เมนูข้อมูล : สัญญาณ “เลือกตั้ง”

เหมือนจะได้ข้อสรุปแล้วว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ระบุเช่นนั้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะบอก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของผู้นำไทย

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือ นโยบายการบริหารในทุกด้านดูเหมือนจะอยู่ภายใต้การชี้ทางและควบคุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งคนในเครือข่ายอำนาจที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน

ทว่า “วันเลือกตั้ง” ยังเป็นวันที่รอคอย เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะเปิดโอกาสให้ส่งเสียงได้อย่างเป็นทางการ ในเวลาที่อย่างน้อยยังอ้างถึงประชาธิปไตย อันทำให้สามารถตั้งคำถามได้อย่างเต็มที่ หากมองเห็นการจัดการที่นอกกรอบหลักการประชาธิปไตย

แม้จะมีคำถามมากมายต่อการเมืองภายใต้กฎหมายใหม่ แต่ทุกคนดูจะยอมปิดปากไว้เพื่อรอหลังวันเลือกตั้ง

ผู้มีอำนาจเริ่มกระชับวันเลือกตั้งเข้ามา ขณะที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” เรียกหา พร้อมๆ กับที่ “นักการเมืองที่รอการแต่งตั้ง” ต่างเสพวาสนากันสุขสมไปแล้วไม่น้อย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่มีความจำเป็นที่คนกลุ่มนั้นจะใส่ใจอีกแล้ว

คงเหลือแต่ประชาชนคิดอย่างไร

ประชาชนที่อ้างกันว่าเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ขณะที่ในทางปฏิบัติถูกครอบด้วยความคิดว่าไม่พร้อมที่จะให้มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการกำหนดชะตากรรมประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ได้สำรวจในหัวข้อที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่งว่า “ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง”

ในคำถาม “รัฐบาลจะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้หรือไม่” คำตอบร้อยละ 55 เชื่อว่าทำได้ ร้อยละ 33.41 เชื่อว่าทำไม่ได้

เมื่อถามว่า “อยากลือกตั้งแล้วหรือยัง” ร้อยละ 68.19 ตอบว่าอยากแล้ว เพราะจะทำให้ประเทศชาติพัฒนา เศรษฐกิจจะดีขึ้น ร้อยละ 24.38 ยังไม่อยาก เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ

แต่เมื่อถามว่า “ยอมรับได้หรือไม่ ถ้าหากการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป” ร้อยละ 71.30 ยอมรับได้ มีร้อยละ 23.74 ยอมรับไม่ได้

และเมื่อถามถึง “ความกังวลใจว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหากไม่มีการเลือกตั้งภายในปลายปี 2561” ร้อยละ 45.00 ไม่กังวล ร้อยละ 21.34 กังวลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 19.34 กังวลค่อนข้างมาก ร้อยละ 11.51 กังวลมาก ร้อยละ 2.80 ไม่แน่ใจ

รวมความผลโพลน่าจะชี้ว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่าควรจะเลือกตั้งได้แล้ว เพื่อประเทศจะได้ดีขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลทำได้ถ้าจะทำ แต่หากไม่เลือกก็ไม่ว่า แม้รวมแล้วจะกังวลอยู่ไม่น้อยว่าความยุ่งยากจะเกิดขึ้น

คำตอบแบบนี้เหมือนจะบอกกับผู้มีอำนาจว่า “เอาที่สบายใจ” ทว่า ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนไม่น้อยว่าอยู่ในความเชื่อ “รัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นความหวังต่อการพัฒนาประเทศมากกว่า”

ความรู้สึกที่เกิดจากความเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีแต่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

หากไหวตัวไม่ทัน ยังอยู่กับความเคยชินเดิมๆ ย่อมเป็นภาวะที่น่าห่วงไม่น้อย