‘จีน-สหรัฐ’ ตึงเครียด โลกป่วน-ชิพขาดแคลน กระทบอุตฯ รถ-เครื่องใช้ไฟฟ้า/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘จีน-สหรัฐ’ ตึงเครียด

โลกป่วน-ชิพขาดแคลน

กระทบอุตฯ รถ-เครื่องใช้ไฟฟ้า

 

ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ “จีน-สหรัฐ” กำลังขยายวงกว้าง หลังเหตุการณ์ “นางแนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเดินทางเยือนไทเป ไต้หวัน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565

ถือเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปี ท่ามกลางความขุ่นเคืองของจีนที่ยึดมั่นนโยบาย One china โดยนางแนนซีได้เข้าพบ “นางไช่ อิงเหวิน” ประธานธิบดีไต้หวันด้วย

ก่อนหน้านี้จีนได้ขู่สหรัฐมาแล้วว่า “อย่าเล่นกับไฟ” หลังจากกำหนดการเยือนของนางแนนซีออกมา ประกอบกับอยู่ในจังหวะเดียวกับการครบรอบ 95 ปีของการก่อตั้งกองทัพจีนหรือที่รู้จักกันในนาม “กองทัพปลดปล่อยประชาชน” (People’s Liberation Army : PLA) ซึ่งจำเป็นเหลือเกินที่นายสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดจะต้องรักษาสถานะและความยิ่งใหญ่ของจีนในวันสำคัญนี้

หลังจากนางแนนซีบินออกจากไต้หวันได้เพียง 1 วัน จีนก็ประกาศซ้อมรบใหญ่บริเวณช่องแคบระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ทันที โดยจะซ้อมรบยืดยาวไปถึงวันที่ 8 กันยายน 2565 ส่งผลให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้ตึงเตรียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกังวลของภาคธุรกิจ ซึ่งเท่ากับตอกย้ำความไม่แน่นอนและกลัวที่จะบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีถึงความสำคัญของไต้หวัน ในฐานะประเทศผู้ผลิต “เซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ)” คุณภาพสูงรายใหญ่ของโลกที่ครองตลาดมากกว่า 63% ซึ่งมีความสำคัญต่อซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-อุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) บริษัทผู้ผลิตชิพขั้นสูงของไต้หวันเพียงบริษัทเดียวก็ครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% ของตลาดโลก หรือมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2564 ไปแล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูล Trade map ปี 2021 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของโลกมีมูลค่า 296,027 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ส่งออก 145,803 ล้านเหรียญ

โดยประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 48,793 ล้านเหรียญ ครองส่วนแบ่ง 33% ขณะที่สหรัฐส่งออก 7,491 ล้านเหรียญเป็นอันดับ 7 ส่วนไต้หวันส่งออก 6,356 ล้านเหรียญเป็นอันดับ 8

ขณะที่ประเทศไทยส่งออก 2,661 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563 ครองสัดส่วน 2% ของตลาดโลก ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,224 ล้านเหรียญ

โดยประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักส์เตอร์อันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 33,356 ล้านเหรียญ สัดส่วน 22% และสหรัฐเป็นผู้นำเข้าอันดับ 3 มูลค่า 13,436 ล้านเหรียญ สัดส่วน 13%

 

แม้ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่จีนได้ออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อไต้หวันชุดแรกออกมาแล้วด้วยการสั่ง “แบน” สินค้านำเข้าจากไต้หวันจำนวน 2,066 รายการ หรือมากที่สุดเท่าที่มีการแบนสินค้าของไต้หวัน

แน่นอนว่า การแบนสินค้าในครั้งนี้ส่วนใหญ่จำเพาะเจาะจงอยู่ในกลุ่มสินค้าทางการเกษตรและอาหาร แต่อีกด้านหนึ่งจีนได้สั่งห้ามส่งออก “ทรายซิลิก้า” วัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิพไปยังไต้หวันด้วย

ทั้งนี้ ไต้หวันมีการนำเข้าทรายจากจีนถึง 5.67 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 90% ของทั้งหมด เพื่อสกัดเอาซิลิกอนไปใช้ร่วมกับแร่แรเอิร์ทจากจีน สำหรับผลิตชิพและเป็นรายได้หลักส่งออกของไต้หวัน ซึ่งราว 41% มาจากการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และชิพอิเล็กทรอนิกส์

กรณีดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับทั้งผู้ผลิตชิพและผู้ใช้ชิพจากความกลัวว่า สถานการณ์ชิพขาดและมีราคาแพงจะหวนกลับมาอีก

