ผ่าตัด ดับเพลิง ขับเครื่องบิน ฝึกได้ด้วย VR/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ผ่าตัด ดับเพลิง ขับเครื่องบิน

ฝึกได้ด้วย VR

 

Virtual Reality หรือความจริงเสมือนที่เพียงแค่สวมอุปกรณ์เข้าไปที่ศีรษะเราก็จะรู้สึกเหมือนได้วาร์ปไปยังอีกสถานที่หนึ่งทั้งที่ขาเรายังแตะพื้นอยู่ที่เดิม ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีศักยภาพมากกว่าการเป็นแค่อุปกรณ์ช่วยให้เล่นเกมได้อรรถรสมากขึ้น

เพราะล่าสุดทีมแพทย์ในบราซิลได้ประกาศความสำเร็จในการผ่าตัดแยกแฝดสยามออกจากกันได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจาก VR

Bernado และ Arthur เป็นแฝดสยามวัย 4 ขวบที่มีส่วนศีรษะเชื่อมต่อเข้าหากันตั้งแต่เกิด เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการผ่าตัดแยกแฝดสยามออกจากกันไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้ง่ายๆ แต่ละเคสมีความท้าทายที่แตกต่างกันไป อย่างในเคสนี้แฝดทั้งสองคนใช้เส้นเลือดเส้นสำคัญในสมองร่วมกันทำให้การผ่าตัดมีความซับซ้อนสูง และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทั้งคู่ ที่ผ่านมาทั้งสองคนเข้ารับการผ่าตัดไปแล้วถึง 7 ครั้ง โดยมีทีมงานเข้าร่วมมากเกือบ 100 คน

แล้ว VR เข้ามามีส่วนร่วมที่ทำให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไร

เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกปรือฝีมือเลยค่ะ ทีมแพทย์ได้ใช้เทคโนโลยี VR ในการจำลองการผ่าตัดเสมือนขึ้นมาเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝนการผ่าตัดเคสนี้โดยเฉพาะ ทีมแพทย์ทดลองเทคนิคต่างๆ ในการผ่าตัดโดยใช้ข้อมูลจากการทำ CT และ MRI สแกนมาสร้างเป็นแผนที่ดิจิทัลของกะโหลก จากนั้นก็จำลองเป็น VR เพื่อทดลองผ่าตัดซึ่งก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนจนมั่นใจว่าต้องใช้เทคนิคอะไรในการผ่าตัดบ้าง

ข้อดีของการใช้ VR นอกจากจะช่วยให้ทีมแพทย์ได้ฝึกผ่าตัดจนคล่องแคล่วแล้วก็คือการกำจัดอุปสรรคด้านระยะทางทิ้งไป เปิดโอกาสให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเก่งกาจจากทั่วโลกเข้ามาช่วยกันระดมสมองในการผ่าตัดได้ราวกับทุกคนอยู่ในสถานที่เดียวกัน

การผ่าตัดแยกแฝดสยามครั้งนี้นอกจากจะเป็นฝีมือของทีมแพทย์ในบราซิลแล้วก็ยังมีทีมแพทย์ในประเทศอังกฤษที่สวมอุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพ VR และเข้ามาช่วยระดมสมองกันในห้องผ่าตัดเสมือนจริงด้วย

ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลความรู้กันได้แบบไม่มีอุปสรรคทางกายภาพมาขวางกั้น

 

ในการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ทีมแพทย์ใช้เวลานานถึง 27 ชั่วโมง หยุดพักเบรกเพื่อดื่มน้ำและรับประทานอาหารครั้งละ 15 นาทีเพียงแค่ 4 ครั้ง การได้ฝึกฝนผ่าตัดเสมือนจริงมาก่อนทำให้ทีมแพทย์รู้จักสรีระของเด็กทั้งคู่อย่างทะลุปรุโปร่งและสามารถผ่าตัดได้สำเร็จ ทำให้ Bernado และ Arthur กลายเป็นเด็กที่อายุมากที่สุดที่รอดชีวิตจากการผ่าตัดแยกศีรษะซึ่งมีความซับซ้อนสูงขนาดนี้

ข่าวดีในครั้งนี้ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของ VR ให้คนทั่วไปได้เห็นว่า VR ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาแค่ใช้เล่นเกมหรือเพื่อให้คนเสพคอนเทนต์ทางเพศได้แบบถึงพริกถึงขิง และไม่ใช่แค่อาชีพแพทย์เท่านั้นที่สามารถใช้ VR เข้ามาจำลองการฝึกฝีมือได้ แต่อาชีพอื่นๆ ก็ฝึกด้วย VR มาสักพักแล้วเหมือนกัน

อาชีพที่ความเสี่ยงสูง มีโอกาสแค่ครั้งเดียว และการตัดสินใจแต่ละครั้งอาจจะชี้เป็นชี้ตายได้ เป็นรูปแบบอาชีพที่เหมาะเป็นอย่างมากที่จะนำเทคโนโลยี VR เข้ามาช่วยฝึก

อย่างเช่นนักผจญเพลิง กู้ภัย ทหาร หรือตำรวจ

 

