ธงทอง จันทรางศุ | ‘ลุง’ ทัวร์นอก กับ ‘หลาน’ ยุคใหม่

ธงทอง จันทรางศุ

ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมใช้เวลาประมาณเจ็ดแปดวันเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบสองปีครึ่งที่ผ่านมา

สถานการณ์โรคโควิดที่ทั้งโลกต้องพบเผชิญพร้อมกันทำให้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางระหว่างประเทศ ที่หมายปลายทางครั้งนี้ของผมมีสองแห่งคือเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีแห่งหนึ่ง และกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่ง

ในฐานะคนสนใจภาษาไทยขอแถมเกร็ดนิดหนึ่งตรงนี้ได้ไหมครับว่า ผมตั้งใจเลือกใช้คำว่า “เมือง” กับคำว่า “กรุง” ในที่นี้ให้ต่างกัน

คำว่า “กรุง” ผมตั้งใจสงวนไว้ใช้สำหรับเมืองหลวงของประเทศ แต่ถ้าเป็นเมืองอื่นที่ไม่ใช่เมืองหลวง กรณีเป็นเมืองใหญ่หน่อย ผมก็เรียกว่า “นคร” เช่น นครนิวยอร์ก และถ้าเป็นเมืองขนาดย่อมลงไปกว่านั้นก็เรียก “เมือง” เฉยๆ

กำลังจะบอกว่าเดินทางไปไหน จะต้องขึ้นเครื่องบินอย่างไร อยู่ดีๆ ไหลกลายเป็นครูไหวใจร้ายสอนภาษาไทยขึ้นมาเสียอย่างนั้น

เลี้ยวกลับมาที่ตั้งเดิมของเราดีกว่าครับ

ก่อนสถานการณ์โควิด การบินไปเมืองมิลานเป็นของง่ายมาก เพราะมีสายการบินหลายสายให้บริการเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงมิลาน

แต่ไม่น่าเชื่อว่ามาถึงวันนี้ไม่มีสายการบินที่บินตรงในเส้นทางนี้เลยครับ ผู้เดินทางต้องเลือกว่าจะบินไปที่ไหนก่อนสักเมืองหนึ่งแล้วไปเปลี่ยนเครื่องบินที่นั่นเพื่อบินเข้าสู่มิลานอีกทอดหนึ่ง

เช่น บินไปเมืองโดฮาหรือดูไบในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยใช้สายการบินของกลุ่มประเทศแถบนั้น แล้วไปรอเปลี่ยนเครื่องอยู่ที่นั่นสี่ห้าชั่วโมงก่อนจะบินไปมิลาน

โชคดีมากที่ผมหาเที่ยวบินสองทอดที่ไม่เหนื่อยมากขนาดนั้นได้ โดยบินไปสิงคโปร์เพียงแค่ 2 ชั่วโมงแล้วไปรอเปลี่ยนเครื่องบินอีก 1 ชั่วโมงนิดๆ พอขึ้นเครื่องบินทอดที่สองก็บินยาว 12 ชั่วโมงไปลงมิลานพอดิบพอดี

ส่วนขากลับผมบินกลับจากกรุงโคเปนเฮเกนมากรุงเทพฯ เป็นเที่ยวบินตรงไม่ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่ไหน ใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมงครึ่ง โดยการบินไทย สายการบินที่ผมเป็นเจ้าหนี้อยู่

เจ้าหนี้ต้องอุดหนุนลูกหนี้ ด้วยความหวังว่าเขาจะมีเงินมาใช้หนี้แหละครับ ฮา!

นอกจากความยากลำบากในการเลือกเส้นทางแล้ว จำนวนเที่ยวบินก็มีไม่บ่อยมากเท่าแต่ก่อน และที่เจ็บปวดมากคือราคาแพงขึ้นกว่าเดิมมาก เห็นจะเป็นเพราะว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันขึ้นราคาทั่วทั้งโลก เนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปส่งผลกระทบไปกว้างขวาง

แต่เราผู้เป็นมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยจะไปมีทางเลือกอะไรได้นอกจากจำยอมซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาที่เขาบอกขายเท่านั้น

