‘นิยายรัก’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘นิยายรัก’

 

หลายปีก่อนที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะมีระบบอินเตอร์เน็ต งานที่ผมทำส่งนิตยสารต่างๆ ส่วนใหญ่ผมใช้เวลาเขียนอยู่ข้างกองไฟ

ต้นฉบับที่เขียนเสร็จผมจะฝากรถที่ออกไปซื้อเสบียงในเมืองส่งให้ที่ไปรษณีย์ ไม่ก็ถือโอกาสเป็นข้ออ้างเพื่อเข้าเมือง

บางต้นฉบับก็เขียนในซุ้มบังไพร ซึ่งไม่บ่อยนักเพราะเมื่ออยู่ในซุ้มบังไพร การละสายตามีโอกาสพลาดง่ายๆ เสือเดินผ่านไปเงียบๆ หรือแม้แต่ช้างตัวโตๆ พวกมันเดินเงียบเชียบ เงยหน้าขึ้นมา ช้างยืนอยู่ข้างหน้า

ในกรณีที่เขียนในซุ้มบังไพรนั้น มักเป็นเวลาอันใกล้ถึงเส้นตายส่งต้นฉบับ

นั่งเขียนข้างไฟ มองเปลวไฟร่ายรำ ฟังเสียงลูกไฟปะทุ โกโก้ร้อนๆ เงาตะคุ่มๆ ของต้นไม้ที่รายรอบ เสียงกวาง, เก้ง บางครั้งมีเสือคำราม รวมทั้งเสียงช้างกึกก้อง

เป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับทำงาน

ค่ำวันหนึ่ง จักรสิน เพื่อนร่วมทาง นอนสูบยาเส้นอยู่บนเปล กองไฟวับแวม ผมก้มหน้าก้มตาเขียนงาน

“เขียนนิยายเหรอครับ” จักรสินขยับตัวเงยหน้ามอง กลิ่นยาเส้นโชย “นิยายรักหรือเปล่าครับ” เขาถามแล้วหัวเราะ

“ใช่ครับ นิยายรัก” ผมตอบ

งานที่ผมทำ คือเล่าเรื่องราวสัตว์ป่า หลายครั้งผมเห็นความรักของพวกมัน เป็น “รัก” แบบเดียวกับที่คนมี…

 

ไม่เฉพาะเรื่องความรักของเหล่าสัตว์ป่า อยู่ในป่า ผมพบกับเรื่องราวความรักของคนบ่อยๆ อยู่ในป่าห่างไกล นานนับเดือน หลายคนมีปัญหาไม่สามารถรักษาความรักไว้ได้

ในหน่วยพิทักษ์ป่า ผมเพิ่งกลับจากแคมป์ที่ห่างจากหน่วยไปราว 3 ชั่วโมง

หน้าเรือนพัก เจ้าหน้าที่เชิด ชายหนุ่มร่างใหญ่ผิวคล้ำ ท่าทางซึมเศร้าของเขาทำให้ผมอดทักไม่ได้

“เป็นไรครับทำหน้าเหมือนโลกจะแตก”

เชิดไม่ตอบ แต่ยื่นกระดาษยับๆ ให้ เราสนิทสนมพอที่จะเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ผมรับกระดาษยับๆ นั่นมาคลี่ดู มีข้อความเขียนด้วยลายมืออักษรตัวเล็กๆ เป็นระเบียบ

“หนูขอโทษที่ไปจากพี่ หนูรักพี่นะ แต่อยู่ไม่ได้ จากคนเลว”

ผมเงยหน้าจากการอ่านข้อความ เชิดยิ้มเศร้า แตน หญิงสาวของเขาที่อยู่กันมาหลายปี จากไปแล้ว

“ขนเสื้อผ้าไปหมดเลยครับ” เชิดพูดประโยคแรก เวลาและระยะทางอาจทำให้หญิงสาวเงียบเหงาเกินไป เหงาเกินกว่าจะทนอยู่ ผมตบไหล่เขาเบาๆ

ดูเหมือนว่านิยายรักของเชิดเรื่องนี้จะจบแล้ว

 

คล้ายกับว่าเรื่องเศร้าของเชิดจะไม่มีใครเศร้าด้วยเลย มันกลายเป็นเรื่องสนุกของเพื่อนๆ ที่จะยั่วเย้าให้เชิดขำ โดยเฉพาะในตอนค่ำที่ตั้งวง