ถึงแม้ว่าอาชีพเหล่านี้จะมีการฝึกเหมือนจริงอยู่แล้ว แต่สถิติจาก U.S. Fire Administration ก็ระบุว่าในช่วงปี 2008-2014 มีนักผจญเพลิงมากกว่า 100 คนที่เสียชีวิตในระหว่างการฝึกเนื่องจากการฝึกแต่ละครั้งมีความสมจริงและหนักหน่วง ทำให้ในช่วงหลังๆ มานี้ทางหน่วยงานหันมาใช้วิธีฝึกในโลกเสมือนจริงแทน โดยบอกว่าการใช้ VR ทำให้นักผจญเพลิงสามารถฝึกรับมือเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จำลองได้ยาก และยังช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดจากการฝึกซ้อมจริงด้วย

อีกรูปแบบการใช้ VR จำลองการฝึกรับมืออุบัติภัยก็คือการฝึกบุคลากรในกรณีที่แทนขุดเจาะน้ำมันเกิดไฟไหม้ เครื่องมือของบริษัท ENGAGE ช่วยให้คนมากถึง 50 คน สามารถล็อกอินระยะไกลเข้าไปฝึกเสมือนจริงพร้อมๆ กันโดยเลือกได้ว่าจะให้เกิดไฟไหม้ในรูปแบบไหน ขั้นตอนการอพยพต้องทำอย่างไรบ้าง

ส่วนตัวฉันที่แค่นั่งดูวิดีโอการซ้อมเสมือนจริงเฉยๆ ยังรู้สึกหัวใจเต้นแรงไปกับภาพและเสียงตรงหน้า ทั้งเปลวไฟที่พวยพุ่ง เสียงไซเรนโหยหวน เสียงคนสำลักควัน และเสียงระเบิดที่ดังกึกก้อง

ทั้งหมดนี้สมจริงจนฉันเชื่อว่าหากได้ฝึกฝนเสมือนจริงบ่อยๆ และต้องเจอสถานการณ์จริงเข้าสักวัน คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็จะสามารถประคองสติได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยฝึกแน่นอน

 

อีกหนึ่งอาชีพที่คุ้นเคยกับการฝึกแบบเสมือนจริงอยู่แล้วก็คือนักบิน เทคโนโลยี VR ช่วยทำให้นักบินฝึกรับมือกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นโดยเฉพาะการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่สิ่งที่ฉันชอบเป็นพิเศษก็คือ VR สามารถช่วยให้นักบินฝึกการคุยวิทยุสื่อสารได้ด้วย

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้นักเรียนการบินจำนวนมากรู้สึกประหม่ายิ่งกว่าการขับเครื่องบินจริงๆ เสียอีกก็คือการต้องคอยสนทนากับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (ATC) จากการเข้าไปนั่งสังเกตุการณ์การฝึกบินของนักเรียนการบินทำให้ฉันรู้ว่าการคุยกับ ATC ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลย ไหนจะต้องมีสมาธิกับการรายงานข้อมูลการบินของตัวเองในตอนนั้นๆ ให้ไม่ผิดพลาด ไหนจะต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ ATC พูดกลับมาอีก ยิ่งบินในต่างประเทศที่เราไม่คุ้นเคยกับสำเนียงก็อาจจะทำให้นักเรียนการบินเครียดจนเส้นเลือดปูดได้

การฝึกฝนเสมือนจริงโดยใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้นักเรียนการบินได้ลองฝึกพูดกับ ATC บ่อยเท่าไหร่ก็ได้ที่ต้องการ และตัวซอฟต์แวร์ก็สามารถแก้ไขให้ได้ทันทีที่นักเรียนพูดผิด ทำให้เกิดความมั่นใจและมีสมาธิที่มั่นคงขึ้นเมื่อต้องขึ้นบินจริงๆ ซึ่งผลการทดลองใช้งานก็สรุปได้ว่านักเรียนมีความพร้อมมากขึ้น ประหม่าน้อยลง และใช้วิทยุสื่อสารได้คล่องขึ้น

อาชีพไหนก็ตามที่ต้องการการฝึกฝน (ซึ่งอันที่จริงก็น่าจะแทบทุกอาชีพ) โดยเฉพาะการฝึกฝนที่ต้นทุนสูง จัดเตรียมได้ยาก ก็สามารถใช้ VR เข้ามาช่วยได้ทั้งนั้น ตั้งแต่ช่างซ่อมรถ พนักงานในโกดัง ไปจนถึงพนักงานบริษัทที่ต้องการฝึกการพรีเซนต์งานอย่างมั่นใจ และในตอนนี้ก็มีซอฟต์แวร์ที่ออกมารองรับความต้องการเหล่านี้ให้เลือกแล้วมากมาย

ความท้าทายของการใช้ VR ในการฝึกหลักๆ ก็คือความรู้สึกมึนงงหรือความเหนื่อยล้าจากการสวมใส่อุปกรณ์ VR เป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งร่างกายแต่ละคนก็จะตอบสนองไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกแบบการฝึกเสมือนจริงให้เหมาะกับคนแต่ละกลุ่มก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

ฉันเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ทุกสายอาชีพจะหันมาพิจารณาฝึกฝนพนักงานด้วย VR กันอย่างจริงจังมากขึ้น และในที่สุดมันน่าจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีตัวเลือกทางด้านอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะเราจะสามารถใช้ VR เรียนรู้วิชาชีพที่เราสนใจและฝึกฝนกี่ครั้งก็ได้จนเชี่ยวชาญ

ขอให้มีซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม อาชีพที่ฝันก็ไม่ไกลเกินเอื้อม