ในวันที่ผมออกเดินทางจากเมืองไทยคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ผู้คนในเมืองไทยยังใส่หน้ากากกันเป็นอาจิณวัตร ถึงแม้รัฐบาลท่านจะไม่ได้กวดขันว่าต้องใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งแล้วก็ตาม

แต่ด้วยความที่เคยชินมานานถึงสองปีเศษ ผมสังเกตว่าคนไทยส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมเองด้วยไม่ว่าอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือในห้องหับในอาคาร เกือบร้อยละร้อย ก็ยังใส่หน้ากากอนามัยอยู่เป็นประจำ

ที่เมืองสิงคโปร์ซึ่งผมไปเปลี่ยนเครื่องบิน ทุกคนก็ยังสวมหน้ากากอยู่ในสนามบินครบถ้วน รวมตลอดถึงการนั่งบนเครื่องบินทุกช่วงตอนของการเดินทางคราวนี้ ทุกสายการบินก็ขอให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอยู่เป็นประจำ เว้นแต่เฉพาะเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเท่านั้น

ข้อค้นพบที่น่าตื่นเต้นคือ เมื่อไปถึงยุโรปแล้วผมพบว่าพฤติกรรมในการสวมหน้ากากอนามัยในสองเมืองที่ผมได้ไปเที่ยวมานั้น ความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัยลดทอนลงไปมาก

ที่เมืองมิลานน่าจะมีคนสวมหน้ากากอนามัยอยู่ประมาณร้อยละห้าถึงร้อยละสิบเท่านั้น พอไปถึงโคเปนเฮเกน ไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลยครับ แทบทุกคนใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนก่อนโรคโควิดระบาด จะมีผู้ที่รักษาอนามัยเคร่งครัดเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน

ผมไม่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะบอกได้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเหมาะสม ทำได้ก็แต่เพียงนำเรื่องที่ได้พบเห็นมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

สําหรับผมเองแล้วมีความเห็นว่าโลกของเราในช่วงเวลาสองปีครึ่งที่ผ่านไปพร้อมกับโรคระบาดโควิด เราก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่นในช่วงแรก แทบไม่มีใครรู้จักวิธีที่จะรับมือกับโรคนี้ได้เลย ทุกคนในทุกประเทศงงงวยกันไปหมด

แต่วันนี้เรามีวัคซีนหลายยี่ห้อ และถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้วเกิดไปติดโควิดเข้า ก็มีวิธีรักษาพยาบาล มียาให้กิน มีแนวปฏิบัติในการรักษาตัวกักตัว สถานพยาบาลต่างๆ ก็มีความพร้อมมากขึ้นในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและสถานที่ เรารู้จุดอ่อนจุดแข็งทั้งของมนุษย์เราและทั้งของโควิด

เรียกว่า รู้ทันกันขึ้นมาตั้งเป็นกอง แบบนี้ก็พออยู่ด้วยกันไหว ขอเพียงอย่าประมาทจนเกินสมควรเท่านั้น

นี่พูดถึงเรื่องการเดินทางไปแล้ว ต่อไปขอพูดถึงเรื่องโปรแกรมท่องเที่ยวบ้างครับ

แต่ก่อนแต่ไรมาเวลาผมเดินทางไปไหนมาไหน ด้วยความที่เป็นหัวโจกคือชอบเป็นหัวหน้าห้องมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ผมมักจะมีบทบาทนำในการกำหนดตารางท่องเที่ยวหรือตารางเดินทางอยู่เสมอ เรียกว่าใครจะไปไหนมาไหนต้องตามใจผมล่ะครับ

แน่นอนว่าในการคิดวางแผนท่องเที่ยวของผม เมื่อเป็นการเดินทางไปด้วยกันหลายคน ผมก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของคนโน้นบ้างคนนี้บ้างผสมกันไป เพื่อให้โปรแกรมโดยรวมมีค่าเฉลี่ยออกมาถูกใจสมาชิกทุกคน แต่ต้องไม่ลืมว่าเสียงผมจะใหญ่กว่าอยู่เสมอ

ฟังดูคล้ายๆ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศอะไรสักประเทศหนึ่งไหมครับ ฮา!