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ให้ความเห็นว่า หากไต้หวันสามารถหาแหล่งวัตถุดิบ “ทราย” ทดแทนจีนได้ ปัญหาชิพขาดอาจะคลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง โดยยังมีความเป็นไปได้เพราะมีแหล่งทรายที่สหรัฐกับเวียดนาม

แต่การเปลี่ยนแหล่งนำทรายวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมชิพ-เซมิคอนดักเตอร์จะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นและอาจต้องรอนานขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ชิพเป็นชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิพคุณภาพสูงกว่า 7 นาโนที่ไต้หวันสามารถผลิตได้

ส่วนผลกระทบระยะยาวจะทำให้โลกได้เห็น “สงครามเทคโนโลยี-Tech War” รอบใหม่ที่บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง มีการแข่งขันรุนแรงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและการย้ายฐานการผลิตของโรงงานชิพในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ไป

จากเดิมที่อุตสาหกรรมนี้แข่งขันค่อนข้างรุนแรงระหว่างสหรัฐและจีนในฐานะผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลอด โดยจีนครองส่วนแบ่งตลาดชิพคุณภาพกลางและล่างได้แล้ว พร้อมมุ่งพัฒนาชิพคุณภาพสูง แต่ถูกกีดกันโดยสหรัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชิพขั้นสูงได้ ส่งผลให้จีนหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมชิพขั้นสูงด้วยตัวเอง โดยวางให้เป็น “สินค้ายุทธศาสตร์” ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง ในฐานะเป็นยุทโธปกรณ์ ซึ่งข่าววงในระบุว่า จีนสามารถพัฒนาชิพคุณภาพสูงสำเร็จแล้วด้วย

“ทั้ง 2 ค่ายต่างเริ่มหาพันธมิตร หลังเหตุการณ์ไต้หวันจะทำให้เกิดการแบ่งข้างชัดขึ้น โดยเกาหลีใต้มีซัมซุงตั้งโรงงานที่จีน ขณะที่ไต้หวันมี TSMC กำลังจะเข้าไปตั้งโรงงานในแอริโซนา รองรับประโยชน์จาก กม.กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ ที่มีการเตรียมวงเงิน 50,000 ล้านเหรียญเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสหรัฐให้มากขึ้น

“ปัจจุบันสหรัฐยังครองตลาดอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 20-30 ล้านเหรียญ คิดเป็น 1 หรือ 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ขณะที่จีนพัฒนาเติบโตมาถึง 60% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด”

 

ขณะที่ประเทศไทย แม้ว่าจะมีอุตสาหกรรมผลิตชิพ-เซมิคอนดักเตอร์อยู่บ้าง แต่เป็นการผลิตชิพระดับกลางและล่าง ยังไม่สามารถพัฒนาชิพขั้นสูงระดับที่เกาหลีใต้ผลิตได้ โดยโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานของบริษัทแม่ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ชิพและเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตได้จะเป็นการผลิต วงจรรวมและส่วนประกอบ IC (Integrated Circuit)

แบ่งเป็นการออกแบบแผงวงจรรวม (IC Design) การผลิตและเจือสารแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ แผงวงจรรวม (Integrated Circuit) ในอุตสาหกรรมกลางน้ำ อาทิ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำตัวเก็บประจุไฟฟ้า และการนำแผงวงจรรวม (Integrated Circuit) ไปประกอบเข้ากับวงจรพิมพ์ (PCB) การนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูป-คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์โทรคมนาคม ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ

สะท้อนให้เห็นจากชุดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับสูง อาทิ กิจการผลิต Wafer ที่ต้องมีกรรมวิธีการผลิตตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ความเห็นชอบด้วย โดยจะให้สิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 10 ปีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การเป็นเพียงประเทศผู้ผลิตและประกอบเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิพ ขั้นต้นและขั้นกลางของไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมภายในประเทศที่ต้องใช้ชิพไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ การขาดแคลนชิพจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้และอาจทำให้ยอดผลิตรถยนต์ “ต่ำกว่า” เป้าเดิมที่วางไว้คือ 1 ล้านคัน และยังไม่นับรวมผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคที่ต้องรอรับมอบรถนานขึ้นและมีราคาสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ เครื่องยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ที่ต้องใช้ชิพเป็นส่วนประกอบที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยมากกว่า 300,000-400,000 ล้านบาทในแต่ละปี ก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย

นี่จึงกลายเป็นวิกฤตการณ์ชิพขาดและมีราคาแพง จะหวนกลับมาคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่ง