ผู้นำยูเครน เรียกร้องชาติตะวันตก ห้ามคนรัสเซียเข้าประเทศ

ผู้นำยูเครน เรียกร้องชาติตะวันตก ห้ามคนรัสเซียเข้าประเทศ ฐานทัพรัสเซียในไครเมียถูกโจมตี

 

วันที่ 9 ส.ค. บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เรียกร้องให้บรรดาประเทศตะวันตกห้ามชาวรัสเซียเข้าประเทศ โดยบอกกับ วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐอเมริกาว่า “ชาวรัสเซียควรอยู่ในโลกของตัวเองจนกว่าจะเปลี่ยนปรัชญาของพวกเขา”

นายเซเลนสกีกล่าวว่า การห้ามดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการคว่ำบาตรปัจจุบัน ซึ่งห้ามสายการบินรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลรัสเซีย เข้ามาตะวันตก

ขณะที่ชาวรัสเซียปัจจุบันยังสามารถได้รับวีซ่าสหภาพยุโรปและสหรัฐได้

ข้อเรียกร้องของนายเซเลนสกีอาจได้รับการสนับสนุนอย่างจำกัด เนื่องจากรัสเซีย แม้จะถูกคว่ำบาตร แต่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั่วโลกกว้างขวาง และนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียยังยินดีที่จะไปจุดหมายปลายทางสำหรับวันหยุดพักผ่อน เช่น อียิปต์ ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แต่เมื่อวันอังคารที่ 9 ส.ค. นายกรัฐมนตรีกายา กัลลัส ของ เอสโตเลีย ทวีตข้อความว่า “หยุดออกวีซ่านักท่องเที่ยวแก่ชาวรัสเซีย การเยือนยุโรปถือเป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน”

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว นายเอ็ดการ์ส รินเกวิคส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ลัตเวีย บอกเว็บไซต์ โพลิติโค ว่า กลุ่มประเทศอียูควรจำกัดการออกวีซ่าแก่ชาวรัสเซีย โดยยกเว้นเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรม

และเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. ฟินแลนด์ เพื่อนบ้านกลุ่มประเทศนอร์ดิก ยังสนับสนุนการจำกัดผู้เดินทางชาวรัสเซีย. นายกรัฐมนตรีซันนา มาริน ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์อือเลว่า “มันไม่ถูกต้องในเวลาเดียวกัน ขณะที่รัสเซียกำลังทำสงครามก้าวร้าวรุนแรงในยุโรป ชาวรัสเซียสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ท่องเที่ยวในยุโรป เป็นนักท่องเที่ยวได้”

คาดว่าเอสโตเนียและฟินแลนด์จะหยิบยกประเด็นวีซ่าที่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูเร็วๆ นี้

ด้านนายดมีตรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ประณามข้อเสนอของนายเซเลนสกี โดยกล่าวว่า “สามารถมองสิ่งนี้ไปในทางลบอย่างยิ่งเท่านั้น ความพยายามใดๆ ที่จะโดดเดี่ยวชาวรัสเซียและรัสเซียเป็นกระบวนการที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น”

นายเปสคอฟเปรียบเทียบจุดยืนดังกล่าวกับทัศนคติชาตินิยมที่มีชัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองว่า “ในความไม่เป็นมิตรของพวกเขา หลายประเทศเหล่านี้หลงลืมไป และพวกเขาหันไปใช้ข้อความที่เราได้ยินจากหลายประเทศในยุโรปที่อยู่ใจกลางยุโรปเมื่อ 80 ปีก่อน”

ทั้งนี้ วีซ่าเชงเกนของอียูให้ผู้เดินทางอยู่ในอียูสุงสุดถึง 90 วัน สำหรับกรท่องเที่ยวหรือธุรกิจ. ผู้เดินทางสามารถเดินทางได้อย่างอิสระภายในเขตเชงเกน 26 ประเทศ ในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นเขตที่ประกอบด้วยสมาชิกอียู 22 ชาติ กับไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และลีชเทินชไตน์

ชาวรัสเซียจึงยังสามารถเยือนประเทศอียูส่วนใหญ่ แม้จะขาดสายการบินเชื่อมต่อโดยตรง. อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียที่อยู่ในรายการคว่ำบาตรจากตะวันตก ได้แก่ มหาเศรษฐี และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีปูตินและกองทัพรัสเซีย ถูกห้ามเข้ากลุ่มประเทศอียู