แต่ว่าการเดินทางไปทริปยุโรปครั้งนี้ ผมได้ลดบทบาทของผมลงจนแทบจะเหลือศูนย์หรือกลายเป็นศูนย์ก็ว่าได้

ตัวอย่างเช่น ถ้าให้ผมวางโปรแกรมท่องเที่ยวในกรุงโคเปนเฮเกนเอง ผมก็ต้องไปสวัสดีนางเงือกที่นั่งอยู่ริมแม่น้ำ และต้องไปดูพระราชวังโน้นพระราชวังนี้อีกสามสี่แห่งเป็นจบรายการ

แต่คราวนี้ผมไปกับหลานสามคน คนโตที่สุดผู้เป็นลูกของน้องชายผมเพิ่งเรียนจบทางด้านวิชาเกี่ยวกับศิลปะมาจากเมืองมิลาน ระหว่างเวลาสองสามปีที่เขาอยู่ที่มิลาน เขาได้ตระเวนไปท่องเที่ยวดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่หรือศิลปะร่วมสมัยตามเมืองต่างๆ อยู่เสมอ เขาจึงมีความจัดเจนคล่องแคล่วในเรื่องที่เราไม่สันทัด

ยุคสมัยนี้เป็นยุคของเขาแล้ว

ดังนั้น รายการท่องเที่ยวในแต่ละวันผมจึงยกให้หลานชายของผมเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าจะไปดูอะไร ไม่ว่าจะกินอะไร เขาศึกษามาล่วงหน้าโดยมีข้อมูลเพียบพร้อม ร้านอาหารไหนอร่อย ร้านอาหารไหนดี มิวเซียมที่เป็นโมเดิร์นอาร์ตแห่งไหนน่าเดินชม เขาสามารถรู้ข้อมูลจากระบบเทคโนโลยีที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องมะงุมมะงาหรา

ร้านอาหารที่อร่อยเด็ดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นยี่ห้อเชลล์ชวนชิมของคุณชายถนัดศรีแบบที่ผมรู้จัก แต่กลายเป็นร้านอาหารที่แนะนำโดยฝรั่งที่ชื่อ Phil และทำรายการอยู่ใน Netflix

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเป็นสถานที่ที่อย่างไรเสียก็ไม่ควรพลาด เช่น อาคารริมน้ำที่มีหลายสี และใครไปใครมาก็ต้องแวะไปหาอะไรกินแถวนั้นอยู่เสมอ เขาก็ไม่ลืมที่จะจัดไว้ในโปรแกรม

พอผมลดบทบาทตัวเองลง และปล่อยให้หลานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีบทบาทนำอย่างนี้อย่างนี้ ปรากฏว่าการท่องเที่ยวคราวนี้ของผมก็ได้มุมมองใหม่ ได้เห็นอะไรที่ไม่จำเจหรือเป็นแบบแผนดั้งเดิมที่ผมคุ้นเคย และก็ไม่ได้แปลว่ามีอะไรเสียหายตกหล่นด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ไปมาในทริปนี้ ร้านอาหารที่ได้ลิ้มรสทุกมื้อ ยังเป็นความสุขในการเดินทางที่แม้กลับมาแล้วก็ยังถวิลหา

นี่ก็เป็นคติสอนใจผมเองอยู่เหมือนกันว่า มาถึงวันนี้หลานของผมเติบโตขึ้น อายุอานามอยู่ในวัยที่จะรับผิดชอบตัวของเขาเองได้แล้ว บททดสอบหนึ่งสัปดาห์เศษจากการเดินทางร่วมกันสองประเทศทำให้ผมรู้ว่า การทำใจของผมให้นิ่ง ปล่อยให้เด็กผู้ที่มีอนาคตอีกยาวไกลได้เดินนำทางไปข้างหน้า โดยเราไม่ต้องเป็นหัวโจกไปตลอดกาล น่าจะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผม

บทบาทของผมในครอบครัว ไม่ควรเป็นคนชี้ต้นตายปลายเป็น ว่าใครควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร

แต่ถ้าสมาชิกรุ่นหลานมาถาม ผมก็มีคำแนะนำ มีประสบการณ์จะเล่าสู่กันฟัง และพร้อมจะให้การสนับสนุนในหนทางที่เขาเลือกเดินด้วย

นี่ถ้ามีการประกวดลุงดีเด่นแห่งชาติเมื่อไหร่

ผมจะเข้าประกวดด้วยนะครับ อิอิ