โหวตในสภา ‘ชนะ’ โหวตนอกสภา ‘พ่าย’ ประชาชนไม่ไว้วางใจถล่มทลาย ‘ซูเปอร์โพล’ ชูผลสวน อุ้ม ‘นายกฯ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

โหวตในสภา ‘ชนะ’

โหวตนอกสภา ‘พ่าย’

ประชาชนไม่ไว้วางใจถล่มทลาย

‘ซูเปอร์โพล’ ชูผลสวน อุ้ม ‘นายกฯ’

 

เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับการอภิปรายและการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “10 รัฐมนตรี” การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ส่งท้ายการนับถอยหลังสู่วันหมดวาระรัฐบาลชุดนี้

แม้ผลโหวตลงมติในครั้งนี้จะยังทำให้นายกรัฐมนตรี และ รมต.ทั้ง 11 คนอยู่รอดปลอดภัยได้อีกครั้ง แต่บาดแผลที่เกิดจากการถูกอภิปรายในครั้งนี้ก็ยังเด่นชัดในสายตาประชาชนที่ติดตามชมการอภิปรายในตลอด 3 วันเต็ม

การลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ผลปรากฏว่าพี่ใหญ่สุดของกลุ่มผู้ถูกอภิปรายอย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงถึง 268 คะแนน คะแนนไม่ไว้วางใจ 193 คะแนน งดออกเสียง 11 คะแนน

ส่วน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้คะแนนความไว้วางใจ 256 ไม่ไว้วางใจ 206 งดออกเสียง 9 ซึ่งมีผลคะแนนความไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 4 และคะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 5 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

ผ่านลอยลำไปในระดับกลางๆ เอาตัวรอดไปได้อีกครั้ง แต่ พล.อ. ประยุทธ์ก็ยังคงได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ถูกพี่ใหญ่อย่าง พล.อ. ประวิตรโยนว่าเป็นคนทำปฏิวัติรัฐประหาร และตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยืดอกยกมือตอบรับอย่างน่าชื่นตาบาน

จนโดนสังคมก่นด่าอย่างหนัก

 

ระหว่างที่การอภิปรายและการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไป ข้างนอกสภาก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนควบคู่ไปด้วย โดยมี “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการ “เสียงประชาชน” ร่วมมือกับนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม และสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลอีก 4 ช่อง จัดทำโครงการ “เสียงประชาชน”

เพื่อให้ประชาชนสามารถลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้ง 11 คน คู่ขนานไปกับการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร

โดยมีกติกาในการโหวตคือ “หนึ่งเครื่องหนึ่งเสียง” แยกลงมติรัฐมนตรีทั้ง 11 คนเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่จะขึ้นหน้าจอของสื่อโทรทัศน์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน มีประชาชนร่วมลงมติกว่า 5 แสนโหวต เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีประชาชนเข้าร่วมมากเช่นนี้

ซึ่งภายหลังการลงมติในสภาเสร็จสิ้นลง “ผศ.ดร.ปริญญา” ได้ออกมาโพสต์แจ้งผลโหวตจากเสียงของประชาชน ร่วมลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Prinya Thaewanarumitkul” ระบุผลดังนี้

มีการร่วมโหวตทั้งหมด 524,806 โหวต เป็นการโหวตที่สมบูรณ์ คือลงมติครบทั้ง 11 คน จำนวน 99% และมี 6,876 ครั้งที่เป็นการลงมติที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเทียบได้กับบัตรเสีย และในการโหวตที่สมบูรณ์ มี 511,807 โหวต ที่ลงมติในประเทศไทย

ส่วนผลการโหวตในภาพรวมสรุปผลได้ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ได้คะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่าคะแนนไว้วางใจ โดยมีรัฐมนตรีจำนวน 8 คนได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 97% ได้คะแนนไว้วางใจ 3% จำนวน 8 คน และมีรัฐมนตรีจำนวน 3 คนที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ 96% ได้คะแนนไว้วางใจ 4%

2. รัฐมนตรีที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด คือ “พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี 510,413 คะแนน รองลงมาคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี 508,833 คะแนน

 

เรียกได้ว่าถึงคะแนนโหวตลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจในสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คนจะผ่านฉลุย แต่ด้านนอกสภา ประชาชนร่วมกันเทผลคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ และ 10 รัฐมนตรี อย่างถล่มทลาย

ซึ่งสวนทางกับผลโพลของ “ซูเปอร์โพล” ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในวันที่ 24 กรกฎาคม หลังเสร็จสิ้นการลงมติ มีการเสนอผลสำรวจเรื่อง “รัฐมนตรีคนไหนรอด เสียงโหวตนอกสภา” จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จำนวน 2,175 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.7 รู้อยู่แล้วว่าจะอภิปรายอะไร ไม่มีอะไรใหม่ โจมตีกัน เสียดสีกันทางการเมืองและสถาบัน หวังทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของคนไทย หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง

