อาฬวาร์ : เหล่านักบุญต้นธารแห่งขบวนการภักติ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Andal Temple of the Hoysala period, Chennakeshava Temple, Belur

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

อาฬวาร์

: เหล่านักบุญต้นธารแห่งขบวนการภักติ

 

“กวีทั้งหลาย ระวังไว้เถอะ! ชีวิตของเธอกำลังตกอยู่ในอันตราย พระเจ้าจอมพฤนทาวันเป็นโจรร้ายและคนเจ้าเล่ห์ นายแห่งมายาภาพได้เสด็จมาหาฉัน พระองค์คือนักมายากลของถ้อยคำ แอบเข้ามาในร่างกายและลมหายใจ โดยผู้เห็นเหตุที่เฝ้ามอง ทว่า ไม่เห็นสิ่งใด พระองค์กลืนกินชีวิตและอวัยวะทุกส่วนของฉัน ถ่ายเทฉันไปสู่พระองค์โดยบริบูรณ์”

นามมาฬวาร์ (Nammalvar) หนึ่งในนักบุญกลุ่ม “อาฬวาร์” แห่งดินแดนอินเดียใต้ ได้กล่าวถึงกวีทั้งหลายไว้ว่า เมื่อกวีทำงานกับพระเป็นเจ้า แหล่งที่มาของบทประพันธ์ทั้งหลายนั้นไม่ใช่จากร่างกายและจิตใจของเขาอีกต่อไป แต่มาจากพระผู้เป็นเจ้าเอง และชีวิตเขากำลังค่อยๆ กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าด้วยความรัก

ที่ผ่านมา ผมได้เขียนถึงนักบุญกวีทั้งหลายในยุคกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก) โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินเดีย

ทว่า อิทธิพลทางความคิดความเชื่อของนักบุญเหล่านั้น มีรากเหง้ามาจากภาคใต้แห่งแดนภารตะ นักบุญสายไวษณพนิกายได้รับมาจากคำสอนของท่านรามานุชาจารย์และท่านสวามีรามานันทะ และมีบ้างที่ได้นำความคิดมาจากปรัชญาของท่านศังกราจารย์ซึ่งมีภูมิกำเนิดที่ตำบลกลาทิ แคว้นเกราละในภาคใต้เช่นกัน

ทั้งท่านรามานุชะและศังกระเป็น “อาจารย์” ซึ่งหมายถึง “นักปรัชญา” ซึ่งเผยแผ่ความคิดไปอย่างกว้างขวาง แต่ตัวรามานุชาจารย์เองก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักบุญอีกกลุ่มก่อนหน้า

ซึ่งเราอาจกล่าวว่าเป็นนักบุญในขบวนการภักติยุคแรกสุด

 

ผมขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ผมมีความคิดนานมาแล้วที่จะเล่าถึงชีวิตและการงานของบรรดานักบุญทั้งหลายตลอดจนครูบาอาจารย์ที่สำคัญ (เน้นเฉพาะสายฮินดู) ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มขบวนการภักติเท่านั้น แต่จะกล่าวถึงท่านเหล่านี้ภายใต้ร่มใหญ่ว่า “นักบุญแห่งอินเดีย”

เหตุว่าเมื่อเรากล่าวถึงศาสนาฮินดูในเมืองไทย ผู้คนมักสนใจแต่เพียงเรื่องของเทพเจ้า เทวตำนานและพิธีกรรม แต่จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะทำความเข้าใจศาสนาหนึ่งโดยขาด “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่พยายามจะปฏิรูปศาสนา คนที่ทำให้ศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์สูงส่งแตะต้องไม่ได้ คนที่พยายามขับเคลื่อนศาสนาด้วยความรัก ทำไมเราถึงไม่รู้จักคนเหล่านี้

เราจึงอยากจะเป็นพราหมณ์เสียยิ่งกว่าพราหมณ์ เราจึงสนใจเพียงเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเท่านั้น และเราเองก็ไม่ได้รู้จักฮินดูอย่างที่ฮินดูเป็นหรือพยายามจะเป็น ราวกับย้อนไปก่อนยุคที่จะปฏิรูปศาสนา เฝ้าวนเวียนกับข้อมูลชุดเดิมไม่ไปไหน

จึงขอให้ท่านผู้อ่านที่อาจเอียนกับเรื่องเหล่านี้แล้วโปรดอภัยด้วย ให้คิดว่าท่านทำทาน โดยมอบความสุขเล็กๆ ให้ผมได้เขียนเรื่องที่ผมอยากเขียนมานาน

และวันนี้จะขอเล่าถึง “อาฬวาร์”

 

อาฬวาร์ (Alvar หรือออกเสียงแบบทมิฬว่า Azahwar) เป็นชื่อเรียกกลุ่มนักบุญกลุ่มหนึ่ง แปลว่า “ผู้ดื่มด่ำ (ในพระเจ้า)” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “ขบวนการ” ก็ได้ เพราะสืบสายยาวนานต่อเนื่องและมีอิทธิพลต่อคนยุคหลัง เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่หกถึงเก้า (บ้างว่าเจ็ดถึงเก้า)

เวลานั้นอินเดียภาคใต้มีความหลากหลายทางศาสนาและต่างแข่งขันกัน ศาสนาพุทธและไชนะกำลังรุ่งเรือง ฝ่ายฮินดูมีการปฏิรูปคำสอน เกิดขบวนการฟื้นฟูศาสนาในหมู่ชาวบ้านโดยเน้นความภักดี ในแง่หนึ่งก็เพื่อแข่งขันกับศาสนาอื่น ขบวนการนี้มีทั้งฝ่ายที่นับถือพระวิษณุคืออาฬวาร์ และฝ่ายที่นับถือพระศิวะเรียกว่า นยันมาร์ (Nyanmar)

เราอาจกล่าวได้ว่า ต้นธารของขบวนการภักติของอินเดียเริ่มต้นจากจุดนี้

อาฬวาร์ประกอบด้วยนักบุญสิบสองคน ที่สำคัญเป็นพิเศษคือนามมาฬวาร์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดไวษณพในยุคถัดไป และนักบุญหญิงหนึ่งเดียวคือ “อาณฑาฬ” (ซึ่งผมจะได้เล่าต่อไปในคราวหน้า) ส่วนนยันมาร์นั้นมีถึงหกสิบสี่คน แต่มีที่สำคัญอยู่สี่ท่าน

นักบุญเหล่านี้มาจากภูมิหลังที่ต่างกันตั้งแต่พราหมณ์ไปจนถึงคนอวรรณะ ชนชั้นสูงและคนบ้านป่า

 

ผลงานกวีของอาฬวาร์ซึ่งมีมากมายได้ถูกรวบรวมไว้ เรียกว่า “นาลายีระ ทิพยประพันธัม” (Naalayira Divya Prabandham) หรือบทประพันธ์ทิพย์สี่พันบท ใช้ภาษาทมิฬ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าพระเวท แม้จะแต่งโดยคนหลากหลายและไม่ได้ใช้สันสกฤต เรียกอีกอย่างว่า “พระเวทของชาวทมิฬ” รวบรวมโดยนาถมุนีซึ่งเป็นคณาจารย์ยุคหลัง

ในบทประพันธ์นี้ นอกจากกวีอันไพเราะมีเนื้อหาสรรเสริญพระวิษณุและความรักภักดีแล้ว เหล่าอาฬวาร์ได้กล่าวถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวเนื่องด้วยพระวิษณุไว้หนึ่งร้อยแปดแห่ง เรียกว่า “108 ทิพยเทศัม” กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ บ้างก็ใหญ่โตเป็นศาสนนครอย่างศรีรังคัม บ้างก็เป็นเพียงเทวสถานเล็กๆ ในหมู่บ้าน การจาริกไปยังทิพยเทศัมจึงกลายเป็นบุณยวิถีของชาวไวษณวพ

ทิพยเทศัมอยู่ในทมิฬนาฑู 84 แห่ง, เกราละ 11 แห่ง, อันธรประเทศ 2 แห่ง, คุชราต 1 แห่ง, อุตรประเทศ 4 แห่ง, อุตรขัณฑ์ 3 แห่ง, ประเทศเนปาล 2 แห่ง และไม่ได้อยู่ในโลกนี้อีก 2 แห่ง คือเกษียรสมุทรและไวกูณฑ์

แม้ชีวิตของนักบุญเหล่านี้จะมีเรื่องราวของอิทธิปาฏิหาริย์เฉกเช่นตำนานนักบุญทั่วไป แต่ชีวิตหลายท่านก็ยากลำบาก และต้องเผชิญการเหยียดหยาม

เช่น ติรุปปัน อาฬวาร์ซึ่งเป็นคนนอกวรรณะ

 

ตํานานเล่าว่าท่านมีอาชีพเล่นดนตรีและขับร้อง (ซึ่งเป็นอาชีพของคนอวรรณะกลุ่มหนึ่งเหมือนพวกวณิพก) วันหนึ่งระหว่างที่กำลังดื่มด่ำการขับร้องสรรเสริญพระวิษณุที่ริมน้ำ ติรุปปันก็เผอิญไปขวางทางเดินของพราหมณ์ประจำเทวสถานศรีรังคัม

