‘ดร.นันทนา’ ตัดเกรดศึกซักฟอก ‘ฝ่ายค้าน’ A ‘รัฐบาล’ B-/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ดร.นันทนา’ ตัดเกรดศึกซักฟอก

‘ฝ่ายค้าน’ A

‘รัฐบาล’ B-

 

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

แม้ผลลัพธ์ในเชิงการโหวตจะไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือความคาดหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายฯ ต่างได้รับการไว้วางใจกันถ้วนหน้า (แม้บางคนจะเอาตัวรอดได้อย่างสะบักสะบอม)

แต่ดูเหมือนสาระสำคัญของการอภิปรายฯ นั้นน่าจะอยู่ที่เนื้อหาการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน และการตอบโต้ข้อกล่าวหาทั้งหลายของสมาชิก ครม. ทั้ง 11 รายมากกว่า

ดังนั้น ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี จึงชักชวน “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส(ชมคลิป) คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มาให้คะแนนฝ่ายค้านและรัฐบาล ในการทำหน้าที่ส่วนดังกล่าว

“โดยภาพรวม ฝ่ายค้านทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างดี มีการกำหนดประเด็น แล้วก็เลือกประเด็นที่แหลมคม มีการแบ่งประเด็นกัน จะเห็นได้ว่าครั้งนี้การอภิปรายจะไม่ซ้อนกันเลย ต่างคนต่างเตรียมไป

“คือหลังจากที่เขาตกลงกันว่าคนนี้จะเอาประเด็นนั้นประเด็นนี้ แล้วก็แยกย้ายกันไปหาข้อมูล เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เอามาอภิปราย และเตรียมหลักฐานไปทำการบ้านกันมาอย่างดี”

อาจารย์นันทนาชื่นชมการทำงานในภาพรวมของฝ่ายค้าน ก่อนลงละเอียดไปถึง ส.ส.บางคน ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้น่าประทับใจมากเป็นพิเศษ

คนแรกที่คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมืองกล่าวถึง คือ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายเรื่องการใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” โดยหน่วยงานรัฐ เพื่อล้วงข้อมูลของนักกิจกรรม-นักวิชาการ-นักการเมืองที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาล

ตามความเห็นของนักวิชาการผู้นี้ ส.ส.พิจารณ์ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี มีข้อมูลครบถ้วน เป็นประโยชน์กับประชาชน จนทำเอาฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ไม่ได้

ขณะที่ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก ก้าวไกล ก็ฉายภาพความสัมพันธ์ของผู้นำ (เผด็จการ) ไทย-เมียนมา ได้ชัดเจน เช่นเดียวกับการแฉ “ตั๋วช้างภาคใหม่” ของ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ที่มีเนื้อหาเข้มข้น-หลักฐานรัดกุม ตามมาตรฐานของเจ้าตัว

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกริกระบุต่อว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ มี ส.ส.หญิงหลายราย ที่ทำผลงานโดดเด่นน่าชื่นชม

เช่น “จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ที่ทำการบ้านเรื่องเหมืองทองอัคราได้ดีมาก “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ก็เกาะติดปัญหาของกองทัพชนิดไม่ยอมปล่อย

ส่วน “มนพร เจริญศรี” ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ก็บรรยายถึงปัญหายาเสพติดได้เห็นภาพ และ “เบญจา แสงจันทร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ที่รณรงค์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

 

ในมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง-อดีตนักโต้วาทีฝีปากกล้า สองฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลนั้นมีลีลา-วิธีอภิปรายที่แตกต่างกันอยู่

โดยในฝั่งเพื่อไทย ส.ส.ส่วนใหญ่จะอภิปรายโดยระบุถึงปัญหาที่ประชาชนตระหนักหรือมองเห็นชัดอยู่แล้ว และเสนอว่าจะแก้ปัญหาข้างต้น เพื่อทำให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมกว่าได้อย่างไร

ส่วนก้าวไกลจะเน้นเปิดและกล้านำเสนอประเด็นใหม่ๆ เช่น กรณีสปายแวร์ ซึ่งคล้ายๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนทั่วไป หรือไม่ใช่ปัญหาปากท้อง แต่หากมองให้ลึกขึ้น นี่ก็คือปัญหาการคุกคามพลเมืองของหน่วยงานรัฐ ซึ่งประชาชนทุกคนไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นกับตนเอง

หรือหากมองเผินๆ การแฉกรณีทุจริตในหน่วยราชการบางแห่งของ ส.ส.ก้าวไกล ก็ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านจำนวนมากโดยตรง แต่จริงๆ แล้ว การทุจริตในภาครัฐนั้นหมายถึงการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า อันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในที่สุด

“วิธีการเลือกประเด็น (ของเพื่อไทยกับก้าวไกล) ก็จะมีความแตกต่างกัน แล้ววิธีการในการล้วงประเด็น-ข้อมูล จะเห็นว่าก้าวไกลมีเอกสารลับออกมาค่อนข้างเยอะ … ส่วนของเพื่อไทย ข้อมูลบางส่วนโคว้ตมาจากสื่อมวลชน ยังเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านรับรู้ ยกเว้น ส.ส.จิราพร เรื่องเหมืองอัครา ที่ไปดึงข้อมูลที่ลึกสุดใจออกมา”

กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างของสองพรรคการเมือง กลับนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ดังที่ ดร.นันทนาสรุปว่า

“แต่ทั้งสองอันมันก็จะครอบคลุมกลุ่มประชาชนทั้งประเทศ ที่ทำให้การอภิปรายครั้งนี้ได้มวลชนทั้งสองกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในวัยกลางคน และกลุ่มคนรุ่นใหม่”

 

เมื่อชวนคุยถึงคุณภาพการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาล อาจารย์นันทนาเริ่มต้นด้วยการประเมินผลงานของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

ข้อเด่นประการหนึ่งของผู้นำประเทศในการอภิปรายฯ เที่ยวนี้ก็คือ การควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และไม่หลุดอาการเหวี่ยงวีนออกมาอย่างถี่ยิบดังเช่นครั้งก่อนๆ

ส่วนข้อเสียที่แก้ไม่หาย คือ นายกฯ มักตอบคำถามแบบไม่ได้ตอบ ชอบปัดคำอภิปรายของฝ่ายค้านว่าไม่ใช่เรื่องจริง หรือพอหมดมุข ก็หันไปพาดพิงคนแดนไกลหรืออดีตนายกรัฐมนตรี

หนักเข้า เมื่อเจออภิปรายเรื่องใหญ่ๆ อย่าง “สปายแวร์เพกาซัส” ลุงตู่ก็ตอบห้วนๆ ว่า ไม่รู้จักเสียอย่างนั้น

 

สําหรับกรณีที่รัฐมนตรีบางคนเลือกไม่ตอบโต้คำอภิปรายของฝ่ายค้านทันที แต่ขอหลบไปตั้งหลัก-ค้นข้อมูลก่อนหนึ่งคืน แล้วค่อยกลับมาตั้งสติชี้แจงในวันรุ่งขึ้นนั้น คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมืองวิจารณ์ยุทธวิธีนี้ไว้อย่างเผ็ดร้อนว่า

“เอาอย่างนี้นะคะ เวลาเราสอบ เราทำข้อสอบอยู่ในห้อง ขอเอาข้อสอบกลับบ้านก่อน แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้มาตอบใหม่ เป็นไปได้ไหม? มันไม่ได้ ถ้าอาจารย์คุมสอบอยู่ ก็บอกว่าเธอทำไม่ได้นะ เธอตกเดี๋ยวนี้เลย เธอจะเอาข้อสอบกลับไปบ้าน แล้วบอกเดี๋ยวพรุ่งนี้สมองแจ่มใส แล้วมาตอบใหม่ ไม่ได้ อันนี้มันไม่ได้อยู่แล้ว

“คุณต้องตอบเดี๋ยวนั้น นี่คือเหตุผลที่เขาอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณ เขามีหลักฐานมีข้อมูลมา แต่เขาไม่บอกคุณล่วงหน้า เพื่ออะไร? ถ้าคุณบริหารอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส คุณต้องตอบคำถามได้ทันที ไม่ใช่บอก เรื่องนี้ตะลึงตึงตึง ขอกลับไปถามลูกเมียที่บ้าน หรือทีมงานไปเตรียมข้อมูลมาก่อน”

อาจารย์นันทนายังวิพากษ์รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะตอบคำถามได้คลุมเครือไม่ชัดเจนแล้ว ก็เล่นแง่ด้วยกลยุทธ์ “กดผู้อภิปรายให้ต่ำลง”

“ตรงนี้ในแง่หนึ่งของการที่เราจะทำให้ตัวเองสูงกว่าคนอื่นขึ้นมา มันมีสองวิธี วิธีหนึ่งคือทำให้ตัวเองสูงด้วยตัวเอง กับอีกวิธีหนึ่งก็คือดึงคนอื่นให้ต่ำ แล้วตัวเองจะได้สูงกว่าเขา

“ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการตอบข้อกล่าวหาที่ไปพูดถึงคนอื่น แล้วก็ไปกล่าวหาคนอื่นต่อ มันคือวิธีการไปกดคนอื่นให้เตี้ยลง เพื่อเราจะได้สูงขึ้น อันนี้เราจะเห็นอยู่ รัฐมนตรีหลายคนพยายามทำแบบนั้น”

 

ท้ายสุด เมื่อขอให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกริกช่วยตัดเกรดการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและรัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งปิดม่านลง

ดร.นันทนาให้เกรด “เอ” กับฝ่ายค้าน ด้วยคุณภาพการอภิปรายที่เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุการทำงานในสภา ซึ่งจวนจะครบวาระสี่ปีเต็ม ขณะที่สมาชิก ครม.ทั้ง 11 คนนั้นได้เกรดเฉลี่ยแค่ “บีลบ”

ก่อนสรุปว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนที่รับชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่หน้าจอต่างหาก ซึ่งจะมีสถานภาพประหนึ่ง “คณะลูกขุนในศาล” หากพวกเขาเชื่อข้อมูลของฝ่ายค้าน นั่นก็แปลว่ารัฐบาลได้ประสบภาวะล้มละลายในแง่ความน่าเชื่อถือไปเรียบร้อย

โดยไม่ต้องสนใจผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร

ชมคลิป