ขณะที่ร้อยละ 70.9 ระบุมีแต่สาดโคลน เอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตี เหมือนดูละครน้ำเน่า ไม่ได้ประโยชน์, ร้อยละ 69.6 ระบุ เห็นฝ่ายค้านบางคนอภิปรายได้ดี รัฐบาลควรนำไปแก้ไข, ร้อยละ 64.3 ระบุ เห็นชัดการเมืองไทย และหลักประชาธิปไตยไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจผลประโยชน์และคนต่างประเทศ, ร้อยละ 53.6 ระบุอื่นๆ เช่น พรรคเล็ก พรรคใหญ่ต่อรองผลประโยชน์ มีทั้งดาวร่วง ดาวรุ่ง ไร้ค่ายสังกัด ประชาชนรู้ทัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุ 5 รัฐมนตรีที่ประชาชนวางใจให้ทำงานต่อ อันดับแรกคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร้อยละ 61.1 รองลงมาคือ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 59.2, “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 58.7, “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 53.2, “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 52.1

เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ระบุ ควรปรับคณะรัฐมนตรี หาคนเก่งมาร่วมงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีกว่า

ในขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุ ไม่ควรปรับ เพราะทำงานดีอยู่แล้ว ปรับไปก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเกิดปัญหาขัดแย้งแก่งแย่งตำแหน่ง ใครจะเป็นอะไรไม่เกี่ยวกับชีวิต เป็นต้น

 

“บก.ลายจุด หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์” ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี” ถึงผลจากซูเปอร์โพลที่ออกมาสวนทางกับผลโหวตจากประชาชน ระบุว่าเป็นผลโพลที่ออกมาขานรับการอยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์

“มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว เพียงแต่ว่าในยุครัฐบาลคุณประยุทธ์มันค่อนข้างชัดว่าเสียงข้างนอกสภากับเสียงในสภามันไม่ไปด้วยกัน เสียงซึ่งเราเชื่อว่าข้างนอกไม่เหมือนกับเสียงโหวตในสภา แต่กลับพบว่ามีโพลที่เรียกตัวเองว่าเป็นซูเปอร์โพล ออกมาช่วยยืนยันว่าจริงๆ คนที่คิดว่าเสียงข้างนอกกับเสียงข้างในไม่เหมือนกัน ความจริงไม่ใช่นะ ความจริงเขาไปทำสำรวจมาแล้ว แล้วก็ยืนยันว่าเสียงข้างนอกกับเสียงข้างในนี่เหมือนกัน พวกที่บอกว่าเสียงไม่เหมือนกัน ไปอยู่โลกไหนมา”

“ที่ผลออกมาทุกครั้งแล้วทุกคนตกใจ ทำไมพวกเราไม่เคยได้ร่วมการสำรวจบ้าง อันนี้เป็นเรื่องน่าสนใจนะ ผมคิดว่ามันควรจะมีการวิจัยว่าซูเปอร์โพลทำไมผลออกมาแบบเดียวกับผู้มีอำนาจ ผลการลงคะแนนในสภายังเข้าใจได้ แต่ผลจากซูเปอร์โพลเนี่ย คุณไม่ได้ไปนั่งมีตำแหน่งอะไรอยู่ในสภา ไม่ได้เป็นพรรคร่วม หรือว่าเป็นโพลร่วมรัฐบาลหรือเปล่าครับ หรือโพลนี้ได้รับการบริโภคกล้วยหรือเปล่า มันถึงออกมาแบบนั้น ออกมาเหมือนพวกพรรคเล็กทั้งหลาย เป็นไปได้ไหมว่าวัฒนธรรมการกินกล้วย กระจายกล้วย มันค่อนข้างกว้างขวางหรือเปล่า มันเลยทำให้พฤติกรรมมันออกมาในแนวทางเดียวกัน”

“ผมไม่คิดว่าเขาจะทำขึ้นมานะ แต่ว่าเขาไปถามใคร กลุ่มคนเหล่านี้มีหลักทางสถิติ ทางวิชาในเรื่องของอคติ เรื่องความรัก-ชอบไปในทางเดียวกันหมดหรือเปล่า สั่งได้ว่าจะออกมากี่เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ ความน่าเชื่อถือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่ามันตลก” บก.ลายจุดกล่าว

แม้จะเป็นอีกหนึ่งครั้งที่รัฐบาลชุดนี้รอดพ้นจากการถูกซักฟอกไปได้ แถมยังมีผลโพลออกมาสนับสนุน สนองผู้มีอำนาจให้เกิดความสบายใจ ให้ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป

แต่พลังเสียงของประชาชนในโลกแห่งความเป็นจริง ที่โหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเสียงที่สะท้อนชัดว่าประชาชนไม่มีความไว้วางใจให้รัฐบาลชุดนี้อย่างชัดเจน