“ถามจริง ไอ้เชิด เอ็งไม่เอาไหนใช่ไหม” ผู้ใหญ่นอง ถามสีหน้าจริงจัง ที่นี่ผู้อาวุโสจะถูกเรียกว่าผู้ใหญ่ เชิดไม่ตอบ เพื่อนๆ เห็นด้วยกับผู้ใหญ่นอง

“วันๆ มึงเอาแต่กินเหล้า นานๆ จะกลับบ้าน ใครจะอยากอยู่และรอมึง” ชาติ พ่อลูกอ่อน สอนรุ่นน้อง เสียงเฮฮา มีคนพูดถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของเชิด ไม่มีใครกล่าวโทษหญิงสาวที่เลือกจากไป

สรุปคือเป็นความไม่เอาไหนของเชิดเอง

กระทิง – เมื่อตัวเมียพร้อมรับการผสมพันธุ์ ตัวผู้ที่เหมาะสมจะคลอเคลียไม่ห่าง

สัตว์ป่าจะมีช่วงเวลาอันเป็นฤดูกาลแห่งความรัก ในช่วงนี้ ตัวผู้จะคึกคักเตรียมร่างกายให้หล่อ ขนเป็นเงางาม แม้จะเป็นพวกที่เมื่อจับคู่แล้วจะอยู่ด้วยกันไปตลอดอย่างนกเงือก แต่ถึงฤดูนี้ ตัวผู้ต้องเริ่มต้นจีบ ทำให้ตัวเมียประทับใจอีกครั้ง ใช่ว่าจะเป็น “ของตาย”

ในสังคมสัตว์ป่า ตัวเมียเป็นผู้เลือก พวกเธอย่อมเลือกตัวผู้ที่เหมาะสม ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ลูกที่เกิดแข็งแรง สมบูรณ์

ตัวผู้แต่ละตัวมีเทคนิคสร้างความประทับใจต่างๆ นกยูงใช้การรำแพนหางสวยงาม วัวแดง กระทิง ล่ำสัน ขนเงา

กวางเขาใหญ่ บางตัวใช้เถาวัลย์พันเขามาเป็นของกำนัล

หากมีตัวผู้มากกว่าหนึ่งตัว บางครั้งการประลองลงมือด้วยกำลังก็จำเป็น

หลายตัวรู้ว่าเป็นรองก็ถอยไป บางตัวโผเข้าปะทะไม่ยอมง่ายๆ ลองจนถึงที่สุด ค่อยล่าถอยไป รางวัลของตัวชนะหอมหวาน

เป็นเรื่องธรรมดาความรัก มีสุขมีทุกข์ มีทั้งสมหวัง และผิดหวัง

 

เชิดลางานสองวัน แต่หายไปกว่าสัปดาห์

“ไอ้เชิด ให้พ่อไปขอเมียอีกแล้ว” ชาติบอกข่าว “เห็นว่าผู้หญิงเรียกตั้งสี่หมื่น ทองอีกสองบาท”

โดนทิ้งไม่กี่วัน เชิดจะมีเมียใหม่แล้ว นิยายรักเรื่องใหม่ของเขาเริ่มอย่างรวดเร็ว รุ่งขึ้นเชิดขี่มอเตอร์ไซค์กลับมา แฟนใหม่เขาเป็นหญิงสาวที่เคยคบหากันสมัยยังเรียนหนังสือ หลังแยกย้ายไปเธอกลับมาพร้อมลูกสาวอายุ 6 ขวบ

“แบบนี้น่าจะดีกว่าสาวๆ ครับ” เชิดพูดจริงจัง

ในวงเหล้ามีเรื่องเฮฮาอีก

 

เรื่องราวของความรักมีทุกที่ ในทุกชีวิต มีทั้งสมหวัง และเรื่องเศร้า

ผมเขียนนิยายรักของเหล่าสัตว์ป่า แก่นของเรื่องตั้งใจให้เป็นนิยายรักที่สมหวัง และพวกเขาก็อยู่อย่างมีความสุขไปตราบชั่วชีวิต

แต่ดูเหมือนในสถานการณ์ รวมทั้งปัญหาที่สัตว์ป่ากำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน

มันคล้ายจะเป็น “นิยายรัก” ที่ตอนจบเศร้าเคล้าด้วยน้ำตา •