร้อยละของส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ของผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการแต่ละรายยกกำลังสอง แล้วบวกเข้าด้วยกันทุกราย (เฉพาะผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการในตลาดของสินค้าหรือบริการที่เราสนใจวิเคราะห์) ท่านผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างจากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพครับ

ตัวอย่างที่ 1 ดัชนี HHI ของตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมีโครงข่าย (MNO) ตามข้อมูลข้างต้น จะได้ค่าดัชนี HHI ดังนี้

HHI = AIS2 + TRUE2 + DTAC2 + NT2

HHI = 46.822 + 32.512 + 17.822 + 2.802

HHI = 2192.11 + 1056.90 + 317.55 + 7.84

HHI = 3574.40

สมมุติว่ามีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการและควบรวมกิจการกันสำเร็จลุล่วงด้วยดี ภายใต้สมมุติฐานว่าผู้ใช้บริการคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราลองคำนวณค่าดัชนี HHI ใหม่ ภายหลังการควบรวมกิจการกันครับ

HHI = (TRUE + DTAC)2 + AIS2 + NT2

HHI = (32.51 + 17.82)2 + 46.822 + 2.802

HHI = 2533.11 + 2192.11 + 7.84

HHI = 4733.06

จากตัวอย่างข้างต้นค่าดัชนี HHI เปลี่ยนแปลงจาก 3574.40 คะแนน เป็น 4733.06 คะแนน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 1158.66 คะแนน

ตัวอย่างที่ 2 ดัชนี HHI ของตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ตามข้อมูลข้างต้น จะได้ค่าดัชนี HHI ดังนี้

HHI = TRUE2 + 3BB2 + NT2 + AIS2+ รายอื่นๆ2

HHI = 35.602 + 28.312 + 19.922 + 13.092 + 3.13อ

HHI = 1267.36 + 801.45 + 396.80 + 171.34 + 9.79

HHI = 2646.74

สมมุติว่ามีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการและควบรวมกิจการกันสำเร็จลุล่วงด้วยดี ภายใต้สมมุติฐานว่าผู้ใช้บริการคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราลองคำนวณค่าดัชนี HHI ใหม่ ภายหลังการควบรวมกิจการกันครับ

HHI = (AIS + 3BB)2 + TRUE2 + NT2 + รายอื่นๆ2

HHI = (13.09 + 28.31)2 + 35.602 + 19.922 + 3.132

HHI = 1713.96 + 1267.36 + 396.80 + 9.79

HHI = 3387.91

จากตัวอย่างข้างต้นค่าดัชนี HHI เปลี่ยนแปลงจาก 2646.74 คะแนน เป็น 3387.91 คะแนน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 741.17 คะแนน

 

จากตัวอย่างทั้งสองตัวอย่าง แม้ข้อมูลที่นำมาคำนวณจะไม่ถูกต้องแม่นยำเป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆ แต่เราจะเห็นว่าการควบรวมกิจการส่งผลให้การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมลดลง

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศไทยถือว่ายังใหม่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ไทยเพิ่งมีเครื่องมือแรก คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2552 ซึ่งต่อมาได้อัพเกรดในปี 2560 และเครื่องมือก็ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรทำให้ไม่มีประสิทธิภาพที่จะปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการออก พ.ร.บ. ชื่อว่า Sherman Act ตั้งแต่ พ.ศ.2433 หรือ 130 กว่าปีที่ผ่านมา และมีพัฒนาการเรื่อยมา

ตัวอย่างคดีในต่างประเทศที่สำคัญเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าและการป้องกันการผูกขาด ได้แก่ คดี Standard Oil Co. v. United States บริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของ John D. Rockefeller มหาเศรษฐีน้ำมันผู้สามารถขยายกิจการจนสามารถผูกขาดธุรกิจน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ คู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้

ศาลสูงจึงตัดสินให้แตกบริษัทออกเป็น 34 บริษัท ซึ่งบริษัท Exxon และ Chevron เป็นบริษัทที่แตกออกมาจาก Standard Oil Co. คดี United States v. AT&T ถูกตัดสินโดยศาลสูงว่ามีการผูกขาดตลาด จนต้องแตกออกเป็น 7 บริษัท

คดี United States v. Microsoft Corporation แตกออกเป็น 2 บริษัท ล่าสุดทั้ง Facebook และ Google ยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอทีของโลกก็มีข้อพิพาทเช่นกัน

ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์ มีการพิพากษาคดีการควบรวมกิจการระหว่าง Grab และ Uber

ซึ่งศาลมีคำสั่งปรับเป็นเงินจำนวน 13 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพราะการควบรวมกิจการทำให้เกิดการผูกขาดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

 

ประเทศไทยเคยมีการพิจารณาการควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โดยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เสียง อนุญาตให้ควบรวมกิจการได้

สิ่งที่น่าสนใจซึ่งปรากฏในเอกสารผลคำวินิจฉัย มีการกล่าวถึงดัชนี HHI ซึ่งใช้ประกอบการวินิจฉัยด้วย

ซึ่งดัชนี HHI หรือค่าการกระจุกตัวของตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กก่อนควบรวมอยู่ที่ 5553.19 คะแนน และหลังการควบรวมอยู่ที่ 6944.09 คะแนน เพิ่มขึ้น 1390.90 คะแนน ดัชนี HHI หรือค่าการกระจุกตัวของตลาดดัชนีค้าปลีกสมัยใหม่ ก่อนควบรวมอยู่ที่ 2496.75 คะแนน หลังควบรวมอยู่ที่ 4219.54 คะแนน เพิ่มขึ้น 1722.80 คะแนน

ซึ่งในเอกสารฉบับดังกล่าวระบุเตือนไว้เองว่า “ตามเกณฑ์มาตรฐานค่าเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า 100 ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดอย่างรุนแรงมาก”

การควบรวมธุรกิจสื่อสารครั้งนี้ จึงต้องจับตาดูกันต่อว่า ทั้ง กสทช. กขค. ก.ล.ต. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

จะเตรียมคำตอบไว้ตอบสังคมอย่างไร

โดยเฉพาะต่อคำถามที่ว่า “ประชาชนได้อะไรจากการอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคม”