เกาหลีใต้เปิดตัวโครงการวีซ่านำร่อง ดึงดูดผู้อพยพชาวต่างชาติให้มาตั้งถิ่นฐาน

เกาหลีใต้เปิดตัวโครงการวีซ่านำร่อง ดึงดูดผู้อพยพชาวต่างชาติให้มาตั้งถิ่นฐาน ใช้ชีวิต-ทำงานแถบชนบท

 

วันที่ 29 ก.ค.เว็บไซต์โคเรียไทม์รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะดึงดูดผู้อพยพชาวต่างชาติให้มาตั้งรกรากในพื้นที่ชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนเนื่องจากจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ประกาศเปิดตัววีซ่าเฉพาะพื้นที่ โครงการนำร่องซึ่งจะเริ่มอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่กำลังมองหาการใช้ชีวิตและทำงานในชนบทเกาหลีตามที่รัฐบาลกำหนดตั้งแต่เดือนต.ค.ปีนี้

ภายใต้วีซ่าประเภทใหม่นี้ แรงงานที่มีทักษะซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดจะได้รับวีซ่าขอถิ่นที่อยู่ หรือวีซ่าเอฟ-2 ภายใต้เงื่อนไขว่าบุคคลนั้นถูกจ้างงานในอุตสากรรมที่รัฐบาลท้องถิ่นกำหนด ผู้มีถิ่นพำนักในเกาหลีใต้ที่เป็นชาวต่างชาติควรอาศัยอยู่ในภูมิภาคอย่างน้อย 5 ปีหลังจากได้รับวีซ่า โดยได้รับอนุญาตให้นำคู่สมรสและลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาอาศัยอยู่ด้วยกันได้

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอวีซ่าเฉพาะพื้นที่นี้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดรวมถึงการสื่อสารภาษาเกาหลีได้อย่างคล่องแคล่วและจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า

กระทรวงยุติธรรมระบุว่า กระทรวงฯจะรับผู้สมัครวีซ่าจากหน่วยงานเทศบาลในระดับเขตและเมืองเล็กๆที่ต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการวีซ่านำร่องนี้ ปัจจุบันมี 89 พื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ร่วมโครงการ ซึ่ง ได้รับการจัดเป็นท้องถิ่นที่ประชากรมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วตามที่กระทรวงกิจการภายในและความปลอดภัยหรือมหาดไทยกำหนด

จากนั้นกระทรวงยุติธรรมจะเลือก 5 พื้นที่และเสนอวีซ่าเอฟ-2 นี้แก่ชาวต่างชาติรวม 500 คน โดยเริ่มในเดือนต.ค. 2565 ระยะเวลาโครงการ 1 ปี และสิ้นสุดโครงการในเดือนต.ค.2566 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะพิจารณาการขยายโครงการออกไปยังพื้นที่อื่นๆ

เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ระบุว่า ระบบวีซ่าที่คล้ายกันนี้มีหลายประเทศที่นำไปใช้ก่อนเกาหลีใต้ อาทิ ออสเตรเลียและแคนาดา

ยิ่งไปกว่านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะส่งเสริมสนับสนุนชาวต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร โดยการสร้างเส้นทางด่วนสู่การเป็นพลเมืองหรือผู้มีถิ่นพำนักสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อีกทั้งทางการจัดระบบการลงทะเบียนแจ้งเกิดลูกของชาวต่างชาติอีกด้วยเพื่อเป็นหลักประกันการเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน แต่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พ่อแม่ชาวต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายไม่สามารถนำลูกเข้าระบบเกาหลีใต้ได้หากลูกไม่ได้อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย ส่งผลให้ลูกถูกตัดสิทธิและผลประโยชน์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเด็ก