พราหมณ์บอกให้ท่านหลีกทางด้วยความรังเกียจและกลัวมลทินของคนอวรรณะจะต้องตนเอง แต่ติรุปปันยังคงอยู่ในภวังค์แห่งภักดีจึงไม่ได้ยินเสียงภายนอกใดๆ

ด้วยความโกรธ พราหมณ์จึงฉวยเอาหินที่อยู่ใกล้ๆ ขว้างใส่ หินก้อนนั้นไปกระแทกหน้าของติรุปปันจนบาดเจ็บเลือดไหล ทว่าพราหมณ์ก็ไม่กล่าวขอโทษและติรุปปันเองก็ไม่ได้แสดงความขุ่นเคืองโวยวายอะไร

วันต่อมา พระวิษณุศรีรังคนาถแห่งศรีรังคัมได้ไปเข้าฝันพราหมณ์ผู้นั้น บอกให้เขาไปขอโทษต่อติรุปปันและแบกเขาเข้ามาหาพระองค์ในเทวสถานด้วยตนเอง ติรุปปันจึงถูกพราหมณ์แบกเข้าเทวสถาน และท่านได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว สลายหายไปในเทวรูปพระเจ้าที่ท่านรัก

ผมเคยเล่าไว้ในบทความชื่อ “เมื่อพราหมณ์ “แบก” วรรณะต่ำเข้าเทวสถาน” ว่า ในปี พ.ศ.2561 เทวสถานชื่อ “จิลกูร พละชี” (Chilkur Balaji) ในเมืองไฮเดอราบาด รัฐเตลังคนะ หัวหน้าพราหมณ์ได้แบกเด็กหนุ่มอวรรณะ เข้าไปยังเทวสถาน ก็โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่านี้เอง

 

อาฬวาร์ไม่ได้มีหลักปรัชญาซับซ้อน พวกเขาเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวคือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ นับถือบรรดาอวตารของพระองค์ พระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุด ทรงสรรพานุภาพและทรงสรรเพชญ์ พระวิษณุรักสาวกของพระองค์มาก เพราะนอกจากจะอวตารมาปราบยุคเข็ญแล้ว ยังทรงมาปรากฏเป็นเทวรูปในทิพยเทศต่างๆ เพื่อให้สาวกเฝ้าแหน

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาฮินดูจึงไม่ได้มีแนวคิดแบบ “พหุเทวนิยม” (polytheism) ที่เชื่อว่ามีเทพเจ้ามากมายเท่านั้น เพราะหากพิจารณาจากแนวคิดของอาฬวาร์หรือนยันมาร์ จะเห็นการนับถือพระเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม-monotheism) อยู่ด้วย ส่วนเทพเจ้าอื่นๆ นั้นอยู่ในฐานะบริวารหรือส่วนหนึ่งของพระองค์

อาฬวาร์ถือว่า ความภักดีหรือความรักอย่างสุดจิตใจ ยอมมอบตนต่อพระเจ้าเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้น ลักษณะความภักดีของอาฬวาร์มีทั้งแบบ “ทาสยะ” คือยอมตนเป็นทาสของพระเจ้า หรือ แบบ “นายกี-นายกะ” คือ ความรักแบบหนุ่มสาว โดยมีพระเจ้าเป็นองค์เอกบุรุษและสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นชายาของพระองค์

นอกจากการภักดีอย่างสุดใจ อาฬวาร์ปฏิเสธระบบวรรณะและอำนาจของพราหมณ์ (แม้ในภายหลังพราหมณ์จะมีบทบาทมากในไวษณพนิกาย) พวกเขาถือว่าไม่ว่าใครหากมีความภักดีต่อพระเจ้าก็สามารถเข้าถึงความหลุดพ้นได้ทั้งสิ้น

ผลจากความเคลื่อนไหวของอาฬวาร์ซึ่งเดินเท้าขับเพลงจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ทำให้แนวคิดแบบภักดีค่อยๆ แผ่ออกไปทั่วทั้งอินเดียและสืบมาจนปัจจุบัน

 

ผมขอจบบทความนี้ด้วยกวีของท่านนามมาฬวาร์ ดังนี้

“ทำไมเล่าดวงใจเจ้าเอย? ไฉนเลยยังรับใช้แต่ภาระทางโลก

เหตุใดจึงยังวิ่งหนีไปตลอดเวลา รั้งรอสักนิดและมาเถิด มาร่วมกับข้า

เราทั้งสองจะค่อยๆ ขัดเกลา สลักเสลาถ้อยคำอ่อนหวานบนชิวหา

ถ้อยคำสรรเสริญบูชาพระองค์ (กฤษณะ)

ผู้ทรงงามขำดุจดอกไม้ป่าสีเข้มขาบ” •