ขณะนี้เอสโตเนียและลัตเวียไม่ได้ออกวีซ่าเชงเกนแก่ชาวรัสเซียอีกต่อไป แต่สองประเทศยังมีชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียจำนวนมาก. อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียที่มีวีซ่าเชงเกนที่ออกโดยสมาชิกอียูจากประเทศอื่นสามารถเข้ากลุ่มรัฐบอลติกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และ ลิทัวเนีย และเดินทางต่อไปได้

ขณะที่ บัลแกเรีย มีการวิวาททางการทูตกับรัสเซีย และหยุดการออกวีซ่านักท่องเที่ยวแก่พลเมืองของกันและกันแล้ว ส่วน วังแวงแซนน์ ที่ประทับของราชวงศ์ในอดีต สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่มีหอจดหมายเหตุของกองทัพฝรั่งเศส ในกรุงปารีสของ ฝรั่งเศส ห้ามชาวรัสเซียเข้าเยี่ยมชนตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน

ฐานทัพรัสเซียในไครเมียถูกโจมตี

เกิดเหตุระเบิดใหญ่ที่ฐานทัพอากาศรัสเซียในแหลมไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนที่รัสเซียได้ผนวกเข้ามาจากยูเครน ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นเหนือพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของความรุนแรงที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นของสงครามยูเครน

เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และบาดเจ็บอีก 9 คน ขณะที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียปฏิเสธว่าฐานทัพดังกล่าวไม่ได้ถูกโจมตี แต่มีอาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างเกิดระเบิดขึ้น ขณะที่โซเชียลเน็ตเวิร์คของยูเครนเต็มไปด้วยการคาดเดาว่า ฐานทัพแห่งนี้น่าจะถูกโจมตีโดยขีปนาวุธพิสัยไกลของยูเครน

Smoke rises after explosions were heard from the direction of a Russian military airbase near Novofedorivka, Crimea August 9, 2022. REUTERS/Stringer

วิดีโอที่มีการโพสต์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์คแสดงให้เห็นภาพผู้คนกำลังอาบแดดบนชายหาดใกล้เคียงกำลังหลบหนีเมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น ขณะที่ด้านหลังมีเปลวไฟขนาดใหญ่รวมถึงกลุ่มควันลอยขึ้นเหนือท้องฟ้าจากจุดต่างๆ จำนวนมาก

ด้านไครเมียทูเดย์นิวส์รายงานว่า มีพยานหลายคนแจ้งว่าได้เกิดไฟไหม้บนรันเวย์ แรงระเบิดยังสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนใกล้เคียง ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุระเบิดหลายสิบครั้ง

สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่า สาเหตุหลักของการระเบิดดูเหมือนจะมาจากการละเมิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีเครื่องบินรบรัสเซียได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ขณะที่กระทรวงกลาโหมยูเครนโพสต์ข้อความประชดประชันบนเฟซบุ๊กว่า กระทรวงกลาโหมยูเครนไม่สามารถระบุสาเหตุของเพลิงไหม้ได้ แต่ขอย้ำอีกครั้งถึงกฎความปลอดภัยจากอัคคีภัย และการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ที่ไม่ได้มีการระบุแน่ชัด

หากกองทัพยูเครนเป็นผู้ลงมือในเหตุระเบิดฐานทัพอากาศรัสเซียดังกล่าวจริง จะถือเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ครั้งแรกบนฐานทัพรัสเซียในคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเครมลินได้ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี 2557 โดยรัสเซียใช้ฐานทัพดังกล่าวเพื่อการโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครน

เหตุระเบิดดังกล่าวยังเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่สหรัฐประกาศส่งมอบอาวุธชุดใหม่มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ยูเครนใช้ในการยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้กลับคืนมา ขณะที่รัสเซียได้เตือนยูเครนว่าการโจมตีใดๆ ต่อไครเมียจะจุดชนวนให้เกิดการตอบโต้ครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการหันกลับไปโจมตีศูนย์กลางการตัดสินใจในกรุงเคียฟ

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยึดไครเมียคืนจากรัสเซีย โดยเขาระบุว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและกับยุโรปทั้งหมดเริ่มต้นที่แหลมไครเมีย และต้องจบลงด้วยการที่แหลมไครเมียได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ แม้วันนี้จะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เรากำลังเพิ่มองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องเพื่อเดินหน้าไปสู่การปลดปล่อยไครเมีย